
'ไฟดับภาคใต้'ท้าทายรัฐจัดการพลังงาน
ไฟดับภาคใต้ถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความท้าทายจัดการพลังงานของรัฐ : กัมปนาท ขันตระกูล / มัทนา ลัดดาสิริพร ... รายงาน
กรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่เวลา 18.52 น. ต่อเนื่องไปจนถึง 23.45 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา คาดว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในทุกมิติจะสูงถึง 10,000 ล้านบาท จากภาวะชะงักงันในระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า กล่าวได้ว่านี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เมื่อเปรียบเทียบกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดไฟฟ้าขาดแคลนของกระทรวงพลังงาน อันเนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาในประเทศพม่า ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายนที่ผ่านมา และต้องหยุดการส่งก๊าซธรรมชาติเข้าระบบการผลิตไฟฟ้า ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดปัญหากับการจ่ายไฟฟ้าในภาคกลาง และด้านตะวันตก แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใน นั่นก็คือทุกอย่างผ่านไปด้วยดี
ข้อสรุปของปัญหาไฟฟ้าดับในภาคใต้ก็คือ มีสาเหตุมาจากฟ้าผ่าเสาและสายไฟฟ้าแรงสูง ที่บริเวณ ต.บ้านทาน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีไฟฟ้าจอมบึง จ. ราชบุรีบุรี 74 กม.ที่เสาต้นที่ 200/3 จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไฟฟ้าขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ ควบคู่กับการอธิบายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ทำให้ต้องใช้เวลาในการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางเข้าระบบให้กับภาคใต้ รวมทั้งการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียมาเสริมระบบในคืนวันเดียวกันกับที่เกิดเหตุ
ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเชิงสอดรับนั่นคือ การเร่งรัดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่ม เป็นการสานต่อเป้าหมายของ กฟผ. ที่มีแผนอยู่แล้ว ต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ เป็นการกดดันเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้น โดยอ้างถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ แม้ว่าในพื้นที่ตั้งของโครงการนี้ที่ จ.กระบี่ จะมีบรรยากาศของการต่อต้านก็ตาม
"ในเดือนมิถุนายนนี้ ผมจะนำคณะลงรับฟังความเห็นจากประชาชน และพบกับ ส.ส.ในพื้นที่ด้วย หากประชาชนยังคัดค้านไม่ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน คงต้องพิจารณาทบทวนแผนอีกครั้ง เพราะรัฐไม่มีนโยบายไปรบกับประชาชนในเรื่องนี้" พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
โครงการจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เดิมของ กฟผ. รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดฝั่งอันดามันครอบคลุม ภูเก็ต พังงา กระบี่ ส่วนการเลือกใช้เชื้อเพลิงเป็นถ่านหินเป็นการอ้างถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และพื้นที่ดังกล่าว (ที่ตั้งโครงการ) ไม่มีก๊าซธรรมชาติที่จะมาป้อนให้โรงไฟฟ้า คำยืนยันจากฝ่ายบริหารของกฟผ.ก็คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ทำให้มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้านการดำเนินการ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังมีระยะเวลาที่จะสร้างความเข้าใจกับประชาชนอีก 2 ปี ส่วนการนำไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เข้าสู่ระบบจะต้องเสร็จสิ้นในปี 2562
ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ บรรจุให้แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4,400 เมกะวัตต์ และหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายคือจ.กระบี่ โดยมีความก้าวหน้าอย่างเป็นทางการ ในระดับการทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และสร้างการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ จ.กระบี่ เคยเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ขนาดกำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ และยุติระบบการผลิตในเดือนกันยายน 2538 หลังจากมีการใช้งานมารวม 31 ปี ต่อมา โรงไฟฟ้าเดิมแห่งนี้ถูกเปลี่ยนการใช้พลังงานเป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตาขนาด 340 เมกะวัตต์ และตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ล่าสุด โรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ จะมีกำลังผลิตที่ 800 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกันปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าเป็นผลมาจากการทักท้วงถึงผลกระทบต่อจ.กระบี่ จากการเกิดขึ้นของโครงการนี้ครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งถ่านหิน ที่ตั้งของท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน การเผาไหม้ถ่านหินและการกำจัดเถ้าถ่านหิน ส่วนพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบคือ ต.คลองขนาน ต.ปกาสัย ต.ตลิ่งชัน และ ต.เกาะศรีบอยา ใน อ.เหนือคลอง ด้านตัวเลขของประชากร ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงภัยผลกระทบ คาดว่าจะมีมากกว่า 26,000 คน จาก 7,500 ครัวเรือน ใน 4 ตำบลข้างต้น
บาดแผลเดิมถูกนำมาขยายผลอยู่ตลอด และมีผลเกี่ยวเนื่องโดยตรงไปถึงโครงการนี้ก็คือ ผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าที่เดิมมีอยู่แล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไข เห็นได้จากขั้นตอนของโรงไฟฟ้าระหว่างการผลิตที่มีการปล่อยควัน และเกิดมลภาวะในเรื่องของกลิ่นเมื่อฝนตก ที่สำคัญการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยขีดวงจำกัดในระยะรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า ซึ่งรัฐนำมาใช้เป็นแนวทางในการจ่ายเงินชดเชยผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ล้วนแต่นำมายังความเคลือบแคลงอย่างยิ่ง เพราะความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่แล้ว มลพิษที่จะเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมถ่านหินจะสร้างปัญหาในวงกว้างเกินรัศมีที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน
"จุดยืนของเราไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน คือที่มาของปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะอยู่ใกล้ชายฝั่ง ในขณะที่มีการขนส่งถ่านหินเข้าสู่ระบบด้วยการขนส่งทางทะเล กรณีที่ กฟผ.อ้างว่า เส้นทางลำเลียงถ่านหินจากเดิมเป็นท่าเทียบเรือสะพานช้าง ต.คลองขนาน ไปเป็นท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง เพื่อลดผลกระทบนั้น ขอยืนยันว่าคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย เพราะพลังงานที่ใช้ก็ยังเป็นพลังงานถ่านหิน ซึ่งที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าเดิมก็สร้างปัญหาอยู่แล้ว หากจะทำโครงการนี้เชื่อได้ว่าจะมีมวลชนมาร่วมกันต่อต้าน" สุนทร ศรประเสริฐ สมาชิกกลุ่มพิทักษ์ปกาสัย ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ย้ำถึงท่าที
อัตราเร่งของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา ไม่มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นในภาคใต้ รวมถึงขั้นตอนการจัดตั้งโรงไฟฟ้า ที่ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยที่มีข้อกำหนดอย่างชัดเจนไว้ว่า โครงการที่เกิดขึ้นต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่น ทั้งยังต้องปราศจากการคัดค้าน ด้วยปัจจัยเช่นนี้สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จึงเป็นการทดอบสอบที่ท้าท้าย ทั้งต่อมวลชนที่พร้อมต่อต้าน และจุดยืนของรัฐในนโยบายพลังงาน
----------------------
(ไฟดับภาคใต้ถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความท้าทายจัดการพลังงานของรัฐ : กัมปนาท ขันตระกูล / มัทนา ลัดดาสิริพร ... รายงาน)