บิ๊กโปรเจกท์ดันไทยสู่ศูนย์กลางการบิน
นิคมอุตฯการบินนครราชสีมา บิ๊กโปรเจกท์ดันไทยสู่ศูนย์กลาง : ทีมข่าวภูมิภาค ... รายงาน
ภาพของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท ในยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย แนวเส้นทาง เชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ (กรุงเทพฯ) ผ่านปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย วงเงินลงทุน 170,450 ล้านบาท ทั้งสองโครงการดังกล่าว คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศ (ไทยแลนด์ 2020) โดยมีงบประมาณลงทุนจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และอาจกล่าวได้ว่า นี่คือภาพทางตรง ในโครงการลงทุนของรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพื้นที่นครราชสีมา
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจและมีมิติของการขับเคลื่อนอย่างเป็นลำดับ นั่นคือ "นิคมอุตสาหกรรมการบิน" โดยนครราชสีมาถูกกำหนดให้อยู่ในแผนงานของกระทรวงคมนาคม ต่อการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดทำโครงการนี้ก้าวเดินของนิคมอุตสาหกรรมการบิน เริ่มเป็นรูปธรรมนับจากการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และจ.นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2555 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเรื่องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน เพราะการเกิดขึ้นของโครงการนี้จะรวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์การผลิตยางล้อเครื่องบินและชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากยางพารา อันหมายถึงการส่งเสริมให้ใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมผลิตยางล้อเครื่องบิน ช่วยแก้ไขปัญหาราคาผลิตยางพาราที่ลดต่ำลงได้
ขณะเดียวกันในการประชุมติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน ที่มี "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในเดือนธันวาคม 2555 ที่ประชุมขณะนั้นเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาครวม 3 ชุด ได้แก่ 1.คณะกรรมการศึกษาวางแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน มีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบ โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วางแผน 2.คณะกรรมการวางแผนการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เป็นผู้รับผิดชอบ และ 3.คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้เอกชนไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องบิน เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย
ตัวเลือกของนิคมอุตสาหกรรมการบินต่อความเป็นไปได้ในการใช้เป็นพื้นที่ตั้งโครงการ ประกอบด้วย นครราชสีมา, อู่ตะเภา (ระยอง), ตาคลี (นครสวรรค์, และกำแพงแสน (นครปฐม) โดยขั้นตอนการพิจารณาในส่วนนี้เป็นภารกิจของกรมการบินพลเรือน ควบคู่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมาชัดเจนกับสนามบินนครราชสีมา ที่มีพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ ที่เหมาะต่อการพัฒนาให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน และความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากสมาคมการค้าไทย-ยุโรป ที่นำผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการบิน เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาทิ บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน ประเทศอังกฤษ, บริษัท ไทรอัมพ์ เอวิเอชั่น เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด ผู้ซ่อมชิ้นส่วนอากาศยาน และมีท่าทีสนับสนุนการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศไทย ก็เป็นแรงผลักดันที่ทำให้โครงการนี้ก้าวไปข้างหน้า
ขั้นตอนจากนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมการบินพลเรือนจัดหาที่ปรึกษาเข้ามาสนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมการบิน ครอบคลุมทั้งการฝึกอบรมบุคลากร ด้านสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน ส่วนเป้าหมายที่วางไว้คือ ไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางทั้งด้านการฝึกอบรม การผลิต และการซ่อมบำรุงอากาศยาน ด้วยความได้เปรียบในที่ตั้งของประเทศไทย ที่มีความเหมาะสม เมื่อเชื่อมโยงกับประเทศใกล้เคียง
"โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้บีโอไอต้องเข้ามามีบทบาท ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีโอกาสในการเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมการบิน ส่วนผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการ เช่น กลุ่มแอร์เอเชียที่จะใช้เป็นฮับในการซ่อมบำรุงตัวอากาศยาน โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อลดจุดอ่อน เนื่องจากปัจจุบันในประเทศไทยไม่มีศูนย์ซ่อมเครื่องบิน หากจะซ่อมเครื่องบินต้องนำเครื่องไปซ่อมที่ประเทศสิงคโปร์ การเปิดศูนย์ซ่อมการบินจะช่วยให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง" ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมการบินตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท หน่วยงานเกี่ยวข้องที่ร่วมดำเนินการ ประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กรมการบินพลเรือน ส่วนตัวสนามบินนครราชสีมา ปัจจุบันมีพื้นที่รวม 4,625 ไร่ สามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้งแบบ 737 และสามารถรองรับเครื่องบินที่เข้าจอดได้ 4 ลำ ตามเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมคาดหมายว่า ในปี 2558 จะเปิดให้บริการได้ในส่วนของงานศูนย์ซ่อมอากาศยาน
"ขณะนี้หลายประเทศให้ความสนใจมาลงทุนที่ประเทศไทย การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นการตอกย้ำถึงที่ตั้งของประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงไปทุกภูมิภาค" ประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ในการนำคณะนักลงทุนจากฝรั่งเศส เข้ามาศึกษาความพร้อมของ จ.นครราชสีมา ในเดือนมิถุนายน ของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ก็น่าจะตอกย้ำถึงศักยภาพของโครงการนิคมอุตสาหกรรมการบินต่อความเป็นได้
"ศูนย์อากาศยานซ่อมสร้างที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการประชุมติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และนี่คือสิ่งที่กระตุ้นให้นักลงทุนจากฝรั่งเศสให้ความสนใจต่อโครงการนี้ สำหรับฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญในเรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจที่สุดก็คือเรื่องนิคมอุตสาหกรรมการการบิน" ประเสริฐ กล่าว
"นิคมอุตสาหกรรมการบิน" จึงเป็นภาพการลงทุนอีกด้านหนึ่งที่จะสร้างโอกาสให้แก่นครราชสีมาเพิ่มมากยิ่งขึ้น
------------------------
(นิคมอุตฯการบินนครราชสีมา บิ๊กโปรเจกท์ดันไทยสู่ศูนย์กลาง : ทีมข่าวภูมิภาค ... รายงาน)