ข่าว

เสี่ยงโชคหางานมาเลเซีย'ได้ไม่คุ้มเสีย'

เสี่ยงโชคหางานมาเลเซีย'ได้ไม่คุ้มเสีย'

10 ธ.ค. 2555

ที่นี่บัวแก้ว : เสี่ยงโชคหางานมาเลเซีย ได้ไม่คุ้มเสีย

                            เหตุการณ์อุทาหรณ์สอนใจ สำหรับคนไทยที่เดินทางเข้าไปเสี่ยงโชคหางานทำในประเทศมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด หากถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายมาเลเซีย จะถูกส่งตัวกลับประเทศ เป็นคำบอกเล่าจาก นายสมพงษ์ กางทอง อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ยืนยันว่า เรื่องนี้ได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุด กรณี 3 หญิงไทย ลักลอบทำงานในมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย และยังถูกนายจ้างชาวมาเลเซียกดขี่ยึดพาสปอร์ตไว้ ไร้อิสรภาพ จนต้องร้องขอต่อสถานทูต ให้ช่วยพากลับบ้าน

                            นายสมพงษ์ เล่าว่า จากที่ได้พูดคุยกับหญิงไทยทั้ง 3 คน ทราบว่า ได้รับการติดต่อให้ไปทำงานนวดที่ร้าน Thai Traditional Massage เมือง Segamat อยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ประมาณ 250 กิโลเมตร โดยในการขั้นตอนการยื่นขอเอกสารเดินทางไปทำงาน ทางนายจ้างเป็นผู้จัดหาวีซ่าเข้ามาเลเซียให้ทั้งหมด โดยพวกเขาต้องจ่ายเงินคนละ 5,000 บาท และรอรับหนังสือเดินทางพร้อมวีซ่าอยู่ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา

                            เวลาผ่านไป 3 วัน นายหน้าได้นำหนังสือเดินทางส่งคืนกลับมาให้พร้อมกับประทับตราวีซ่าเข้ามาเลเซีย แล้วทั้ง 3 คนจึงได้เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2555 และทำงานที่ร้านดังกล่าวโดยได้เงินเดือนประมาณ 12,000 บาท แต่แล้วทำงานไปได้เพียง 4 วัน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียตรวจค้นและจับกุม ในข้อหาไม่มีใบอนุญาตทำงาน ทำให้ทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 14 วัน ถูกปรับคนละ 7,000 บาท งานนี้ นายจ้างก็โดนจับกุมและปรับด้วย เป็นเงิน 6 แสนบาท นับว่าเป็นเงินค่าปรับที่สูงมาก เพื่อให้เกิดความหลาบจำทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

                            หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจก็ปล่อยตัวออกมา หญิงไทยทั้ง 3 คนได้ขอร้องนายจ้างเพื่อขอกลับเมืองไทย แต่ด้วยนายจ้างถูกปรับเงินหลายแสน จึงไม่ยอมให้ทั้ง 3 คนกลับบ้าน ยึดหนังสือเดินทางไว้และบังคับให้ทำงานชดใช้คืนคนละ 5 หมื่นบาท ท่ามกลางสภาวะที่กดดัน ทั้งสามจึงพากันหนีมาขอความช่วยเหลือจากสถานทูตขอให้ส่งตัวกลับบ้าน

                            แต่เมื่อพิจารณาดูสำเนาพาสปอร์ตของหญิงไทย 1 ใน 3 ราย ที่พกติดตัวไว้พบว่า วีซ่าที่ถืออยู่นั้นเป็นของปลอม หากจะส่งตัวกลับด้วยขั้นตอนตามปกติ ทั้ง 3 คน ก็จะไม่สามารถรอดสายตาเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียไปได้ ยิ่งจะทำให้ต้องโทษหนักกว่าเดิม ในข้อหาปลอมแปลงวีซ่า ซึ่งจะต้องถูกปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และจำคุก ไม่เกิน 1 ปี เป็นโทษหนักกว่าข้อหาไม่มีใบอนุญาตทำงานเสียอีก ทางสถานทูตจึงต้องใช้ช่องทางพิเศษ เพื่อส่ง 3 หญิงไทยกลับประเทศได้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะโชคดีอย่างนี้เสียหมดไป

                            จากสถิติที่สถานทูตและสำนักงานแรงงานไทยในมาเลเซียรวบรวมไว้ พบว่า ในช่วงปี 2554-2555 มีแรงงานหญิงไทยที่ทำงานในมาเลเซียถูกจับกุมทุกคดีมีสูงถึง 820 คน หรือเฉลี่ยวันละ 2-4 คน ซึ่งอาชีพพนักงานนวดแผนไทยในมาเลเซียก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่ร้องทุกข์เข้ามามาก โดยเป็นคนไทยที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานภาคบริการอย่างถูกกฎหมาย 25 คน นอกนั้นเป็นแรงงานผิดกฎหมายที่ใช้ประโยชน์จากการยกเว้นวีซ่า 30 วัน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำเป็นขบวนการ โดยนายจ้างจะให้สายนายหน้าเถื่อนแนะนำแรงงานจากประเทศไทย แจ้งไปตามโรงเรียนสอนนวดแผนไทย เสนอจะให้เงินเดือนและรายได้ในอัตราสูง แต่พอเอาเข้าจริงจะมีการหักค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ทั้งค่าเดินทาง ค่าทำใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น แล้วค่อยหักรายเดือนในอัตราที่สูงมาก ทั้งยังมีการยึดหนังสือเดินทางของคนงานและไม่อนุญาตให้คนงานออกไปนอกสถานที่เพราะกลัวคนงานจะหลบหนีไป

                            ในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีหมอนวดไทยในมาเลเซีย ถูกจับกุมและดำเนินคดีข้อหาใช้วีซ่าปลอมกันมาก เฉพาะในเดือนกันยายน นอกจากนี้ ยังมีนักดนตรีและนักร้องแอบเข้ามาทำงานในมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย ถูกจับกุมถึง 5 คน และปรับเป็นเงินคนละ 1.6 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ทางสถานทูตเชื่อว่า ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย และถูกนายจ้างกดขี่ข่มเหง ไม่สามารถออกมาขอความช่วยเหลือได้ เนื่องจากในแต่ละวัน ทางสถานทูตได้รับแจ้งขอให้ติดตามหาคนไทยที่ทำงานในมาเลเซียที่ขาดการติดต่อหลายสิบคน

                            ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย แจ้งว่า ขณะนี้ทางมาเลเซียมีนโยบายกวาดล้างแรงงานต่างด้าว ขณะเดียวกันมาเลเซียยังมีมาตรการอย่างเข้มงวด ในการพิจารณาออกวีซ่าเพื่อขอเข้าไปทำงานหรือจุดประสงค์อื่นที่ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งในหลายเดือนที่ผ่านมา มีคนไทยที่ได้รับวีซ่าอนุญาตให้ทำงานในมาเลเซียเพียงไม่กี่ราย โดยการจะได้วีซ่าประเภทนี้จะพิจารณาหลายขั้นตอน เนื่องจากจะต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการหรือสถาบันการศึกษาของมาเลเซียที่เชื่อถือได้เท่านั้น การที่มีนายหน้าชวนเชื่อว่า สามารถขอวีซ่าประเภทนี้ให้ได้อย่างง่ายดาย จึงเป็นเรื่องที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการปลอมแปลงวีซ่าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

                            การปลอมแปลงวีซ่าหรือเอกสารเดินทางเข้าประเทศถือเป็นอาชญากรรมชนิดหนึ่ง เป็นความผิดค่อนข้างร้ายแรงและทุกประเทศจะมีกฎหมายที่เข้มงวดในการควบคุมและลงโทษ ทั้งผู้ที่ปลอมแปลงเอกสารและผู้ที่ใช้เอกสารปลอม ดังนั้น ผู้ที่ให้นายหน้าไปดำเนินเรื่องเพื่อขอเอกสารขอวีซ่าให้ ทางกองคุ้มครองผลประโยชน์คนไทยในต่างแดน จึงขอเตือนให้ระวังการปลอมวีซ่า หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีอาญาทันที

 

 

---------------------

(ที่นี่บัวแก้ว : เสี่ยงโชคหางานมาเลเซีย ได้ไม่คุ้มเสีย)