'มะกัน'ถูก'จีน'โจมตีทางไซเบอร์
'สหรัฐ' ถูก 'จีน' เจาะข้อมูลลับทางทหารหลายสิบโครงการ รวมทั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ และเทคโนโลยีชั้นสูงทางทหารอื่นๆ
29 พ.ค. 56 ได้มีการเปิดเผยล่าสุด จีนใช้การโจมตีทางไซเบอร์เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอาวุธของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เกือบ 40 โครงการ และเทคโนโลยีด้านการทหารอื่นๆ อีกเกือบ 30 โครงการ ซึ่งสร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้บรรดาผู้นำสหรัฐ เร่งหามาตรการป้องกันไม่ให้จีนล้วงข้อมูลลับอย่างไม่ลดละได้อีก
การเปิดเผยเรื่องนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายงานของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์การทหาร ซึ่้งเป็นกลุ่มที่ปรึกษาอาวุโส ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลและพลเรือน ที่ออกมาเมื่อช่วงต้นปีนี้ แต่เพิ่งจะมาเปิดเผยสู่สาธารณชน จากการที่นายชัค ฮาเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ เตรียมตัวเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเขาจะหารือกับบรรดารัฐมนตรีกลาโหมของชาติในภูมิภาคเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะที่มีการเตือนกันมาหลายปีแล้ว เกี่ยวกับความพยายามจารกรรมทางไซเบอร์ของจีนที่พุ่งเป้าไปที่โครงการทางทหารและเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐ และรายงานล่าสุด ได้ตอกย้ำว่า มีการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นเป็นประจำ และในขณะที่สหรัฐกำลังมองการไกลในการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารในเอเชีย แปซิฟิก ก็ยิ่งเกิดความวิตกมากยิ่งขึ้นว่า จีนจะใช้ข้อมูลที่ได้จากการโจมตีทางไซเบอร์ ไปบั่นทอนขีดความสามารถทางทหารของสหรัฐ และก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อเมริกาคิดค้นขึ้น
เจมส์ ลูอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา บอกว่า ช่องว่างมันแคบลงเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่ความได้เปรียบไปอยู่ที่จีน เรายังคงเป็นผู้ที่เหนือกว่าในทางทหาร แต่ก็ไม่เท่ากับช่วงก่อนหน้าที่จะถูกโจมตีทางไซเบอร์ อันตรายร้ายแรงนี้ ถือเป็นความสำเร็จของจีน
ในจำนวนโครงการ 37 โครงการ ที่ถูกโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ ได้รวมถึงระบบป้องกันขีปนาวุธเพดานบินสูง (Terminal High Altitude Area Defence) หรือ ทีเอชเอเอดี ที่ปัจจุบันประจำการอยู่ที่เกาะกวม เพื่อช่วยป้องปรามภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ส่วนโครงการอื่นๆ ก็มีเครื่องบินรบ เอฟ 35 จอยท์ สไตรค์ , เอฟ 22 แรฟเตอร์ และ วี-22 ออสเปรย์ ที่สามารถขึ้นและลงจอดในรูปแบบเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ แต่บินได้เหมือนเครื่องบิน , เฮลิคอปเตอร์แบล็ค ฮอว์ค และเรือรบลิตทอรัล คอมแบต ซึ่งกองทัพเรือเพิ่งนำเข้าประจำการด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีชั้นสูงทางทหารอื่นๆ อีก 29 โครงการที่ถูกจารกรรมข้อมูล และเรื่องนี้ถูกรายงานครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ และนับเป็นการเปิดเผยมากขึ้นของทางการสหรัฐในประเด็นที่ถูกจีนโจมตีทางไซเบอร์ ในช่วง 1 หรือ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2554 ของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ ที่กล่าวหาจีนว่ามีการจารกรรมอย่างเป็นระบบต่อข้อมูลไฮ-เทค ของสหรรัฐ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติตัวเอง
ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้เรียกร้องหลายครั้ง ให้รัฐบาลใช้มาตรการคว่ำบาตรหรือการลงโทษอื่นๆ เพื่อตอบโต้การกระทำของจีน / ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้รับการคาดหมายว่า จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในระหว่างการประชุมสุดยอดในเดือนหน้า ที่เซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย
ด้านหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ รายงานว่า แฮ็คเกอร์ของจีน พุ่งเป้าเล่นงานบรรดาบริษัทคู่สัญญากับกองทัพและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลสหรัฐ เพื่อเจาะเทคโนโลยีชั้นสูงของโครงการผลิตอาวุธและในจำนวนบริษัทที่ตกเป็นเป้า ได้รวมทั้ง โบอิ้ง , ล็อคฮี้ด มาร์ติน , นอร์ทธรอป กรัมแมน และเรย์เธียน
คณะผู้จัดทำรายงาน เกรงว่า การจารกรรมทางไซเบอร์ จะทำให้จีนได้เข้าถึงเทคโนโลยีก้าวหน้า และอาจบั่นทอนความได้เปรียบทางทหารของสหรัฐในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างสองชาติเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ บอกว่า ยังไม่แน่ชัดว่า พวกแฮคเกอร์ได้ข้อมูลสำคัญไปมากน้อยเพียงใด แต่การเปิดเผยเรื่องนี้ ก็ออกมาในช่วงจังหวะเดียวกัยที่มีรายงานว่า แฮ็คเกอร์จีนจารกรรมความลับสุดยอด ที่เป็นพิมพ์เขียวโครงสร้างอาคารสำนักงานหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียแห่งใหม่ ในกรุงแคนเบอร์รา รวมทั้งแบบร่างการวางสายเคเบิลสำหรับระบบรักษาความปลอดภัย โครงสร้างพื้นอาคารและตำแหน่งติดตั้งคอมพิวเตอร์หลัก
โฆษกของนอร์ทธอร์ป ระบุว่า จำนวนความพยายามในการเข้าเจาะเครือข่ายเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับอันตราย ในรายงานเวอร์ชั่นที่เผยแพร่สู่สาธารณชนได้เตือนด้วยว่า สหรัฐมีความบกพร่องในการเตรียมตัวรับสงครามไซเบอร์อย่างเต็มรูปแบบ แต่ในรายงานเวอร์ชั่นที่เสนอต่อสภาคองเกรสส์ในเดือนนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ระบุว่า การจารกรรมข้อมูลของจีนในครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่การดึงข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ และแผนการทางทหารของรัฐบาลสหรัฐ
ข้อมูลที่ได้จากการจารกรรม อาจช่วยกองทัพจีนให้สามารถเห็นภาพของเครือข่ายระบบป้องกันทางทหารของสหรัฐ รวมทั้ง การส่งกำลังบำรุง และขีดความสามารถทางทหารอื่นๆ ที่จีนอาจนำมาใช้ประโยชน์ในยามวิกฤติได้ ผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์ ได้พูดถึงความหละหลวมในการป้องกันของสหรัฐว่า เปิดช่องให้ถูกโจมตีทางไซเบอร์ ตั้งแต่ปี 2542-2552 ซึ่งกระทรวงกลาโหม ได้พยายามจะไม่เกิดความตื่นตระหนกในเรื่องนี้ โดยบอกว่า ได้มีการเพิ่มความช่วยเหลือบรรดาบริษัทคู่สัญญาในการป้องกันการถูกโจมตีทางไซเบอร์แล้ว
--------------------
(หมายเหตุ : ที่มาภาพ : AFP)