ข่าว

เราไม่ต้องการ'No Man’s Land'และ'Lost in Translation'

เราไม่ต้องการ'No Man’s Land'และ'Lost in Translation'

19 เม.ย. 2556

เราไม่ต้องการ'No Man’s Land'และ'Lost in Translation' : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์


           กรณีการนำคดีขึ้นสู่การตีความในคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ของศาลโลก โดยกัมพูชานั้น ต้องเข้าใจว่า ทางฝ่ายเขาไม่มีอะไรเสีย ว่ากันง่ายๆ คือ มีโอกาสจะได้เพิ่มหรือเปล่าเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาไปเรียบร้อยมากว่าห้าสิบปีแล้ว แต่ด้วยการฉกฉวยโอกาสในช่วงการสู้รบกันเมื่อราวสองปีก่อน ทำให้เขมรหยิบยกมาเป็นกรณีพิพาทนำคดีขึ้นขอการคุ้มครองชั่วคราวและนำมาซึ่งการที่ศาลโลกต้องรับฟังการแถลงด้วยวาจาของคู่กรณีในวันนี้

           แม้ว่าคำวินิจฉัยมีการคาดการณ์กันว่าน่าจะอยู่ประมาณเดือน “ตุลาคม 2556” อีกห้าหรือหกเดือนถัดจากนี้ แต่ส่วนตัวมีความคิดเห็นต่อการดำเนินการครั้งนี้อยู่ 2 กรณีด้วยกัน คือ คนจำนวนมากพูดตรงกันว่า ฟังการแถลงในศาลในฉบับแปลเป็นไทยไม่รู้เรื่อง ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสมาเป็นไทย ที่ฟังไม่รู้เรื่อง จะไปโทษล่ามฝ่ายเดียวคงไม่ได้ แต่น่าตั้งคำถามว่า กระทรวงการต่างประเทศมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งกรมยุโรป กรมอเมริกา รวมไปถึงกรมสนธิสัญญา ที่เชี่ยวชาญรอบรู้เรื่องกฎหมาย ทำไมไม่นำเจ้าหน้าที่เหล่านั้นมาทำหน้าที่ในการแปลความโดยเฉพาะในถ้อยคำสำนวนทางด้านเทคนิคและข้อกฎหมาย ตรงนี้ผมอาจไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า “ล่าม หรือ ผู้แปลภาษาในขณะถ่ายทอดสดนั้นเป็นใครบ้าง” ต้องยอมรับว่า ใครไม่มีพื้นความรู้มาก่อนคงไม่มีใครทนรับฟังได้นาน และคงรอฟังสรุปเอาจากผู้เชี่ยวชาญหรืออ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์หรือบนเว็บไซต์ต่างๆ กันมากกว่า

           ไม่อยากให้คิดว่าสิ่งที่ว่ามาเป็นการ “ตำหนิ” แต่อยากให้คิดเป็น “ติเพื่อก่อ” เพราะเจตนาและกระบวนการหลายๆ อย่างที่ริเริ่มมาตั้งแต่การทำเว็บไซต์ พระวิหารดอทคอม (www.phraviharn.org <http://www.phraviharn.org>) เพื่อรวบรวมข้อมูลความรู้ ถามตอบ และสิ่งที่คนไทยควรทราบนั้นเป็นเรื่องน่าสนใจ พอๆ กับได้ประโยชน์ในการเข้าไปรับฟังรับชมคลิปวิดีโอที่หลายคนอาจไม่มีเวลาชมในเวลาถ่ายทอดจริง ส่วนนี้ทำได้ดีน่าชมเชย ถึงอาจแก้ไขอะไรไม่ทัน เพราะวันที่ท่านได้อ่านบทความนี้ คือ วันที่ประเทศไทยต้องทำการแถลงอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นคิวท้ายสุดก็ตาม แต่ถือเป็นบทเรียนว่า การแถลงต่อศาลในลักษณะนี้น่าจะคล้ายคลึงกับการประชุมนานาชาติ ซึ่งเชื่อว่า “ถ้อยแถลงต่างๆ น่าจะมีการส่งให้ศาลได้รับทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนหน้าแล้ว เพราะด้วยข้อจำกัดเรื่องภาษาของแต่ละฝ่ายซึ่งใช้ภาษาไม่ตรงกันรวมทั้งศาลเองซึ่งผู้พิพากษามีที่มาจากหลายประเทศจะได้ทำความเข้าใจและสามารถติดตามถ้อยแถลงต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที”

           ดังนั้น จึงเชื่อว่าในอนาคต (หากทำได้) ควรจะให้มีตัววิ่งภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลกำกับอยู่ด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ที่ไม่เข้าใจภาษากฎหมายจากการแปลของล่าม สามารถทำความเข้าใจได้เอง ผมเองมีประสบการณ์รับชมการแถลงข่าวหรือการประชุมนานาชาติมาหลายแห่ง มีภาษาให้ฟังทั้ง จีน อาหรับ กระทั่งฝรั่งเศสอย่างในคดีนี้ ถึงจะเป็นเรื่องซึ่งมีความสลับซับซ้อนเป็นเรื่องยากแต่มักไม่ค่อยมีปัญหาในการทำความเข้าใจ เพราะล่ามสามารถถอดความเป็น “ภาษาอังกฤษ” ได้ชัดเจนและไม่มีปัญหาในการสื่อสาร ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ ทั้ง ซีเอ็นเอ็น บีบีซี และอัลจาซีรา ซึ่งวิธีการขององค์กรสื่อเหล่านี้น่าจะให้ผู้เกี่ยวข้องได้เรียนรู้ศึกษาเอาอย่างไว้ ไม่อยากให้ “Lost in translation” หรือการแปลความที่บกพร่องกระทั่งอาจส่งผลทำให้คนเกิดความสับสนและเข้าใจอะไรคลาดเคลื่อนกับเรื่องสำคัญมากนี้

           ส่วนเรื่องผลในคำตัดสินอีกเกือบหกเดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ยากจะคาดเดา แต่กังวลอยู่กรณีหนึ่ง คือ คำเรียกร้องของกัมพูชาที่ต้องการให้มีการกำหนดแนวเขตแดนให้ชัดเจนนั้น เราเองก็หวังอยากให้ “ศาลนั้นเลือกทางออกที่ดีกับทุกฝ่ายมากที่สุด นั่นคือ ให้ทั้งไทยและกัมพูชาเจรจาหาข้อยุติในเชิงประนีประนอมดูแลมรดกโลกร่วมกัน หรือไม่มีการตัดสินอะไรนอกเหนือไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2505” แต่เห็นตัวอย่างมาในหลายกรณีทั้งใน โคโซโว บอสเนียเฮอเซโกวีนา อิสราเอลกับจอร์แดน และอีกหลายพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งกัน “องค์กรระหว่างประเทศ” ที่เข้าไปช่วยระงับปัญหาข้อพิพาทมักเลือกเอาการกำหนด “No Man’s Land” ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้จะไม่เป็นธรรมกับฝ่ายไทยอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับต้องมีการร่นระยะทางเข้ามาซึ่งยังไม่ทราบว่าจะใช้พื้นที่เท่าใด จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้พิพากษาทั้ง 15 ท่านจะพยายามหาทางออกเพื่อไม่ให้โลกนี้ร้อนด้วยไฟสงครามขึ้นอีก