ต่อยอดผ้าไหมพื้นบ้านให้ชุมชน
ไลฟ์สไตล์ : ต่อยอดผ้าไหมพื้นบ้านให้ชุมชน
เป็นที่รู้ว่าผ้าไหมของไทยสวยเป็นที่หนึ่งเสมอ แต่ถ้าขาดการต่อยอด ขาดการสานต่อ และขาดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความสวยงามและเอกลักษณ์ของความเป็นไทยนี้คงจะค่อยๆ เลือนหายไป นั่นเองจึงเป็นที่มาให้เซ็นทรัลกรุ๊ป เล็งเห็นถึงความสำคัญของไหมไทยซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม จึงจัดโครงการ "พัฒนาชุมชนด้านผลิตภัณฑ์ไหมไทยพื้นบ้าน" สืบเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่ออนุรักษ์และสืบสานไหมไทยภูมิปัญญาที่ผสมผสานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันล้ำค่าของคนไทยให้เป็นมรดกสู่ลูกหลาน
ปิยพรรณ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป กล่าวว่า หลังจากได้รับความช่วยเหลือจากกรมหม่อนไหมในการเลือก 2 ชุมชนคือ หมู่บ้านหัวฝาย ต.ปอแดง อ.ชนบท และ หมู่บ้านหนองหญ้าปล้อง ต.โพนเพ็ก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เราจึงเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ศึกษาปัญหาและสำรวจความต้องการของชุมชน เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เราได้วางแผนงานโครงการเป็น 3 ช่วง เริ่มจากการให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องต่างๆ และเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ สร้างที่เก็บน้ำและวางระบบการส่งน้ำ เพื่อใช้ในแปลงหม่อนกว่า 80 หลัง สร้างโรงเลี้ยงไหมภายในครัวเรือนแบบประหยัด สร้างโรงย้อมไหม โรงเก็บวัฒถุดิบ จัดทำศูนย์เรียนรู้อย่างครบวงจร ช่วงสุดท้ายคือการติดตามและการประเมินผล
"อันนี้เป็นหนึ่งในโครงการซีเอสอาร์ของเซ็นทรัล โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่เราทำ ซึ่งได้ปรึกษาผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญว่าถ้าเราจะทำเรื่องของผ้าไหมต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ได้แนะนำมาเป็นอย่างดีและศึกษาจากคำแนะนำของอธิบดีกรมหม่อนไหมใน 2 ชุมชนนี้ พอเข้ามาเลยรับรู้ปัญหาและเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนมาถึงวันนี้ถือว่าครบวงจร แม้กระทั่งร้านค้าขายของในหมู่บ้านไม่ค่อยดีนัก การจัดวางไม่เหมาะสม นักท่องเที่ยวเขามาจึงดูไม่ค่อยเหมาะสม จึงเขามาปรับปรุงและเพิ่มศูนย์เรียนรู้กระบวนการจัดทำผ้าไหม ตั้งแต่การเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมสี การทอ ในทุกขั้นตอนที่เราได้จัดแสดงวิธีการทำอย่างใกล้ชิด เป็นการเพิ่มมูลค่าของผ้าไหมได้อย่างเป็นอย่างดี" ผอ.อาวุโส ในฐานะผู้ดูแลโครงการนี้แจงที่มาที่ไป
ในขณะที่ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง ทองเลิศ สอนจันทร์ เล่าให้ฟังว่า ในกลุ่มทอผ้าของชุมชนเรามีสมาชิก 50 คน รวมไปถึงคนที่มีเวลาว่างก็เข้ามาทอผ้า เข้ามาย้อมไหมรวมๆ ก็ประมาณ 160 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ต่างคนก็ต่างทำงานกันเองที่บ้าน หลังจากกลับจากการทำสวนและการทำนา พอทอผ้าไหมเสร็จก็จะฝากๆ กันไปวางขาย รายได้ก็ไม่ได้ต่อเนื่อง จนเมื่อมีการสนับสนุนจากเซ็นทรัลที่เขามาช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นเวลา 2 ปี พร้อมให้ความรู้และสร้างระบบการจัดการให้อย่างสมบูรณ์ ทำให้กลุ่มทอผ้าของเราทำงานกันอย่างมีระบบและมีทุนในการสร้างงานอย่างต่อเนื่อง
"ผ้าไหมที่มีชื่อของเราในจังหวัดขอนแก่นคือผ้าไหมมัดหมี่ และถ้าเอ่ยถึงผ้าไหมในหมู่บ้านหนองหญ้าปล้องก็ต้องการเป็นทอผ้าไหมด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ โดยเราใช้สีที่ได้จากธรรมชาติมาย้อมผ้า นั่นเองจึงเป็นจุดขายและจุดเด่นของผ้าไหมหนองหญ้าปล้อง เพราะสีจากธรรมชาติเป็นสีที่ย้อมแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน ผ้าแต่ละชิ้นที่ได้จากการย้อมจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีเพียงหนึ่งเดียว เป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มอย่างน้อยๆ ต่อเดือนก็มีรายได้เพิ่มจากการทำเกษตรกรรม 3,000-4,500 บาท อยู่ที่ความขยันของแต่ละคน ซึ่งถ้าขยันมากทอผ้ากันตลอดก็ได้มากกว่านี้มากทีเดียว" ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านหนองหญ้าปล้อง เล่าเป็นการปิดท้ายและความภาคภูมิใจในผืนผ้าไหมของตนเอง
ภายในวันเยี่ยมชมโครงการยังได้มีการทำพิธีเปิดร้านค้าและศูนย์เรียนรู้ชุมชนไหมไทยอย่างครบวงจรที่หมู่บ้านหนองหญ้าปล้อง โดยมี สุพัตรา จิราธิวัฒน์ ประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม และ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการขอนแก่น มาร่วมพิธีด้วย พร้อมกันนี้ยังจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมของหมู่บ้านทั้ง 2 ชุมชนด้วย