ข่าว

'ปู'ถึงไทย-ถูกใจระบบรปภ.นิวยอร์ก

'ปู'ถึงไทย-ถูกใจระบบรปภ.นิวยอร์ก

29 ก.ย. 2555

'ยิ่งลักษณ์' ถึงไทยแล้ว! เผยถูกใจระบบรักษาความปลอดภัยนครนิวยอร์ก เล็งนำมาใช้กับประเทศไทย พร้อมแนะ 'ผบ.ตร.' ปรับใช้เมืองกรุงฯ

                             29 ก.ย.55 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมแถลงข่าวที่ห้องรับรองพิเศษ (VIP Room ) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

                             โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงถึงการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 67 ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 67 ซึ่งทางรัฐบาลได้มีถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยเน้นเรื่องการรักษาสันติภาพ ความมั่นคง ในการที่จะไม่ใช้กำลังรุนแรงในการแก้ปัญหา ความขัดแย้ง และร่วมมือกับยูเอ็นในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีเพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้น นอกจากนี้ด้านความมั่นคงต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ประเทศไทยพร้อมในการร่วมมือกับนานาชาติ ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้วย ซึ่งต้องการให้เห็นการแก้ปัญไขปัญหานี้ร่วมกันในเวทีโลกด้วย

                             น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ และการเมือง ต้องเป็นการพัฒนาที่ควบคู่กัน และการควบคู่กันนั้นต้องครอบคลุมทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค รวมไปถึงระดับโลกด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยของสหภาพเมียร์มาร์ และอยากเห็นพัฒนาการด้านประชาธิปไตยเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนด้วย

                             นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังตนได้รับเชิญจากนายบัน คีมูน เลขาธิการใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้กล่าวสุนทรพจน์ เกี่ยวกับการทำอย่างไรให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี กับเด็กและสตรี ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อม และเน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรี ผ่านนโยบายต่างๆของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป้าหมายของเลขาธิการสหประชาชนตินั้น ต้องการเห็นการลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กและสตรีจำนวน 16 ล้านคนภายในปี 2558 ซึ่งฝ่ายไทยก็พร้อมจะทำงานตรงนี้ และนานาชาติก็ได้ชื่นชมนโยบายหลักประกันสุขภาพของไทยที่ให้ประชาชนเข้าถึงสุขภาพทั่วประเทศ รวมทั้งรัฐบาลสนับสนุนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่เข้ามาดูแลสตรีและสนับสนุนการศึกษาของเด็กและเยาวชน ให้ได้รับการศึกษาอย่างเต็มประสิทธิภาพและให้โอกาสด้วยความเท่าเทียมกันด้วย

                             นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการหารือทวิภาคี ได้พบปะกับประธานาธิบดีเมียนมาร์ ซึ่งเกิดความต่อเนื่องหลังจากที่พล.อ.เต็งเส่ง มาเยือนประเทศไทย โดยเร่งรัดทำงานพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย โดยหลักการเห็นด้วยกับการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ของทั้งสองประเทศซึ่งจะผลักดันอย่างเต็มที่ โดยฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งแรกที่ประเทศไทยต่อไป

                             นอกจากนี้การหารือทวิภาคีของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีการส่งเสริมความร่วมมือของประเทศอาหรับ การส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาคเอกชนไทย รวมทั้งการหารือคณะกรรมการธิการยุโรป ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เร่งที่จะเปิดเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอกับอียู ซึ่งประเทศไทยก็ได้พูดคุยว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรของประเทศไทย สามารถอยู่และควบคู่การแข่งขันได้ ซึ่งฝ่ายไทยยืนยันให้ความร่วมมือกับยูเอ็น ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

                             นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการพบปะนักลงทุนไทยทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งรัฐบาลได้ใช้เวทีนี้ในการอธิบายสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับนักลงทุนเดิม ที่จะขยายฐานการลงทุนต่อและเปิดฐานนักลงทุนหน้าใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้มีการศึกษารูปแบบการวางผังเมือง การจราจร กับนายไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Rubens Bloomberg) นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก เพื่อนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวกทม.ด้วย

                             ผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาต่างๆนั้นมีสิ่งใดสามารถนำมาปรับใช้กับนโยบายของรัฐบาลได้บ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจอย่างเช่น การเยี่ยมชม New York Police Department (NYPD) ที่ดูในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือการใช้ระบบดูแลรักษาความปลอดภัยในลักษณะของการเขียนโปรแกรมในการเชื่อมต่อ ซึ่งไม่ได้อยู่ที่วัสดุอุปกรณ์ที่ซื้อมาติดตั้ง แต่เรื่องของการเชื่อมต่อการใช้งานและการเชื่อมไปยังพื้นที่ต่างๆค่อนข้างดี ตนคิดว่าจะนำไปหารือกับทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อไปว่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในส่วนของเราอย่างไร ทั้งนี้ทุกส่วนที่ไปดูงานนั้นสามารถนำข้อคิดต่างๆมาปรับปรุงเพิ่มเติมได้หมด

                             เมื่อถามว่านโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกนั้นได้รับการตอบรับจากต่างชาติอย่างไร โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มอบให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ตอบคำถาม โดยนายบุญทรง กล่าวว่า ในวันเปิดตัวนั้นมีทั้งสื่อมวลชน และประชาชนในนครนิวยอร์กให้ความสนใจค่อนข้างมาก ซึ่งร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการนั้นมีทั้งหมด 50 แห่งแต่ละแห่งก็จะมีเมนูพิเศษที่จะนำเสนอให้กับประชาชนที่มารับประทานอาหาร โดยอาหารไทยนั้นเป็นที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากอยู่แล้วในนครนิวยอร์ก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดกว่า 500 แห่ง โดยทางกระทรวงพาณิชย์ก็ได้มอบสัญลักษณ์ “Thai Select” ให้กับร้านที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งถือว่าได้รับความสำเร็จค่อนข้างสูง เพราะคนนิวยอร์กชอบอาหารไทยอยู่แล้ว