
เพียญชนัง
เพียญชนัง : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์ โดยประภัสสร เสวิกุล
“สุนทรภู่” เขียนไว้ในนิราศภูเขาทอง ตอนหนึ่งว่า “เหมือนพ่อครัวคั่งแกงพะแนงผัด สารพัดเพียญชนังเครื่องมังสา อันพริกไทย ใบผักชีเหมือนสีกา ต้องโรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ”
ผมติดใจคำว่า “เพียญชนัง” มานานแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นชื่อของอาหารหรือเครื่องปรุง จนกระทั่งวันนี้เดินทางไปกัมปงชนัง ในกัมพูชา ถึงได้ถึงบางอ้อ เพราะล่ามอธิบายว่าคำว่า “ชนัง” ในภาษากัมพูชาแปลว่าหม้อดิน ที่หมู่บ้านแห่งนี้แต่เดิมมีการปั้นหม้อดินกันเป็นอาชีพหลักจึงได้ชื่อว่า “หมู่บ้านหม้อดิน” หรือกำปงชนัง ผมถามต่อไปว่าแล้ว “เพียญชนัง” แปลว่าอะไร ล่ามทำหน้างงๆ แล้วบอกว่าไม่เข้าใจ สักพักจึงเดาว่าน่าจะเป็น “เปลียงชนัง” ซึ่งคำว่า “เปลียง” แปลว่าตุ่มดิน ฟังดูก็พอเห็นเค้าได้ลางๆ ว่าในสมัยนั้น หม้อไหในครัวล้วนทำด้วยดินเผา ยังไม่มีอะลูมิเนียม หรือสเตนเลสเช่นปัจจุบัน และบางทีช่างปั้นหม้อปั้นตุ่มก็อาจจะเป็นคนที่ไปจากเมืองเขมรนี่เอง
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เมืองไทยน่าจะเป็นแหล่งรวมของคนหลายเชื้อชาติและการผสมผสานทางวัฒนธรรม เพราะในเวลานั้นคนไทยที่หลงเหลือมาจากกรุงศรีอยุธยาก็น่าจะมีไม่มากเท่าไหร่ จึงจำเป็นต้องกวาดต้อนและนำเข้าแรงงานจากที่ต่างๆ ที่หลักๆ ก็คือ มอญ ลาว เขมร และจีน “สุนทรภู่” ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจในนิราศเรื่องหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าจะเป็นนิราศภูเขาทองหรือไม่ เพราะผมเขียนต้นฉบับตอนนี้ในกรุงพนมเปญและอาศัยจากความทรงจำ ไม่มีโอกาสได้ค้นข้อมูลหรือสอบทานความถูกต้อง ถ้าจำผิดไปบ้างก็ต้องขออภัยด้วยครับ
“สุนทรภู่” เขียนไว้ว่า “เขมรด่าว่ามะจุยไอ้ตุยนา ลาวว่าปาสิแม่ปะแพสู เจ๊กด่าว่ามินังติกังฟู เสียงมอญขู่ตะคอกตอกขะมิ” ทั้งหมดนี้เป็นคำผรุสวาทในภาษาของชนชาติต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย มาใช้ชีวิตร่วมกัน ประกอบอาชีพตามแนวทางที่ถนัดของตนและคนเหล่านี้แหละครับที่หล่อหลอมและรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยในปัจจุบัน ถ้าจะคั้นเลือดเชือดเนื้อเพื่อหาคนไทยแท้ๆ ก็เห็นทีว่าจะยากลำบากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรกระมังครับ
คนในอุษาคเนย์แต่เดิมนั้นก็คงมีการปะปนกัน และก็ไม่ได้เคร่งครัดว่าเป็นชาติโน้นชาตินี้ เพิ่งจะมาถือเขาถือเรากันก็ตอนที่ฝรั่งเศสกับอังกฤษเข้ามาขีดเส้นแบ่งพรมแดน แยกแผ่นดินแผ่นน้ำ แยกผู้คน แยกสายสัมพันธ์ที่มีมาแต่อดีตกาลออกจากกัน เกิดเป็นประเทศไทย ลาว กัมพูชา ที่มีความแตกต่างกันออกไป ตามวิธีการปกครองของฝรั่งมังค่า
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกวันนี้ ก็ทำท่าจะกลับไปเป็นเหมือนเช่นในสมัยโบราณ ที่คนชาติต่างๆ มาอยู่ร่วมกัน เดินทางโยกย้ายไปอยู่ที่โน่นที่นี่ และทำมาหากินในที่ต่างๆ โดยเสรี ความผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ทางความคิด ตลอดจนวิถีชีวิตก็จะแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่ละย่อมจะมีทั้งส่วนที่เราได้มาและเสียไป ซึ่งเราเองจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นวัคซีนป้องกันตนเอง
ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใจให้กว้างในการยอมรับสิ่งที่ดีๆ ของคนอื่น เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพของสังคมไทย เช่นที่คนไทยในสมัยก่อนประสบความสำเร็จอย่างสูงมาแล้ว