วิดีโอเกมในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ
เวิลด์วาไรตี้ : วิดีโอเกมในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ
อย่าคิดว่าหลงทาง หากคุณเดินไปพบมุมเล่นเกมวิดีโอยอดฮิต ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ!
เพราะตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 เป็นต้นไป พิพิธภัณฑ์ศิลปะยุคใหม่ กรุงนิวยอร์ก จะจัดสรรมุมหนึ่งของอาคารแสดงผลงานศิลปะ ให้เป็นพื้นที่สำหรับแสดงผลงานสะสมแห่งยุคเทคโนโลยี โดยคัดเลือกวิดีโอเกมที่ยังอยู่ในใจคนทุกวัยเข้ามาให้บรรดาผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้นั่งเล่นกันให้เพลินใจ
ที่มาของแผนงานใหม่นี้ ก็คือ ผู้บริหารของพิพิธภัณฑ์เกิดความคิดขึ้นมาว่า วิดีโอเกม เป็นงานศิลปะรูปแบบหนึ่ง เพราะศิลปะแห่งการสร้างสรรค์วิดีโอเกมก็คือ ศิลปะแห่งการออกแบบ ที่นำพามนุษยชาติเดินทางไปสู่เขตแดนใหม่ๆ ในจักรวาลนี้ ที่สำคัญยังเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของงานออกแบบที่สร้างให้เกิดการโต้ตอบระหว่างคนกับสิ่งของต่างๆ เพราะสิ่งที่ผู้เข้าชมจะได้รับจากคอลเลกชั่นงานศิลปะสายพันธุ์ใหม่นี้ ไม่ใช่เฉพาะประสบการณ์ความเพลิดเพลินจากเกมเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการ "สื่อถึง" พฤติกรรมผู้เล่นเกมอีกด้วย
เบื้องต้นได้นำร่องซื้อผลงาน 14 วิดีโอเกมไว้แล้ว และมีแผนซื้อเพิ่มให้ครบ 40 เกมในเร็วๆ นี้ รองรับความคาดหมายว่า มุมแสดงผลงานทางศิลปะสมัยใหม่ในส่วนนี้จะขยายใหญ่ขึ้นในอนาคต
เกมกลุ่มแรกที่ซื้อมา ล้วนแต่เป็นเกมยอดฮิตในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์วิดีโอเกม รวมทั้งบางเกมยังได้รับความชื่นชอบจากผู้เล่นกลุ่มใหม่ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น เกมสุดคลาสสิกอย่าง แพค-แมน ที่ถือกำเนิดเมื่อปี 2523, เกมซิมซิตี้ 2000 ในปี 2537 และเดอะ ซิมส์ ที่ออกสู่ตลาดในปี 2543
หัวใจสำคัญสำหรับการคัดสรรเกมเข้ามาสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะยุคใหม่ กรุงนิวยอร์ก ก็คือ ต้องมีความโดดเด่นจากการผสมผสานประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำหน้า ตลอดจนการสื่อพฤติกรรมของมนุษย์ ที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จในการบรรลุถึงเป้าหมายการสร้างสรรค์แต่ละเกมอีกด้วย โดยเกมใหม่ๆ ที่จะซื้อเข้ามาเพิ่มเติมก็อย่างเช่น สเปซวอร์! เกมซูเปอร์ มาริโอ้ และเกมสตรีทไฟเตอร์ เป็นต้น
------------------------------
(เวิลด์วาไรตี้ : วิดีโอเกมในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ)