ตึกบังกลาเทศถล่มยอดตายพุ่งเป็น275
โศกนาฏกรรมตึกถล่มในบังกลาเทศทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 275 คนแล้ว และจุดชนวนให้คนงานหลายพันชุมนุมประท้วงด้วยความโกรธแค้นเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน
26 เม.ย. 56 คนงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเขตอุตสาหกรรม ซาวาร์ จำนวนหลายพันคนชุมนุมประท้วงในบริเวณด้านนอกอาคาร ราน่า พลาซ่า ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 5 แห่ง ชานกรุงธากาเมื่อวาน หลังตึกสูง 8 ชั้นหลังนี้พังถล่มเมื่อวันพุธ พวกเขาแสดงความไม่พอใจต่อการก่อสร้างอาคารที่ไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่กลุ่มทหารและอาสาสมัครถือไม้ไล่กลุ่มผู้ประท้วงให้สลายตัวไป
ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากตึกถล่มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 275 คนแล้ว และมีผู้บาดเจ็บกว่า 1,000 คน และเจ้าหน้าที่ยังเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิตท่ามกลางความวิตกว่ายังมีอีกหลายร้อยคนติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง หน่วยกู้ภัยจะพยายามค้นหาผู้รอดชีวิตต่อไปจนถึง 9 โมงเช้าวันเสาร์ ซึ่งครบ 72 ชั่วโมงของโอกาสพบผู้รอดชีวิต หลังจากนั้นจะเริ่มใช้เครื่องมือขนาดใหญ่เพื่อยกแท่งคอนกรีตและแท่งเหล็กโครงสร้างอาคารเพื่อให้สามารถกู้ศพออกมาได้
อาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้า 5 แห่งที่มีคนงาน 3,122 คน มีร้านค้าอีก 300 ร้านและธนาคารอีก 1 แห่ง และหน่วยกู้ภัยช่วยคนออกมาจากตึกได้แล้ว 2,013 คน
สำนักงานพัฒนากรุงธากา เตรียมยื่นฟ้องเจ้าของอาคารที่ละเลยเรื่องความปลอดภัยของอาคาร หลังจากมีรายงานว่าเพียง 1 วันก่อนเกิดเหตุ คนงานพบเห็นรอยร้าวบนตัวตึก แต่เจ้าของโรงงานยังคงให้คนงานทำงานในตึกต่อไป ทั้งทีสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้แจ้งขอให้โรงงานหยุดทำงานเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนตึกถล่มด้วย
ขณะที่ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า อาคารถูกต่อเติมถึง 3 ชั้นจากแบบเดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต และอาจยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างอย่างไม่ถูกต้องด้วย เพราะยื่นขอใบอนุญาตกับนิคมอุตสาหกรรมซาวาร์ ที่มีการกำหนดมาตรฐานก่อสร้างต่ำกว่า แทนที่จะขอใบอนุญาตจากสำนักงานพัฒนากรุงธากา
ล่าสุดสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสากล ออกมาประณามบริษัทเสื้อผ้าแบรนด์ดังและห้างค้ารายใหญ่ของต่างชาติที่ว่าจ้างการผลิตในบังกลาเทศ ว่าขาดความรับผิดชอบในการเอาใจใส่เรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานของแรงงาน เยอร์กี ไรน่า เลขาธิการสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสากล โศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นตัวอย่างของเสื้อผ้าแบรนด์ดังและห้างค้าปลีกที่กอบโกยกำไรหลายพันล้านดอลลาร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบนความทุกข์ยากของแรงงาน คนงานได้เงินเดือนแค่เกือบ 1,050 บาทแต่ต้องทำงานสัปดาห์ละ 60 ชม.
ขณะที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐไม่ได้ระบุว่ามีบริษัทสหรัฐว่าจ้างโรงงานในตึกที่พังถล่มหรือไม่ แต่เรียกร้องให้บังกลาเทศปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานของแรงงานและเสนอพร้อมให้ความช่วยเหลือ
--------------------
(หมายเหตุ : ที่มาภาพ : AP)