ข่าว

คมชัดลึกจัดถก'3G...3ค่าย'

คมชัดลึกจัดถก'3G...3ค่าย'

03 ต.ค. 2555

รายการ คม-ชัด-ลึก จัดเสวนา ตอน : 3 G...3 ค่าย

              เริ่มเดินเครื่องอีกครั้ง เพื่อสานฝันคนไทยให้ก้าวสู่ความทันสมัยเต็มรูปแบบ เมื่อ กสทช.เปิดประมูลเทคโนโลยี 3จี เต็มรูปแบบครั้งแรกของประเทศ ซึ่งการประมูลครั้งนี้ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ ทั้งเอไอเอส  ดีแทค และทรู ต่างยื่นประมูลอย่างพร้อมเพรียง รายการ คม-ชัด-ลึก จัดเสวนา ตอน : 3 G...3 ค่าย โดยมีผู้เข้าร่วมรายการ ได้แก่ พ.อ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธานกสทช. น.ส.จิตรนรา นวรัตน์ อัยการพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และรศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช.
 
              พ.อ.ดร.เศรษฐพงศ์ กล่าวว่า การประชุมคลื่น 3จี ครั้งนี้มีความมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาการล้มการประมูล โดยขั้นตอนทั้งหมดอยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัทที่ยื่นซองประมูลทั้ง 3 บริษัท ที่ผ่านมาบางฝ่ายมองว่า ล็อกสเปกกันเอาไว้แล้ว แต่ขอยืนยันว่าไม่จริง เพราะต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องใช้เงินลงทุนจำนวนสูงมาก ซึ่งบางบริษัทไม่สามารถหาธนาคารร่วมช่วยสนับสนุนได้ อีกทั้ง กสทช.ต้องมีความระมัดระวังในการคัดเลือกบริษัทที่ต้องตรวจสอบให้ดีว่า แต่ละบริษัทที่ผ่านการพิจารณามีขีดความสามารถด้วย
 
              นายจิตรนรา กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเชื่อว่า การประมูลครั้งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เพราะการร้องเรียนเพื่อล้มการประมูลจะเกิดขึ้นได้จากกลุ่มคนใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้เข้าร่วมการประมูล แต่เท่าที่ทราบพบว่า ผู้ประมูล 3 ราย มีความต้องการให้เกิดการประมูล ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่อยู่ข้างนอก อาจจะเป็นผู้บริโภคที่คิดว่ามีส่วนได้เสียกับการใช้บริการที่อาจจะไปยื่นฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งหากเรื่องนี้จะเกิดขึ้นจริงคงไม่สามารถห้ามคนที่ร้องเรียนได้ แต่คนในกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง ถึงแม้ว่าจะยื่นฟ้องต่อศาล แต่ไม่สามารถให้ศาลทุเลาการดำเนินการเหมือนครั้งที่ผ่านมาได้ ดังนั้นเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
 
              ขณะที่ รศ.ประเสริฐ กล่าวว่า การกำหนดราคาในการยื่นซองประมูลเริ่มต้น 4,500 ล้าน ขอยืนยันว่า คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาในทุกมิติอย่างรอบด้าน ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องรายได้ที่จะเข้ามายังประเทศเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงบริษัทที่จะเข้ามาทำงานด้วยว่า บริษัทเหล่านั้นจะต้องอยู่ได้ด้วย และที่สำคัญผู้บริโภคจะต้องได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และราคาค่าบริการที่มีความเป็นธรรม