'พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา'
'พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา' แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ : พรสวรรค์ มีสุข ... รายงาน
จากยุคอดีตสู่ยุคปัจจุบันเมืองเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือตอนบน เป็นเมืองล้านนาที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 700 ปีและมีศิลปวัฒนธรรมมากมายที่ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลัง พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ข่วงแก้วที่นำเสนอความคิดเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมล้านนา อันโดดเด่นด้านความงดงามและมีรูปแบบที่หลากหลาย สะท้อนซึ่งภูมิปัญญาและความหมายที่แฝงเร้นมากับคติความเชื่อของบรรพชนล้านนา
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิด เพื่อสนับสนุนพื้นที่กลางเวียงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ รวบรวมทั้งสาระความรู้และศิลปวัฒนธรรมของชาวล้านนาในอดีตมานำเสนอสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาพักอาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่ นานขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางด้านศิลปะและภูมิปัญญาล้านนาที่เป็นรากฐานของเมืองเชียงใหม่ให้เข้าใจในคุณค่าของเมืองเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง
"ทัศนัย บูรณุปกรณ์" นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เล่าว่า เมื่อหลายปีก่อนเทศบาลนครเชียงใหม่ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่กลางเวียงเชียงใหม่ให้กลายสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งรวบรวมเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวล้านนามาไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนานี้ ก็เพื่อจะบูรณาการให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและส่งเสริมความรู้ เชิดชูศิลปวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก อีกทั้งยังอนุรักษ์เรื่องราวของประวัติศาสตร์ด้านศิลปะของอาณาจักรล้านนา ภูมิปัญญาทางศิลปะของผู้คนในอาณาจักรล้านนาจากยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ ต้องการให้เป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่งานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ ภูมิปัญญางานศิลป์ของล้านนา ช่วยกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นมีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอน เกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษาบ้านเมืองในระยะยาวเพราะอีกไม่นานเราจะละเมืองนี้ให้แก่ลูกหลานสืบไป เชื่อมโยงผสมผสานความงามต่างๆ ของล้านนาให้เข้ากับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่และหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังพยายามพัฒนาควบคู่ไปการกับโน้มนำนักธุรกิจของภาคเอกชนในพื้นที่เขตเมืองช่วยกันอนุรักษ์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจการให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์เมืองล้านนาไว้ รวมทั้งพัฒนาบริเวณใจกลางเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ให้เกิดคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์เมืองล้านนาในระยะยาว
"ทัศนัย" อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของคุ้มกลางเวียงเชื่อกันว่าเป็นส่วนที่ตั้งของ "วังหน้า" เพราะเป็นมรดกของเจ้าอุปราชสุริยะ เดิมเจ้าอุปราชสุริยะเตรียมถวายให้ใช้เป็นที่ทำการเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ ร.ศ.118 (พ.ศ.2442) แต่เนื่องจากเจ้าจอมมารดา ดารารัศมีได้มีพระประสงค์ทูลเกล้าฯ ถวายคุ้มกลางเวียงบางส่วนที่เป็นมรดกของพระองค์ให้รัฐบาล เพื่อจัดสร้างศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ (ปัจจุบันเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) ดังนั้นคุ้มส่วนนี้จึงตกทอดเป็นมรดกแก่เจ้าน้อยเลาแก้ว (เจ้าราชบุตร)
ต่อมาทางราชการขอซื้อเพื่อก่อสร้างที่ทำการศาลแขวง จังหวัดเชียงใหม่ แทนหลังเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนวรัฐ โดยพื้นที่ในส่วนนี้มีเนื้อที่ทั้งหมด 6 ไร่ 2 ตารางวา ซึ่งรวมทั้งหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ทั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่หนุนเสริมกันและมีพื้นที่ต่อเนื่องกัน โดยโน้มนำการอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่กลางเวียงเชียงใหม่ให้มีทิศทางที่เหมาะสมและเป็นการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพื่อเป็นการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ไปสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป ด้วยงบประมาณจากส่วนกลางราว 70 ล้านบาท
"จุฑาพร อินทวงส์" หัวหน้างานประชาสัมพันธ์และกิจกรรม ผู้มีหน้าดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา แนะนำว่า ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาจะนำเสนอข่วงแก้วล้านนาที่เป็นต้นความคิดของพุทธสถาปัตยกรรมล้านนา แนวคิดดั้งเดิมในเรื่องการปกป้องคุ้มครองโดยผี เทวดาอารักษ์ต่างๆ ผสมผสานกับพิธีกรรมที่เกิดขึ้น โดยแสดงให้เห็นถึงศิลปะของชาวล้านนาที่เกิดภายใต้ความศรัทธาทางพุทธศาสนา สถาปัตยกรรมของวิหารล้านนา การสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์อันมีที่มาจากความศรัทธาของชาวล้านนาต่อพุทธศาสนา รวมถึงรูปแบบการตกแต่งเครื่องสักการะอันงดงามแอบแฝงคามหมายทางพุทธิปัญญาของชาวล้านนาอยู่ด้วย
ภายในแต่ละห้องจะมีการจัดแสดงแตกต่างกันออกไป เช่น เครื่องสักการะล้านนาที่ประดิษฐ์ด้วยฝีมือมีลวดลายต่างๆ ที่นำมาจากคติความเชื่ออันสัมพันธ์กับเรื่องราวทางศาสนาและความเป็นสิริมงคล จิตรกรรมล้านนาฝาผนังของสกุลช่างเชียงใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อิทธิพลทางศิลปะจากอาณาจักรข้างเคียง รวมไปถึงงานจิตรกรรมบนวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะ การเขียนจิตรกรรมบนกระจกและการเขียนใบลาน การบันทึกองค์ความรู้แขนงต่างๆ ในอดีต เช่น จักวาลวิทยาการเมืองการปกครอง โหราศาสตร์ วรรณกรรม ตำรายา การสักยันต์ เมื่อได้สัมผัสถึงบรรยากาศในอาคารจะคล้ายว่าหลุดเข้าไปในยุคอดีตล้านนา มีการจำลองบรรยากาศจริงของประเพณีแห่ครัวทาน การขับซอ ประเพณี แอ่วสาวและเรื่องราวของดนตรีที่มีส่วนสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของล้านนา จนกระทั่งสัมผัสถึงอาหารการกินของชาวล้านนา ผ้าตีนจกแบบล้านนา เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์และสิ่งมีค่าอีกมากมายนานาชนิดที่ได้รวบรวมไว้ในที่แห่งนี้ด้วย
หากนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจอยากจะสัมผัสบรรยากาศล้านนาสามารถมาเที่ยวได้ ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-17.00 น. โดยมีอัตรค่าเยี่ยมชม คนไทยผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท และชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 90 บาท เด็ก 40 บาท หรือติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-5321-7793
--------------------------
('พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา' แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ : พรสวรรค์ มีสุข ... รายงาน)