ข่าว

พระกริ่งน้ำท่วมวัดสุทัศน์สร้างกทม.ท่วมใหญ่

พระกริ่งน้ำท่วมวัดสุทัศน์สร้างกทม.ท่วมใหญ่

28 ม.ค. 2556

พระกริ่งน้ำท่วมวัดสุทัศน์สร้างในวันและปีที่ กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. ๒๔๘๕ : พระองค์ครู เรื่องไตรเทพ ไกรงู ภาพกุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร

              พระกริ่ง หมายถึงพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ ซึ่งทรงเป็นครูในด้านเภสัช คือ การรักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นจึงนิยมใช้อธิษฐานแช่น้ำทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์แล้วดื่มกินเชื่อว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ป้องกันสรรพโรคและอัปมงคลต่างๆ ซึ่งมีพระประวัติตอนหนึ่งในพระสูตรว่า

              "ผู้ใดก็ดีได้บูชาพระองค์ด้วยความเคารพเลื่อมใส่แล้ว ก็จักเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปราศจากภัยบีฑา ไม่ฝันร้าย ศาสตราวุธทำอันตรายมิได้ สัตว์ร้ายทำอันตรายมิได้ โจรร้ายทำอันตรายมิได้ ยาพิษทำอันตรายมิได้แล"

              ส่วนคำว่า "กริ่ง" นี้ มาจากคำถามที่ว่า "กึ กุสโล" (กิง กุสะโล) คือเมื่อพระโยคาวจรบำเพ็ญสมณธรรม มีจิตผ่านกุศลธรรมทั้งปวงเป็นลำดับไปแล้ว ถึงขั้นสุดท้าย จิตเสวยอุเบกขาเวทนา ปุญญาภิสังขาร

              ด้วยพุทธคุณดังกล่าว พระกริ่งจึงเป็นพระเครื่องที่คนในวงการพระเครื่องเชื่อมากันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ "เซียนพระกริ่ง" ยังเชื่อกันอย่างแน่วแน่ว่า สามารถช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ทุกโรค โดยเฉพาะโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันหาสาเหตุไม่พบ และรักษาด้วยยาไม่ได้ ยามใดที่เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย จงอธิษฐานขออำนาจพุทธคุณในพระกริ่ง แล้วนำพระแช่น้ำ จากนั้นก็เอามาดื่ม บ้างก็นำมาอาบ เพื่อความเป็นสิริมงคล โรคภัย ไข้เจ็บป่วยอยู่นั้น ก็จะหายโดยอัศจรรย์

              พระกริ่งที่มีชื่อเสียงทรงคุณวิเศษและพุทธคุณเด่นด้านรักษาโรคนั้น ต้องยกให้พระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) แห่งวัดสุทัศน์เทพวราราม ด้วยมวลสารพิธีกรรม และฤกษ์ ทำให้พระกริ่งที่สร้างในยุคก่อนมีความเข้มขลัง สามารถแช่น้ำทำน้ำมนต์มาดื่มกันรักษาโรคได้

              สำหรับพระองค์ครูฉบับนี้เป็น "พระกริ่งน้ำท่วม วัดสุทัศน์สร้างในวันและปีที่ กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. ๒๔๘๕" จากหนังสือ "พระคู่บารมี" ที่จัดทำโดย "นาย?เติมศักดิ์ ปิยะมณีพร" หรือ  "?เปี๊ยก ปากน้ำ" ? อดีตประธานชมรมอนุรักษ์พุทธศิลปะ?ไทยคน?แรก ที่ได้รวบรวมขึ้นจากประสบ?การณ์?ในวง?การพระ?เครื่องกว่า ๓๐ ปี

              เปี๊ยก ปากน้ำ บอกว่า พระกริ่งน้ำท่วม เจ้าคุณศรีสนธิ์ ๒๔๘๕ พระกริ่ง รุ่นน้ำท่วม ปี ๒๔๘๕ นับเป็น พระกริ่งรุ่นแรก ที่ เจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างด้วยตัวท่านเอง หลังจากที่ได้เรียนรู้วิธีการสร้างพระกริ่งจากเจ้าประคุณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) จนมีความรู้ความชำนาญเป็นที่ไว้พระทัยแล้ว ทั้งนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ดูแลการสร้างพระกริ่งรุ่นนี้อยู่ด้วย พระกริ่ง รุ่นน้ำท่วม เททองในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๘๕ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๓ เนื้อ คือ ๑.เนื้อเหลือง เททองฤกษ์เช้ามี ๘๐๐ องค์ ค่านิยมอยู่ในหลัก ๑ แสนต้นๆ ๒.เนื้อแดง เททอง ฤกษ์บ่ายมีจำนวน ๕๐๐ องค์ ค่านิยมอยู่ในหลัก๒ แสนกว่าขึ้นไป และ ๓.เนื้อดำท่านสร้างเป็นเนื้อพิเศษซึ่งสร้างน้อยมากในรอบ ๑๐ ปี ที่ผ่านมาไม่เคยได้ยินว่ามีการซื้อขาย

              ส่วนที่มาของชื่อรุ่นนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ กรุงเทพฯ เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ถนนหนทางเจิ่งนองไปด้วยน้ำที่หลากมาจากทางภาคเหนือและน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เอ่อล้นขึ้นมาสมทบน้ำจึงท่วมกรุงและประจวบเหมาะกับการสร้างพระกริ่งครั้งนั้นเป็นช่วงน้ำท่วม นักเลงพระจึงขนานนามว่า “รุ่นน้ำท่วม” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา