
ช่วยกันนิยามคำว่า'กลั่นแกล้ง รังแก'ให้ถูกที่ถูกทาง
ช่วยกันนิยามคำว่า'กลั่นแกล้ง รังแก'ให้ถูกที่ถูกทาง : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected]
ทุกวันนี้ใครๆ มักพูดกันถึงการ "ถูกกลั่นแกล้ง รังแก" แต่ในความหมายซึ่งยังน่าจะมีความเห็นไม่ถูกต้องตรงกันอยู่มาก เกิดขึ้นเพราะหลายๆ ครั้งคนทำผิดกฎหมาย (จริงๆ) ถูกดำเนินคดี บางทีกล่าวอ้างกับสื่อกับคนทั่วไปว่าตัวเองถูกรังแก ถูกกลั่นแกล้ง กระทั่งพูดบ่อยๆ สังคมเหมือนจะเชื่อตามไปเช่นนั้นอย่างไม่ต้องยั้งคิด จึงน่าช่วยกันคิดอ่านให้ชัดเจนตรงไปตรงมาว่าอย่างไรถึงเรียกว่า "กลั่นแกล้ง รังแก"
คิดว่าคงไม่ต้องอ้างถึงพจนานุกรมฉบับไหนๆ เพราะธรรมชาติของคนเราหากอะไรไม่เป็นไปตามระบบระเบียบหาเรื่องราวมาใส่ร้ายสร้างหลักฐานเท็จให้คนบริสุทธิ์ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ เราต่างรู้ได้ว่านั่นเป็นการ "กลั่นแกล้ง รังแกเขา" พฤติกรรมเยี่ยงนี้ไม่มีใครต้องการพบเจอหรือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่แท้ แต่เมืองไทยวันนี้มีหลายเหตุการณ์ซึ่งได้ยินเสียงคร่ำครวญ โอดโอย จากหลายฝักฝ่ายทำนองว่ามีการกลั่นแกล้งรังแกกันอย่างโน้นอย่างนี้ โดยเฉพาะในทาง "การเมือง"
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน เมื่อถูกดำเนินคดีหรือมีเหตุไปพัวพันกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น มักเห็นภาพการออกแถลงข่าวชี้แจงของผู้ได้รับผลกระทบ และคำยอดฮิตติดปากของคนเหล่านี้ คือ การถูกกลั่นแกล้งทำลายกัน ตรงนี้คงไม่มีใครเถียงว่า ตราบเท่าที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริง จะแก้ไขดำเนินการอย่างไร ความจริงคงเป็นความจริง
แต่เราน่าจะพิจารณากันให้รอบคอบว่า "การกลั่นแกล้งแบบสมัยโบราณเอานักเลงไปปิดล้อมสำนักงาน หรือใช้กฎหมายแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงและถูกตรวจสอบได้จากร้อยแปดทิศ ทำให้กระบวนการกลั่นแกล้งกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หาก "ผู้ที่อ้างว่าตนถูกกลั่นแกล้ง" ไม่มีแผล หรือร่องรอยแห่งความเลวร้ายบางอย่างให้เขามองเห็นเป็นพิรุธขนาดพบช่องโอกาสให้ดำเนินการทางกฎหมายได้
ผมจึงไม่ค่อยเชื่อกับข้ออ้างของ "นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล หรือคนมีอำนาจหน้าที่ มีฐานะตำแหน่งต่างๆ กระทั่งประชาชนคนเดินถนน" ซึ่งถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าจะถูกกลั่นแกล้งกันโดยง่าย" เหมือนอย่างเสียงบ่นเรื่องการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าถามว่ามีไหมกับการที่ตำรวจนอกรีตบางคนอาศัยอำนาจหน้าที่กดขี่รังแกคนขับขี่ยวดยานต์โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ซึ่งมองว่าเป็นพาหนะสำหรับคนมีรายได้ปานกลางถึงค่อนข้างน้อย คำตอบรู้กันดีว่าเรื่องนี้มีจริง แต่ "ข้อดีของการตั้งด่านนั้นมีอยู่มากกว่าเรื่องน่ากังวลว่าจะมีการกลั่นแกล้ง" หากผู้ขับขี่ยวดยานไม่กระทำความผิดทั้งในเรื่องเครื่องยนต์กลไก เรื่องในทางทะเบียน หรือกฎหมายอื่นๆ นั้นการกลั่นแกล้งรังแกไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย ยิ่งทุกวันนี้มีช่องทางการร้องเรียนและการเอาจริงเอาจังกับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ปรากฏเป็นข่าวให้เห็นในหลายกรณีที่กระทั่งเกษียณอายุราชการยังถูกสอบสวนให้มีมลทิน ริบเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญยังกระทำได้
ยิ่งเรื่องของ บ่อน หวย การพนัน ยาเสพติด เห็นมีแต่คนบ่นว่าถูกกลั่นแกล้ง แต่เอาเข้าจริงตรวจสอบกันเข้าก็พบว่ามีการกระทำผิดจริง ส่วนใหญ่ที่อ้างว่า "ถูกกลั่นแกล้ง" ก็มักเป็นเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัว หรือขัดแย้งกันในเรื่องอื่นๆ หรือเป็นการเอาคืนกันทางการเมือง ถ้ายิ่งเป็นการเอาคืนกันทางการเมือง น่าจะเป็นเรื่องที่จะถูกกลั่นแกล้งรังแกกันได้ยาก เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล ล้วนมีส่วนลิ้มรสอำนาจรัฐมาเป็นอย่างดี วันนี้คดีที่ดีเอสไอ ทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลโดนกันไปถ้วนหน้า ยังค้างคาการพิจารณาอีกหลายสิบคดี นั่นย่อมเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า ในทางการเมืองใครจะทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า คิดแต่จะกลั่นแกล้งกันโดยไม่ยึดหลักกรอบกติกาแห่งกฎหมาย หรือ ทำการใดๆ อย่างลุแก่อำนาจ น่าจะไม่ง่ายนักในการถูกฝ่ายตรงข้ามดำเนินการตรวจสอบ ร้องเรียน เปิดโปงให้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตขึ้นมา ถึงได้เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ว่า "เอะอะอะไรอย่าไปโทษว่าเป็นเรื่องการเมือง" เพราะกติกาในสังคมการเมือง เป็นพื้นที่เปิด ผู้คนสามารถรับรู้วิพากษ์วิจารณ์ได้ ถูกตรวจสอบขุดคุ้ยได้จากทุกทิศทาง คงไม่ง่ายนักหากนึกคิดอะไรก็จะใช้อำนาจทางการเมืองหรืออำนาจรัฐมากลั่นแกล้งทำให้อีกฝ่ายได้รับความเดือดร้อนเสียหาย โดยคิดว่าอีกฝ่ายจะนิ่งเฉยไม่ตอบโต้เอาคืน
.........
(หมายเหตุ : ช่วยกันนิยามคำว่า'กลั่นแกล้ง รังแก'ให้ถูกที่ถูกทาง : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected])