ข่าว

แก้หอยเชอรี่กินต้นข้าว ดึงปชช.ร่วมจัดการ

แก้หอยเชอรี่กินต้นข้าว ดึงปชช.ร่วมจัดการ

01 มี.ค. 2556

แก้หอยเชอรี่กินต้นข้าว ดึงปชช.ร่วมจัดการน้ำ : คอลัมน์คนดังท้องถิ่น : โดย...กวินทรา ใจซื่อ

               หลังเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลดินดำ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด "อภินันท์ ไชยหะนิจ" นายกเทศมนตรีป้ายแดงก็เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนในพื้นที่ทั้ง 17 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มี 9 หมู่บ้านมีพื้นที่ติดแม่น้ำชี ชาวบ้านส่วนใหญ่ล้วนเป็นเกษตรกรชาวนา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 9,000 ไร่ นอกจากนี้ชาวบ้านยังปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผลและไม้ยืนต้นโดยยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง

               จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้ปัญหาใหญ่ของชาวนาในพื้นที่ คือ หอยเชอรี่ระบาดและกัดกินต้นข้าวได้รับความเสียหายมาก ชาวบ้านต้องฉีดยาฆ่าหอยเชอรี่ในปริมาณมาก จนทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศ สุขภาพและต้องลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย  

               "การแพร่ระบาดของหอยเชอรี่เป็นปัญหาใกล้ตัวเพราะกัดกินต้นข้าวเสียหาย ชาวนาต้องพึ่งสารเคมีกำจัดทำให้เสียเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เทศบาลจึงรับซื้อหอยเชอรี่มาทำน้ำหมักชีวภาพ เมื่อมีน้ำหมักที่ใช้ประโยชน์ได้แล้วจะแจกให้เกษตรกรนำไปใช้ในชุมชนและที่สำคัญทำให้ชาวบ้านลดใช้สารเคมีในแปลงนา ทั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านนำเนื้อหอยเชอรี่มาทำอาหาร หากลดการใช้สารเคมีลงได้ผู้บริโภคหอยก็ปลอดภัย ซึ่งการปราบหอยเชอรี่จะทำให้เกษตรกรลดรายจ่าย มีเงินเหลือเก็บและหอยเชอรี่จะลดลงแน่นอน" อภินันท์กล่าว

               ส่วนการแก้ปัญหาความยากจนในระยะยาวนั้น อภินันท์ เน้นย้ำเรื่องการทำการเกษตรแบบพอเพียงจึงทำให้นโยบายการจัดการเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบจึงเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องอื่น เพราะหากน้ำอุดมสมบูรณ์แล้ว ชาวบ้านก็ทำมาหากินในการเพาะปลูกได้ทั้งปี ที่สำคัญคือให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ โดยเทศบาลตำบลดินดำมีคณะกรรมการเข้าร่วมดำเนินการกับตัวแทนชาวบ้าน โดยชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านเป็นผู้กำหนดกติกา การออกข้อบังคับการใช้น้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการในชุมชนนั้นๆ

               "ในพื้นที่ติดลำน้ำชีจะมีสถานีสูบน้ำกระจายทั้งหมด 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 13 หมู่บ้าน แต่ละสถานีจะมีชาวบ้านเป็นตัวแทนคอยดูแลวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานเสมอ ซึ่งช่วยลดภาระของพนักงานไปได้มาก ที่สำคัญการให้ชาวบ้านดูแลสถานีสูบน้ำเองยังทำให้เห็นความสำคัญของทรัพย์สิน เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน สร้างความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นด้วย ส่วน 4 หมู่บ้านที่อยู่นอกพื้นที่ เทศบาลให้การช่วยเหลือโดยการนำน้ำเข้าไปเติมในแหล่งน้ำของหมู่บ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการขาดแคลนน้ำ"

 

..............................................

(แก้หอยเชอรี่กินต้นข้าว ดึงปชช.ร่วมจัดการน้ำ : คอลัมน์คนดังท้องถิ่น : โดย...กวินทรา ใจซื่อ)