
เตือน!ใช้'ทิ้นท์'ราคาถูกเสี่ยงปากบวม
อย.เตือนภัย! วัยรุ่นใช้ 'ทิ้นท์' ราคาถูก-ไม่ได้มาตรฐาน ทาริมฝีปากเสี่ยงแพ้ ปากบวม
29 ต.ค.55 นพ.สุรินทร์ ประสิทธิ์หิรัญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี (สสจ.) เปิดเผยว่าได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าให้ติดตามและ เฝ้าระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในกลุ่มวัยรุ่น โดยพบว่าเครื่องสำอางทาริมฝีปากที่มีลักษณะเป็นน้ำใสสีแดง หรือที่เรียกว่า "ทิ้นท์" ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นหญิง เนื่องจากเมื่อนำมาทาด้านในของริมฝีปาก จะทำให้ริมฝีปากเป็นสีชมพูระเรื่อแลดูมีสุขภาพดี ซึ่งวัยรุ่นส่วนใหญ่มักหาซื้อผลิตภัณฑ์ทิ้นท์ตามแผงลอยหรือตลาดนัด เพราะมีราคาไม่แพง อีกทั้งยังมีสีให้เลือกมากมายหลายระดับความเข้มของสี
นพ.สุรินทร์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีความเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ตามแผงลอย หรือตลาดนัดทั่วไป จึงอาจเป็นไปได้ที่อาจมีการลักลอบนำผลิตผลิตภัณฑ์ทิ้นท์ที่ไม่ได้มาตรฐานมาขาย โดยอาจทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตรายจากการกลืนหรือกินโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในสี อาทิ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม หากได้รับโลหะหนักเหล่านี้ จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง ตั้งแต่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ตาพร่ามัว หรือทำให้ริมฝีปากปวดแสบปวดร้อน คัน เห่อแดง บวม ลอกเป็นขุย ซึ่งสีที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทิ้นท์จะต้องเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้ได้ในเครื่องสำอาง
นพ.สุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จะต้องมาจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เสียก่อน อย่างไรก็ตามขอให้ผู้บริโภคสังเกตและอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยฉลากจะต้องแสดงชื่อการค้าชื่อเครื่องสำอางประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง วิธีใช้เครื่องสำอาง ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางนำเข้า ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต เดือน ปี หรือ ปี เดือน ที่ผลิต หรือปีเดือนที่หมดอายุ ในกรณีที่เครื่องสำอางมีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน คำเตือน (ถ้ามี) และที่สำคัญต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลากหรือกล่องผลิตภัณฑ์
"ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ทิ้นท์ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา www.fda.moph.go.th เลือกเครื่องสำอาง เลือกค้นหาข้อมูลเครื่องสำอาง ซึ่งช่องทางนี้ สามารถสืบค้นข้อมูลเครื่องสำอางได้จากชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า ชื่อเครื่องสำอาง เลขที่ใบรับแจ้ง และประเภทเครื่องสำอาง ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องสำอาง ขอให้ร้องเรียนที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ อีเมล์ : [email protected] หรือส่งจดหมายไปที่ตู้ ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 เพื่อ อย.จะได้ตรวจสอบดำเนินการต่อไป" นพ.สุรินทร์ กล่าว
----------------------------------
(ขอบคุณภาพประกอบจาก : women.thaiza.com)