ข่าว

เสวนา!ทุจริตกินตามน้ำ3.5+2แสนล.

เสวนา!ทุจริตกินตามน้ำ3.5+2แสนล.

28 เม.ย. 2556

ภาคสังคมจัดเสวนา 'จับตาผ่าทุจริต เวนคืนดิน กินตามน้ำ 3.5+2 แสนล้าน' อัดแผนบริหารป้องกันน้ำท่วม รบ.เมินศึกษาผลกระทบ-ดึงปชช.มีส่วนร่วม

 

                       28 เม.ย. 56  เมื่อเวลา 14.00 น. ที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ชั้น 7 ห้อง 701 อาคารสาธรธานี ถนนสาธร เครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและเครือข่ายนักวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย Thaiflood.com มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและเครือข่ายนักวิชาการ จัดสัมนาทางวิชาการ "จับตา ผ่าทุจริต เวนคืนดิน กินตามน้ำ 3.5+2 แสนล้าน" ในการใช้งบประมาณบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยมีนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ และนายปรเมศวร์ มินศิริ ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นคณะผู้บรรยาย

                       นายศศิน กล่าวว่า ในเรื่องน้ำไปๆมาๆตนมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้เกี่ยวกับตนชัดเจน เพราะคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่มีการนำโครงการนี้ในแผนบริหารจัดการน้ำ มีการถามว่าน้ำจะท่วมอีกหรือไม่ต้องดูอีกครั้ง เพราะระดับน้ำท่วมปี 2554 ท่วมใหญ่เช่นเดียวกับเมื่อร้อยปีที่แล้ว ซึ่งแผนใหญ่ในระยะสั้นจะใช้เพื่อป้องกันกรุงเทพฯ แต่เงินกู้ 3.5 แสนล้าน ซึ่งเป็นระยะยาวส่วนหนึ่งจะมีการขยายคลองขนาดเท่าสนามฟุตขอลยาว 300-400 กิโลเมตร แค่แม่น้ำป่าสัก ก็มีชาวบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้จะเดือดร้อนอีกหลายพันครอบครัว ซึ่งในแผนนี้ระบุจะให้แล้วเสร็จใน 5 ปี ซึ่งประชาชนตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สมุทรสงครามลงมาจะยอมหรือไม่

                       "การมีส่วนร่วมต้องเริ่มตั้งแต่แผนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ให้พื้นที่ท่าจีนเป็นพื้นที่ผันน้ำ จะมีประชาชนรู้หรือไม่ และการมีส่วนร่วมของแผนนี้ จะมีผู้ได้รับผลกระทบมหาศาล ถ้าบังเอิญที่ราบภาคกลางรอดน้ำท่วมจริง เพราะมีการนำน้ำผันมาที่อ่าวไทย ซึ่งจะทำให้จังหวัดสมุทรสงครามซึ่งเป็นอ่าวทะเลเป็นพื้นที่น้ำจืด จะทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่นั้นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร"นายศศิน กล่าว

                       รศ.ดร.สุวัฒนา กล่าวว่า ตนออกมาคัดค้านตั้งแต่ทีโออาร์ครั้งแรกที่ให้บริษัทต่างๆมายื่นข้อเสนอ เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติผู้รับเหมาต้องเคยมีผลงานไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ก็คิดว่าไปไม่รอด ทั้งที่ตามหลักวิศวกรรมต้องเริ่มมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ ออกแบบ แล้วค่อยก่อสร้าง จากนั้นค่อยหาผู้รับเหมาในขั้นตอนสุดท้าย โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องมีกรรมการมาดูแล ทำให้ความไม่ชอบมาพากัลก็แสดงออกตั้งแต่ทีโออาร์ครั้งแรก ซึ่งเวลาการดำเนิน 3-5 ปีก็เป็นไปไม่ได้ และไม่่มีทางทัน เพราะส่วนหนึ่งในแผนไม่มีรายละเอียดเรื่องผลกระทบในทุกด้าน การศึกษาบางโครงการก็เป็นแค่แนวคิด ทั้งนี้ หากไม่มีการมอบพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้ ก็ต้องมีการยื่นอายุสัญญา และเรียกค่าชดเชย ถ้ามีการฟ้องเมื่อไหร่ก็จะเหมือนโครงการโฮปเวลล์ เหมือนการสร้างคลองถ้าทำไม่ได้ก็จะสร้างปัญหาตามมาให้ชุมชนแน่นอน

                       ด้านนายหาญณรงค์ กล่าวว่า ถ้ายื่นข้อเสนอไปแล้วไม่ฟัง ก็จะมีการฟ้องศาลปกครอง ที่ฟ้องก็เพราะไม่รู้จะไปพึ่งใคร ที่ผ่านมาตนทำงานภาคประชาสังคมก็เห็นบทเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่มีการเปิดเผยกับประชาชน และการมีส่วนร่วมก็ไม่มีจริง แต่ใช้การมีส่วนร่วมเพียงการจัดนิทรรศกาลเท่านั้น และการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่มี ถ้าเรื่องนี้จะถอยก็ทำได้ โดยการใช้งบประมาณปกติ ส่วนเรื่องการเวนคืนที่ดินที่ผ่านมาไม่เคยมีเอกชนเวนคืนที่ดินจากประชาชนได้ จึงอยากให้ประชาชนรอฟ้องได้ทันที ถ้าถามว่าจะมีการปล่อยให้ใช้เงินอย่างนี้หรือไม่ จะฟ้องก็ฟ้องเพราะเป็นเงินของประชาชน นักการเมืองยุคก่อนรับฟัง แต่ยุคนี้ใครแถลงถือว่าจะถือว่าขัดนโยบาย พอจะใช้ที่หอศิลป์ และมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแถวมาบุญครองเขาก็ไม่ให้ ทั้งนี้ ตนไม่รู้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ไปสาบานกับใครมาหรือไม่ ถึงไม่ยอมถอยเรื่องนี้

                       "กระบวนการมีส่วนร่วมต้องมีตั้งแต่การทำแผน และมาดูว่าจะสอดรับกับแผนใหญ่ซึ่งประชาชนจะรับฟังหรือไม่ และการศึกษาโครงการที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมก็ต้องมีการมีส่วนร่วมอีกครั้ง ก่อนจะไปหาผู้รับเหมา ทำให้มองว่ากระบวนการมีส่วนร่วมจะอยู่ตรงไหน จึงมองว่าการมีส่วนร่วมเป็นแบบเทียมๆเท่านั้น"นายหาญณรงค์ กล่าว

                       ขณะที่นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ตนเพิ่งรู้สุภาษิตโบราณ น้ำขึ้นให้รีบตักเป็นแบบนี้ ในแผนระบุว่าจะจัดการน้ำแบบบูรณาการ แต่เมื่อน้ำท่วมก็รับตัก ก็ไม่มีการรับฟังความคิดเห็น ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่มีการออกระเบียบสำนักนายกฯที่อ้างความเร่งด่วน ให้เอกชนไปดำเนินการ ตนจึงถามว่าด่วนตรงไหน เวลาเท่าเดิม แต่เปลี่ยนหน้าที่ให้เอกชนดำเนินการแทน

                       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 30 เมษายน นายประสารเตรียมยื่นหนังสือคัดค้านแผนจัดการน้ำของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ และเครือข่ายนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อคัดค้าน จากนั้นในช่วงบ่าย จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อพิทักษ์สิทธิในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้รัฐบาลได้ปรับขั้นตอนการดำเนินงานให้ประชาชนได้มีส่วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมือง