ปชช.มองปฏิรูปปชป.เป็นเรื่องที่ดี
สวนดุสิตโพลเผยปชช. 33.28% มองปฏิรูปปชป.เป็นเรื่องที่ดี
18 พ.ค.56 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดทำผลสำรวจเรื่อง การปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ เเจกจ่ายสื่อมวลชนในวันนี้ใจความว่า จากกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จุดประเด็นการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของพรรค และให้ความเห็นว่าพรรคปชป.ต้องยกเครื่องใหญ่ กล้าเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์เน้นประสิทธิภาพของพรรค-อุดมการณ์ประชาธิปไตยและคุณภาพของคนเพื่อคุณภาพ ของการเมืองและคุณภาพของประเทศ
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,134 คน ระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2556 เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง และแสวงหาฐานข้อมูลด้านความคิดเห็นของประชาชน สรุปผลดังนี้
1.ความคิดเห็นของประชาชน กรณีการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ที่นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นผู้จุดประเด็น อันดับ 1 เป็นเรื่องที่ดี หากจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปพรรคเพื่อให้พรรคเกิดการพัฒนาและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 33.28% อันดับ 2 การปฏิรูปพรรคเป็นเรื่องสำคัญควรรับฟังความเห็นและมีการพูดคุยกันภายในพรรคก่อน 29.11% อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ควรมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง 14.22% อันดับ 4 หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการเมืองไทยและเป็นตัวอย่างให้กับ พรรคการเมืองอื่นๆ 12.64% และอันดับ 5 ก่อนที่จะปฏิรูปพรรคควรแก้ที่ตัวนักการเมืองก่อน ทั้งในด้านความรู้ความสามารถและคุณธรรมจริยธรรม 10.75%
2. ประชาชนเห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ? อันดับ 1 เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ 61.32% เพราะทำให้การบริหารพรรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานคล่องตัว เปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ เป็นแบบอย่างและกระตุ้นให้พรรคการเมืองอื่นๆเกิดการพัฒนา ส่งผลต่อคุณภาพการเมืองไทย ฯลฯ อันดับ 2 ปฏิรูปก็ได้ไม่ปฏิรูปก็ได้ /เฉยๆ 34.03% เพราะรูปแบบในการปฏิรูปพรรคยังไม่ชัดเจน เป็นเรื่องภายในที่ควรให้คนในพรรคบริหารจัดการกันเอง ประชาชนทั่วไปอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์โดยตรง ฯลฯ อันดับ 3 ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ 4.65% เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เก่าแก่ มีรูปแบบการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์ มีอุดมการณ์ชัดเจน ไม่ควรปรับเปลี่ยนทันที ควรพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ฯลฯ