ข่าว

เชื่อมวงจรปิด'กทม.-บก.จร.'แก้รถติด

เชื่อมวงจรปิด'กทม.-บก.จร.'แก้รถติด

18 มี.ค. 2556

'นครบาล' เดินหน้าเชื่อมรวมระบบภาพ CCTV 'กทม. - บก.จร.' แก้ปัญหารถติด 'พื้นราบ - ทางด่วน' ช่วงฝนตก

 

                          18 มี.ค. 56  พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่ากล้องวงจรปิด หรือ กล้อง CCTV ของกองบังคับการตำรวจจราจร ที่มีอยู่ทั่วกทม.สามารถตรวจสอบสภาพจราจรเส้นทางบนท้องถนนต่างๆช่วงฝนตกรถติดได้อย่างสมบูรณ์โดยประสานกับกทม.ตัดกิ่งไม้ที่บดบังทัศนียภาพของกล้องCCTV ในทุกจุดแล้วเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการแสดงภาพจราจรจากพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ขณะเดียวกันได้เชื่อมต่อระบบภาพกล้อง CCTV จากศูนย์ควบคุมบนทางด่วน และทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ มายัง กองบังคับการตำรวจจราจร โดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ LEASED LINE (ลีดไลน์) เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ในการสั่งการรับช่วงรถจากบนทางด่วน ให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรพื้นราบเพื่อครอบคลุมเส้นทางต่างๆได้มากยิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดได้และนอกจากจะใช้บก.จร.เป็นศูนย์ควบคุมและสั่งการการแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว ยังจะขยายศูนย์ดังกล่าวให้เป็นศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางการสั่งการการแก้ปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งการสั่งการการแก้ปัญหาภัยพิบัติทั่วประเทศจะอยู่ที่นี่ โดยให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ มาประจำการ ให้ข้อมูล เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา และสั่งการด้านต่าง ๆ ในภาวะวิกฤติหรือช่วงที่เกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม ส่วนในภาวะปกติ ก็จะเป็นศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร ตามเดิม

                          พล.ต.ต.วรศักดิ์ กล่างิดว่า สำหรับหลักการจะเป็นการเชื่อมต่อ ระบบซีซีทีวี ของหน่วยราชการไว้ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ บก.จร. อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ ภายในงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมา 700 ล้านบาท เป็นงบการก่อสร้าง ตกแต่งอาคารสถานที่ของ บก.จร.เดิม ให้มีความเหมาะสมเป็นศูนย์สั่งการระดับประเทศ ส่วนอีก 400 ล้านบาท เป็นค่าติดตั้งระบบกล้องซีซีทีวี และระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ โดยจะมีการย้ายศูนย์ซีซีทีวีของ 191 มารวมกับ บก.02 ซีซีทีวีของ กทม. ทั้งหมด ซึ่งจะสามารถเรียกภาพจากทุกจุดทั่วประเทศมาดูที่นี่ได้ โดยมีกระทรวงไอซีทีช่วยให้การสนับสนุน โดยที่ศูนย์จะมีจอมอนิเตอร์เพิ่มจาก 150 จอ ใน 48 ถนน จะเพิ่มเป็น 800 กว่าจอ และดูภาพได้ทั่วประเทศ

                          ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผบก.จร. กล่าวว่าเมื่อการติดตั้งระบบทั้ง 2 ส่วนแล้วเสร็จ ตามแผนคาดว่าจะเปิดใช้ศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติได้ในเดือน ต.ค. 2556 ที่ศูนย์นี้จะสามารถควบคุมและสั่งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศ เช่น หากมีน้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งเจ้าหน้าที่ที่สามารถตัดสินใจได้ มานั่งประจำการที่ศูนย์นี้ และคอยให้ข้อมูลจากกล้องที่เชื่อมต่อมาจากหน่วยงานของตนเอง เพื่อบูรณาการข้อมูลในการแก้ไขปัญหา แล้วสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่นั้น ๆ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะปกติ ศูนย์นี้จะใช้เป็นที่ควบคุมและสั่งการจราจร ตามปกติ แต่ถึงจะมีสภาวะฉุกเฉิน ก็จะไม่มีผลกระทบต่อการสั่งการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะยังสามารถมอนิเตอร์สภาพพื้นที่ต่าง ๆ ได้ตามปกติ ซึ่งจะเป็นการบูรณาการรวมงานจราจร งานป้องกัน และงานปราบปรามเข้าด้วยกัน

                          พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า ในการปรับปรุงศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร เดิมและเพิ่มหน้าที่เป็นศูนย์สั่งการภัยพิบัติแห่งชาติ มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดพื้นที่ที่ บก.จร.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามานั่งทำงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ บก.จร. อาจต้องขยับขยายตำแหน่งการทำงานกันใหม่ หากไม่เพียงพอก็ต้องต่อเติม ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้