ข่าว

'ม็อบยาง3ก.ย.'ส่อแผ่วปลายรัฐอุ้ม

'ม็อบยาง3ก.ย.'ส่อแผ่วปลายรัฐอุ้ม

03 ก.ย. 2556

'ม็อบยาง3ก.ย.'ส่อแผ่วปลาย รัฐอุ้มเกษตรกร-ดัดหลังพ่อค้า : สมชาย สามารถ / สุวรรณี บัญฑิศักดิ์ / กวินทรา ใจซื่อ

              แม้การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือบางส่วน จะไม่เข้าร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 กันยายนแล้วก็ตาม ทว่าอุณหภูมิความร้อนแรงของการเคลื่อนพลครั้งนี้ ยังน่าจับตามองไม่น้อย

              พลวัตสำคัญของการชุมนุมใหญ่อันเกี่ยวพันกับ "พืชการเมือง" อย่าง "ยางพารา" ในครั้งนี้ จึงมีการโฟกัสไปยังเฉพาะพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก

              พิกัดหลักของการชุมนุมที่น่าสนใจ ดีเดย์ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ณ บริเวณสหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โคอ๊อป) ริมถนนเพชรเกษม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

              "พิสัณห์ เหมาะประมาณ" ผู้จัดการสหกรณ์สุราษฎร์ธานี ยอมรับว่า ได้รับการประสานจากสมาคมชาวสวนยางและสวนปาล์มในพื้นที่ เพื่อขอใช้พื้นที่สนามหญ้าหน้าศูนย์อาหารภายในสหกรณ์ ซึ่งรองรับคนได้ประมาณ 1 หมื่นคน

              "ทางสมาคม โดย คุณมนูญ อุปลา ประธานสหกรณ์การเกษตรเวียงสระ จำกัด ประสานการขอใช้พื้นที่มาเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับการชุมนุมครั้งนี้ เป็นการขอใช้พื้นที่ตามปกติทั่วไปที่เปิดให้เกษตรกรสามารถมาขอใช้พื้นที่ได้ โดยมีเงื่อนไขในการใช้พื้นที่คือ การชุมนุมจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ หรือกิจการที่ตั้งอยู่ภายในสหกรณ์ ทั้งของสหกรณ์เอง และผู้เช่าพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนมาก หากทำให้เกิดผลกระทบจำเป็นต้องยกเลิกการใช้พื้นที่และให้ออกจากพื้นที่ทันที"

              เมื่อประเมินโครงสร้างของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งสะท้อนผ่านแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จ.กระบี่ รายหนึ่ง ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปสู่การประเมินขุมกำลังการชุมนุมครั้งนี้ได้ในระดับหนึ่ง

              แกนนำรายนี้เชื่อว่า จำนวนเกษตรกรที่จะเดินทางมาร่วมการชุมนุมที่โคอ๊อป จ.สุราษฎร์ธานี มีแค่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่มาก เนื่องจากไม่มีความชัดเจนว่า การชุมนุมจะดำเนินการอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน ทำให้จำนวนเกษตรกรที่เดินทางไปร่วมมีไม่มากเหมือนที่คาดการณ์ไว้

              ที่สำคัญในแง่ของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแกนนำในการชุมนุมครั้งนี้ ถือว่ายังมีจุดบอดพอควร โดยแกนนำเกษตรกรรายนี้บอกว่า ต่างไม่มีความคุ้นเคยกันมากนัก ทำให้การผนึกกำลังขาดพลังไม่น้อย

              "การเดินทางไปชุมนุมจึงเป็นแค่ความร่วมมือของเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ด้วยกัน ยิ่งหลังจากเกษตรกรชาวสวนยางในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก หยุดการเคลื่อนไหว เพราะต่างยอมรับในมาตรการการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยเฉพาะการสนับสนุนเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกรที่มีสวนยางไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 1,260 บาทต่อไร่ และมาตรการชะลอการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากการส่งออกยางพารา จาก 3 กิโลกรัม เป็นเวลา 4 เดือน นับจากวันที่ 2 กันยายนนี้"

              สอดรับกับแหล่งข่าวจากคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) รายหนึ่ง มองในระนาบเดียวกันว่า มาตรการช่วยเหลือเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยสำหรับสถาบันเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตยางเพื่อเพิ่มมูลค่าจำนวน 5,000 ล้านบาท และเงินกู้ผ่อนปรนให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยาง จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อดูดซับผลผลิตยางในตลาดที่โอเวอร์ซัพพลายอยู่ประมาณ 5 แสนตัน รวมถึงการนำยางในสต็อก 2.1 แสนตัน มาใช้สำหรับก่อสร้างถนนทั้งหมด ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเชื่อว่าจะทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางจากภาคอื่นๆ ยุติการชุมนุม

              เงื่อนไขอีกด้านที่สร้างความอ่อนยวบต่อการชุมนุมครั้งนี้ โดยพบว่า กำลังหลักที่เคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็นกลุ่มสถาบันเกษตรกรและกลุ่มพ่อค้าที่ซื้อยางไว้ในสต็อกจำนวนมาก แต่เมื่อรัฐออกมาตรการการช่วยเหลือที่เป็นการช่วยเหลือถึงมือเกษตรกรชาวสวนโดยตรง ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี ทำให้กลุ่มนี้ไม่ได้ประโยชน์ใดๆ กระทั่งต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลใช้วิธีแทรกแซง เพื่อจะได้ระบายสต็อกยางที่ซื้อไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ประมาณกิโลกรัมละกว่า 60 บาท

              "การชุมนุมครั้งนี้ เกษตรกรที่เป็นเกษตรกรชาวสวนยางจริงๆ ไม่ออกมาร่วมชุมนุม ทำให้การชุมนุมครั้งนี้มีจำนวนไม่มาก เหมือนเมื่อครั้งที่มีการปิดถนนสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เมื่อวันที่  11 มกราคม 2555 ถือเป็นการชุมนุมที่รุนแรงมาก แต่เนื่องจากกลุ่มที่ออกมาชุมนุมเป็นเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง เมื่อรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือให้เกษตรกรที่รับได้การชุมนุมก็สลายไปเอง"

              จึงไม่แปลกใจที่ "ฝ่ายสีกากี" จะให้ค่าการชุมนุมครั้งนี้แบบไม่ระทึกมากนัก โดย พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้ว่า จะมีการชุมนุม 5 จุด คือ บริเวณควนหนองหงษ์ และ ต.บ้านตูล บริเวณสหกรณ์โคอ๊อป อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ประมาณ 3,000 คน หน้าศาลากลางจังหวัดชุมพรประมาณ 300 คน หน้าศาลากลางจังหวัดกระบี่กว่า 300 คน และที่บริเวณศาลากลางจังหวัดตรังประมาณ 300 คน

              ขณะเดียวกัน เมื่อฟังจากข้อมูลของแกนนำบางส่วนต่างก็พูดไม่เต็มปากเต็มคำว่า มวลชนจะมากันชนิดมืดฟ้ามัวดินหรือไม่ เพียงคาดการณ์ว่า เฉพาะจากสุราษฎร์ธานีไม่น่าจะเกิน 5,000 คน รวมตัวเลขกลมๆ แบบคร่าวๆ จึงยืนแค่หลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น

              ทั้งหมดทั้งมวลจึงมองข้ามความปลอดภัยไม่ได้เช่นกัน เพราะอาจมี "ชนวนที่มองไม่เห็น" เข้ามาผสมโรง ย่อมทำให้การชุมนุมจุดติดลามทุ่งเอาง่ายๆ ได้เช่นกัน !!

 

สวนยางอีสาน... ชะตากรรมแขวนไว้กับรัฐ


              ในช่วงปี 2547-2555 คนภาคอีสานเข้าร่วมโครงการปลูกยางพาราเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ จำนวน 5 แสนไร่ จากพื้นที่รวมทั้งประเทศ 8 แสนไร่ ส่วนสถานการณ์ราคายางพาราในประเทศไทยเริ่มตกต่ำตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยการผลิตทั้งค่าปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และค่าแรงที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยเฉพาะปีนี้ขายแทบไม่คุ้มกับการลงทุน นำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวของเกษตรกรทั่วทุกภาค

              ดังนั้น ส่วนใหญ่หวังเพียงว่า ปีนี้จะมีเงินจากการขาย "ยางก้อนถ้วย" เหลือพอสำหรับซื้อปุ๋ยไว้บำรุงต้นในรอบที่ 2 ในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยไม่ต้องหยิบยืมจากใครให้หนี้สินเพิ่มขึ้น

              อย่างครอบครัวของ นางนิตยา วิเศษดี เกษตรกร ต.น้ำสวย อ.เมือง จ.เลย เตรียมพึ่งปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพแทนปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต หลังจากราคายางพาราก้อนถ้วยอยู่ที่กิโลกรัมละ 34-36 บาท ตั้งแต่ช่วงต้นปี จนไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายได้อีก

              กว่า 9 ปีที่นิตยาหันมาทำสวนยางพาราเพื่อหวังให้เป็นรายได้หลักอีกทางหนึ่งของครอบครัว พื้นที่ปลูกสวนยางกว่า 30 ไร่ เริ่มได้กรีดขายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โชคดีปีแรกราคายางก้อนถ้วยได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60-70 บาท จึงมีเงินเหลือเก็บไว้ลงทุนซื้อปุ๋ยในปีถัดมา รวมถึงใช้หนี้สินที่ยืมมาลงทุน ส่วนที่เหลือเก็บไว้ใช้จ่ายในครอบครัว

              “เงินลงทุนซื้อปุ๋ยมากที่สุด ปีหนึ่งลงทุนซื้อปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งละ 3 หมื่นบาท ได้ปุ๋ยประมาณ 1 ตัน นอกนั้นจะมีค่าน้ำมันเครื่องตัดหญ้า ค่าแรงงานแบ่งจากค่ากรีดยางในสัดส่วน 60 : 40 เมื่อปีที่แล้วเหลือเงินจากการขายยางประมาณ 8-9 หมื่นบาท มีเงินลงทุนซื้อปุ๋ย แต่ปีนี้ขายยางพารายังไม่ได้ทุน ไม่มีเงินเก็บไว้ซื้อปุ๋ยใส่รอบ 2 แม้แต่บาทเดียว หากรัฐบาลสามารถช่วยให้ราคาขายยางก้อนถ้วยอยู่ที่ 40 บาทขึ้นไป จะช่วยเกษตรกรได้ทั้งประเทศ แต่ก็ไม่ได้หวังให้ราคาได้ 60 บาทเหมือนที่ผ่านมา”

              ราคาที่ตกต่ำส่งผลให้เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการพยุงราคา ลดภาระให้แก่เกษตรกร ไม่ต่างจากเกษตรกรชาวสวนยาง จ.อุดรธานี อย่าง นายไกรทอง ผิวผ่อง ที่ต้องประสบปัญหาราคายางตกต่ำตั้งแต่ปีที่แล้ว พื้นที่ปลูกยางกว่า 30 ไร่ ถือเป็นรายได้หลักของครอบครัว ปีนี้ขายยางก้อนถ้วยได้เพียง 33-38 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 40-50 บาท จึงต้องการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลเรื่องราคาให้คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต

              “ปีที่แล้วราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่ 60-70 บาท ต่ำสุดที่กิโลกรัมละ 45 บาท ทำให้ปีที่แล้วมีกำไรไว้กินใช้ในครอบครัวประมาณ 1 แสนบาท มาปีนี้ถือว่าราคายางอาจจะไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก แต่ปีนี้ภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพราะปัจจัยการผลิตค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าอาหารการกิน รวมถึงค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ปีนี้เงินสำรองที่จะเก็บไว้ใช้ซื้อปุ๋ยก็ยังหาได้ไม่พอ ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าเล่าเรียนลูก เฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นบาท แต่ขายยางเฉลี่ยเดือนละ 2 หมื่นบาท ไม่พอใช้แน่ๆ”

              หลังจากเครือข่ายยุติการออกมาเคลื่อนไหว "ไกรทอง" ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะยื่นมาเข้ามาช่วยอย่างเป็นรูปธรรม


.................

(หมายเหตุ : 'ม็อบยาง3ก.ย.'ส่อแผ่วปลาย รัฐอุ้มเกษตรกร-ดัดหลังพ่อค้า : สมชาย สามารถ / สุวรรณี บัญฑิศักดิ์ / กวินทรา ใจซื่อ)