'กรณ์'นำยื่นถอดถอน'กิตติรัตน์'
'ปชป.' ยื่น 'ปธ.วุฒิ' ถอดถอน 'รมว.คลัง'จงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดต่อ 'รธน.ม. 270' ไม่จัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ
30 พ.ค.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้นายกรณ์ จาติกวณิช สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรมว.คลัง พร้อมด้วย สส.จำนวนหนึ่งเป็นตัวแทน เข้ายื่นหนังสือถอดถอน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ต่อนายนิคม ไวรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 270 กรณีการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งมี สส.เข้าชื่อทั้งหมด 131 คน
โดยนายกรณ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อประชาชนหลายสิบล้านคนที่รอใช้สิทธิจากการเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมารัฐสภาอนุมัติผ่านเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้มาแล้ว ตั้งแต่ปี 2554 มีบทบัญญัติชัดเจนว่า รมว.คลัง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติใน 360 วัน หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ปรากฏหลักฐานต่อเนื่องว่า นายกิตติรัตน์ จงใจที่จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย และเสียโอกาสได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลจำนวนหลาย 10 ล้านคน เพราะฉะนั้นวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ จึงมาทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน มายื่นถอดถอน รมว.คลัง ตามมาตรา 270
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ความจริงไม่อยากให้มาถึงวันนี้ เพราะพรรคมีความพยายามต่อเนื่อง ที่จะกระตุ้นให้ รมว.คลัง ทำหน้าที่ นอกจากนี้ประชาชนที่เสียโอกาส ยังได้รวมกลุ่มกันเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังมาแล้วหลายรอบ ขณะเดียวกันหน่วยราชการก็มาชี้แจงต่อกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง เช่น ครม.อนุมัติแล้วเพียงแค่รอคำสั่งและลายเซ็นของรมว.คลัง ทำให้การจัดสรรงบประมาณที่มีบทบัญญัติตามกฎหมายให้เพียงพอต่อการจัดตั้ง ก็ถูกละเลยมา 2 ปีงบประมาณแล้ว
"ที่ผ่านมาในการประชุมสภา สส.ก็ได้ยกมือสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราจำเป็นต้องปกป้องศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะยึดหลักการว่าฝ่ายบริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายด้วยเพราะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย จึงขอฝากให้ประธานวุฒิสภา ไปพิจารณาตามรายละเอียดและปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไป" นายกรณ์ กล่าว
ด้านนายนิคม กล่าวว่า ขอตรวจสอบข้อกล่าวหาเพื่อความชัดเจน ภายใน 15 วัน จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการ ปปช. ดำเนินการต่อไป และเมื่อ ปปช.ชี้มูลและมีความเห็นส่งข้อมูลกลับมาก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
"ราเมศ"ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา"มาร์ค"ถูกปลดจากราชการทหาร
นายราเมศ รัตนเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ นายสุนัย จุลพงศธร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะรวม 134 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็น สส.ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) ประกอบ มาตรา 102(6) หรือไม่ โดยนายราเมศ กล่าวว่า คำชี้แจงและเอกสารที่ยื่นประกอบมีทั้งหมด 83 หน้า เพื่อชี้แจงประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ยืนยันว่า สมาชิกภาพของนายอภิสิทธิ์ไม่ได้สิ้นสุดตามที่มีการกล่าวหา เพราะคำสั่งกระทรวงกลาโหมเลขที่ 1163/2555 ที่ให้ปลด ร.ต. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากการเป็นนายทหารกองหนุน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ได้ใช้สิทธิตามกระบวนยุติธรรมหลายช่องทาง ทั้งการร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหมดังกล่าว และร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช.ว่าการกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
"ในส่วนของประเด็นข้อกฎหมายนั้น ก็ได้ยืนยันต่อศาลว่าเมื่อคำสั่งกระทรวงกลาโหมไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จะให้มาเข้าลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งส.ส.ตามมาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) ไม่ได้ ซึ่งหลังได้ยื่นคำชี้แจงทั้งหมดแล้วก็จะรอดูว่าศาลฯจะมีคำสั่งอย่างไรออกมา หากศาลฯเห็นว่าคำชี้แจงมีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอให้วินิจฉัยแล้ว ทางทีมกฎหมายก็อาจจะยื่นขอให้ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนเนื่องจาก ยังมีพยานเอกสารและพยานบุคคลที่นายอภิสิทธิ์ต้องการนำเสนอต่อศาลในชั้นไต่สวน รวมถึงมีเอกสารบางชิ้นที่ต้องการขออำนาจศาลฯในการเรียกจากกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตามไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีออกมาอย่างไรนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมจะน้อมรับทุกประการเพราะเราเชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญ" นายราเมศ กล่าว