ข่าว

คำชื่นชม...นำคนพบสุข

คำชื่นชม...นำคนพบสุข

19 ก.พ. 2556

คำชื่นชม...นำคนพบสุข

                     เพราะการชื่นชมเป็นการให้ที่มีต้นทุนต่ำ แต่มีคุณค่าทางจิตใจสูง ส่งผลกระทบให้ผู้รับฟังเห็นคุณค่าของตัวเอง เปลี่ยนแปลงไปทางที่ดีได้อย่างไม่คาดคิด เหตุนี้ วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสุขภาพจิต จึงได้รวบรวมความรู้จากประสบการณ์ตรง ที่ได้พบเจอมาสรุปเป็นหลักการชื่นชมที่สามารถเปลี่ยนคนได้ในพริบตา ในหนังสือเรื่อง "พลังแห่งการชื่นชม" บริเวณ หอประชุมพุทธคยา ชั้น 22 อาคารอัมรินทร์พลาซ่า เมื่อวันก่อน

                     ภายในงานเปิดตัวได้มีการเสวนาในหัวข้อ "พลังการชื่นชม ...เปลี่ยนคน เปลี่ยนโลก ในพริบตา" อันเป็นการบอกเล่าผลลัพธ์ของการชื่นชมจากปากบุคคลในสังคม 3 ท่าน ได้แก่  ดร.สมศักดิ์ ชลาชล ประธานกรรมการบริหาร ชลาชล แอร์เดรสซิ่ง สคูล  ดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ผู้จัดการพื้นที่เชียงใหม่ ไนท์ ซาฟารี  และ กฤชภร หอมบุญญาศักดิ์  นางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2553 ก่อนปิดท้ายด้วยการบรรยายเทคนิคการชื่นชมให้ประสบความสำเร็จ ทั้งกับตัวเองและผู้อื่นอีก

                     ดร.สมศักดิ์ บอกว่าใช้การชื่นชมในการดูแลลูกน้องช่างตัดผมของตัวเองบ่อยครั้ง เนื่องจากในอาชีพช่างทำผมทุกคนต้องใช้อารมณ์ในการสร้างสรรค์ พอช่างได้รับคำชมก็จะมีแรงบันดาลใจมากขึ้น ไม่สร้างความเป็นศัตรูต่อกัน ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่ลูกน้องของตัวเองทะเลาะกันรุนแรงมาก เราเป็นผู้บริหารก็เรียกมาคุยทีละคน แต่ใช้การชื่นชมบอกมุมด้านดีของอีกฝ่ายให้ฟังโดยไม่ตำหนิติเตียน สนับสนุนความคิดด้านลบของเขา พยายามชี้ให้เขามองในด้านดีของกันและกัน จนสุดท้ายก็กลับมาทำงานร่วมกันได้อย่างดี แต่ในสังคมไทยเราไม่ค่อยกล้าชมกันต่อหน้า เหมือนฝั่งตะวันตกเท่าไหร่นัก ชอบใช้วิธีการพูดลับหลัง หรืออิจฉาริษยากันมากกว่า หากกล้าเปิดใจลองชื่นชมคนรอบข้างทีละนิด อย่างน้อยจิตใจเราก็ได้คิดแต่ด้านบวก มีความสุขมาก่อนอยู่แล้วและพอผู้รับมีความสุขจากคำชมของเรา เขาก็จะมีแรงผลักดันให้ทำสิ่งดีๆ ต่อไป

                     ในด้านการชื่นชมเพื่อความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสำเร็จในหน้าที่การงาน ดร.ศราวุฒิ ได้เล่าประสบการณ์ตรงจากชีวิตตัวเองว่า เนื่องจากเป็นคนที่เล่นหุ้นและหาเงินเป็นหลักล้านได้ตั้งแต่อายุ 21 เลยไม่เคยตั้งใจเรียน เพราะคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องไม่จำเป็นสำหรับตัวเองเท่าไหร่ จนพ่อต้องคอยว่ากล่าวทำโทษเป็นประจำ มีเพียงแม่เท่านั้นที่ไม่เคยว่ากล่าวตัวเองเลย ครั้นยังชื่นชมในความสามารถ ความขยัน และความรักครอบครัวของเราเสมอ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่เคยสังเกตุเห็นว่าเรามีคุณค่าในเรื่องนี้ เมื่อถึงวันที่เห็นแม่นั่งร้องไห้ เพราะมีคนต่อว่าเราให้ได้ยินว่าเรียนไม่เอาไหน จึงเกิดแรงผลักดันให้รีบเรียนจนจบภายในเวลาอันรวดเร็ว เพราะอยากทำให้ท่านภูมิใจมากที่สุด

                     ในช่วงท้ายของการเสวนาเจ้าของผลงานหนังสือ พลังแห่งการชื่นชม ให้คำแนะนำหลักของการชื่นชมให้ประสบความสำเร็จว่า มนุษนย์เรามักมองไม่เห็นคุณค่าที่ตัวเองมีอยู่ เมื่อมีคนรอบข้างมาบอกให้ทราบก็จะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองขึ้นมา เป็นพลังให้ทำเรื่องนั้นๆ ต่อได้ในทางที่ดี

                     "การชื่นชมไม่ให้ดูเสแสร้งมีอยู่ 7 ข้อ ได้แก่ 1. มองคนคนนั้นในองค์รวม ไม่โฟกัสไปที่เรื่องอื่นที่คนทั่วไปพูดถึงกัน 2. รวบรวมความดี  คิดแต่เรื่องดีๆ ของบุคคลนั้น 3. นำความดีเหล่านั้นมาชมทีละประเด็น 4.บอกพยานหลักฐานในเรื่องที่ชม ให้ผู้ฟังจำได้ว่าเขาได้ทำสิ่งนั้นไปแล้ว 5.เปรียบเทียบข้อชมนั้นกันคนอื่นๆ โดยให้ผู้ที่ได้รับคำชมยังรู้สึกเหนือกว่า  6.ชมประเด็นใดต้องย้ำประเด็นนั้นไปเรื่อยๆ เมื่อได้พบเจอกัน และ 7. ให้ตระหนักว่าต้องชื่นชมจริงๆ ไม่แทรกคำตำหนิ สั่งสอน หรือเหน็บแนมลงไป" วุฒิพงศ์ เผยเทคนิคทิ้งท้ายให้ลองทำกัน