
หลากมุมมองเรื่อง'ฮิญาบ'
หลากมุมมองเรื่อง'ฮิญาบ' : วิถีมุสลิมโลก โดยศราวุฒิ อารีย์ [email protected]
หากใครที่ได้มีโอกาสเดินทางไปโลกมุสลิมบ่อยๆ หรือคุ้นเคยกับสังคมมุสลิมในบ้านเรา โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะพบว่าวัฒนธรรมการใส่ผ้าคลุมศีรษะของสตรีมีปรากฏเพิ่มมากขึ้นในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกระแสการฟื้นฟูอิสลาม (Islamic Revivalism) ที่เข้มข้นขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 แล้วค่อยๆ แพร่กระจายขยายออกไปถ้วนทั่วโลกมุสลิม รวมถึงมุสลิมในประเทศไทย
กรณีการคลุมศีรษะหรือฮิญาบของสตรีมุสลิมเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมาก คนหัวสมัยใหม่อาจมองวัฒนธรรมการคลุมศีรษะของสตรีมุสลิมเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ทางเพศ การปิดกั้นอิสรภาพของสตรี หรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คนมุสลิมเองกลับมีมุมมองที่ต่างออกไป มุสลิมบางคนมองการคลุมศีรษะเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการทำตามหลักการศาสนา โดยมิได้มีอะไรที่จะไปเกี่ยวข้องกับการเมือง
ขณะเดียวกันการคลุมศีรษะอาจมองได้อีกมุมหนึ่งว่าเป็นการให้ "เสรีภาพ" แก่ผู้หญิง เพราะผู้หญิงสามารถเลือกที่จะสวมใส่มันได้ อย่างไรก็ตาม สภาวะกดดันทางสังคมโดยเฉพาะจากครอบครัวหรือเพื่อนๆ ก็มีส่วนทำให้สตรีมุสลิมสวมใส่ฮิญาบกันมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง บางครอบครัวก็อาจรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจเมื่อเห็นลูกหลานหรือญาติสนิทมิตรสหายของตนเองสวมใส่ฮิญาบ
บางคนเชื่อว่าการสวมใส่ฮิญาบแบบสมัครใจ (ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุผลส่วนตัวหรือสังคม) เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกหวงแหนอัตลักษณ์มุสลิม บางคนไปไกลถึงขนาดเชื่อมโยงความสำคัญของการคลุมฮิญาบกับการเมืองหรือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง
แต่สตรีมุสลิมจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่า การอำพรางอวัยวะส่วนที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกทางเพศ (เส้นผมและอื่นๆ) จะทำให้พวกเธอรู้สึกเป็นอิสระมากกว่าในการเดินทางเคลื่อนย้ายใช้ชีวิตประจำวันในที่สาธารณะ เพราะฮิญาบจะป้องกันพวกเธอจากสายตาที่ไม่พึงปรารถนาหรือสายตาที่แฝงเร้นไปด้วยตัณหาราคะของเพศตรงข้าม ในอีกมุมหนึ่ง สตรีมุสลิมก็อาจรู้สึกว่าหากฝ่ายชายเห็นสตรีคลุมฮิญาบก็จะเกิดความเกรงอกเกรงใจและให้ความเคารพมากกว่า ขณะที่สตรีมุสลิมอีกหลายคนในปัจจุบันก็ใส่ฮิญาบที่หรูหราทันสมัย ราคาแพง และแต่งแต้มสีสันตามความนิยมของแฟชั่นสมัยใหม่
การสวมใส่ฮิญาบต้องแยกประเด็นออกไปต่างหากจากการปิดหน้า ส่วนใหญ่วัฒนธรรมการปิดหน้ามักเห็นอย่างเป็นปกติในประเทศแถบเอเชียใต้ อ่าวเปอร์เซีย และพื้นที่บางส่วนของแอฟริกาเหนือ ผู้หญิงที่ปิดหน้ายังมีความแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปิดหน้าทั้งหมด หรือที่เรียกว่า "นิกอบ" หรือปิดหน้าเว้นไว้แต่ดวงตา หรือที่เรียกว่า "บุรก้า"
อัลกุรอานเองระบุไว้ให้สตรีมุสลิมคลุมศีรษะ แต่มิได้ระบุอันใดเกี่ยวกับการปิดหน้าหรือการแยกผู้หญิงไปอยู่ต่างหากภายในบ้าน นักวิชาการบางคนอธิบายว่า วัฒนธรรมการปิดหน้านี้พัฒนาขึ้นภายหลังและไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายในอาณาจักรอิสลาม จนกระทั่งเวลาผ่านไป 3-4 ชั่วอายุคนหลังการจากไปของศาสนทูตมุฮัมมัด
บ้างก็ว่าวัฒนธรรมการปิดหน้าและการแยกผู้หญิงในบ้านไม่ให้ยุ่มย่ามในส่วนที่เป็นพื้นที่ของผู้ชายในโลกมุสลิมนั้น มาจากวัฒนธรรมเปอร์เซียและไบเซนไทน์โบราณ เพราะพวกเขามีวัฒนธรรมการปฏิบัติต่อผู้หญิงเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว สถานะสตรีในสังคมมุสลิมมักถูกครอบงำโดยระบบปิตาธิปัตย์หรือระบบสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่มาตลอด ซึ่งเป็นระบบที่มีมาก่อนที่ศาสนาอิสลามจะมาถึงในศตวรรษที่ 7 ฉะนั้น ธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างที่เกี่ยวกับสถานะสตรีที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากประเพณีท้องถิ่นและธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมที่สืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนาน ซึ่งหลายๆ อย่างก็ไม่ได้เป็นหลักการที่ศาสนากำหนดไว้
เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมมุสลิมจึงต้องระมัดระวังและต้องแยกแยะให้ออกระหว่างประเพณีปฏิบัติที่มีมาแต่เดิมกับหลักการศาสนา บางประเพณีเป็นที่อนุมัติในทางศาสนา แต่บางประเพณีก็ไม่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม แต่ถ้าเราเหมารวมทั้งสองอย่างเป็นอันเดียวกันทั้งหมด ความเข้าใจในสังคมมุสลิมของเราก็จะคลาดเคลื่อน