ศาลฎีกาพลิกยกฟ้อง'วาสนา-กกต.'
ศาลฎีกาพลิกยกฟ้อง'วาสนา-กกต.' คดีจัดเลือกตั้งเอื้อ'ไทยรักไทย' : รายงาน
คดีประวัติศาสตร์ศาลฎีกากลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร อดีต กกต. ร่วมเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2549 โดยไม่มีอำนาจ และอนุญาตให้ผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนลงสมัครข้ามเขตได้ เพื่อช่วยให้ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทย มีคู่แข่ง เพื่อเลี่ยงเกณฑ์ว่าจะต้องได้คะแนน 20% ขึ้นไป
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ให้จำคุกคนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และตัดสิทธิทางการเมืองคนละ 10 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 มิถุนายน ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.1234 /2549 ที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต. นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร (เสียชีวิตแล้ว), พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ทั้งสามเป็นอดีต กกต. และ พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา อดีตเลขาธิการ กกต. (ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. พ.ศ.2541
คดีนี้โจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2549 สรุปว่า ระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2549 เวลากลางวัน พวกจำเลยร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่รอบสอง ใน 38 เขต 15 จังหวัด เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2549 ทั้งที่ไม่มีอำนาจ และอนุญาตให้ผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนลงสมัครข้ามเขตได้ เพื่อช่วยให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย มีคู่แข่งและจะได้เลี่ยงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องได้คะแนนร้อยละ 20 ขึ้นไป
ดังนั้นการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งพวกจำเลยเป็นบุคคลในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจมาก แต่กลับมากระทำความผิดเองโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และคดีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน เนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งหก เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง เป็นปฏิปักษ์และเป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
หากไม่ได้รับการพิจารณาโดยเร่งด่วนจะส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน และสูญเสียงบประมาณของแผ่นดินจำนวนมาก รวมถึงความมั่นคงของประเทศ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 101, 108, 157 เหตุเกิดที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จำเลยให้การปฏิเสธ
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ให้จำคุก พล.ต.อ.วาสนา นายปริญญา และนายวีระชัย จำเลยที่ 2-4 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ ไว้คนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ส่วน พล.อ.จารุภัทร จำเลยที่ 5 นั้นได้ลาออกจาก กกต.ไปก่อน นายถาวร โจทก์จึงถอนฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 2-4 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ขณะที่จำเลย 2-3 ยื่นฎีกา ขอให้ศาลยกฟ้องด้วย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่าคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และ 3 ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่าการกระทำของ กกต. จะเป็นความผิด ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ นั้นจะต้องเป็นการกระทำต่อผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความเพียงว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน จ.สงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 และเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้ส่งผู้ใดเข้าสมัครรับเลือกตั้งเลย
โดยโจทก์ไม่ใช่ผู้สมัคร ดังนั้นยังถือไม่ได้ว่า กกต.ได้กระทำการที่จะเป็นความผิดต่อโจทก์ ตามมาตรา 24 ที่บัญญัติว่าห้ามไม่ให้ กกต., กกต.ประจำจังหวัด, ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และอนุกรรมการที่ กกต. แต่งตั้งกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด ดังนั้นโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำผิดตามมาตรา 24 ดังกล่าว
แม้โจทก์จะมีสิทธิคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตเลือกตั้งที่โจทก์มีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 147 (1) และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.พ.ศ.2541 มาตรา 94 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 114 บัญญัติว่ากรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายนี้ในเขตเลือกตั้งใดให้ถือว่า ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ที่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น เป็นผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่นโจทก์เป็นผู้เสียหายเลย
ขณะที่ ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองให้ถือว่า เป็นผู้เสียหายเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว. พ.ศ.2541 เท่านั้น อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติให้ผู้สมัคร และพรรคการเมืองถือเป็นผู้เสียหายตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวมเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติเพื่อคุ้มครองโจทก์ที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง โดยตรงเป็นพิเศษ
หากถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายแล้ว ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหมือนโจทก์ที่มีอยู่จำนวนมาก ก็ย่อมเป็นผู้เสียหายเช่นกัน และถ้าต่างใช้สิทธิฟ้องร้องก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อ กกต. ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ปรากฏมาแล้วในคดีที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กับพวกรวม 9 คน ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2-3 ว่ากระทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.ฯ มาตรา 24 ซึ่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า นพ.นิรันดร์ กับพวกไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง หากการกระทำของจำเลยที่ 2-3 เป็นความผิด ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อรัฐ ไม่ใช่กระทำผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และมาตรา 28 (2)
ส่วนที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ภายหลังฟังคำพิพากษา พล.ต.อ.วาสนา อดีตประธาน กกต. กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ไม่รู้สึกอะไร และหลังจากนี้จะกลับไปอยู่บ้านพักที่ต่างจังหวัด"
.....................
(หมายเหตุ : ศาลฎีกาพลิกยกฟ้อง'วาสนา-กกต.' คดีจัดเลือกตั้งเอื้อ'ไทยรักไทย' : รายงาน)