
โอกาสของแรงงานไทยในสหรัฐอเมริกา
สถานการณ์และโอกาสของแรงงานไทยในสหรัฐอเมริกา โดย : บรรณา วังวิวัฒน์ และภาณุพล รักแต่งาม สยามทาวน์ยูเอสรายงาน
ปัจจุบัน มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย และรัฐในเขตอาณาที่ สกญ. ดูแล 13 รัฐ (แคลิฟอร์เนีย, วอชิงตัน, เนวาดา, อริโซนา, โคโลราโด, ฮาวาย, โอเรกอน, ยูทาห์, อลาสกา, นิวเม็กซิโก, ไอดาโฮ, มอนตานา และไวโอมิง) ประมาณ 180,000-200,000 คน นับว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ หรือมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของคนไทยทั่วสหรัฐฯ
คนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ บางส่วนเป็นนักเรียน นักศึกษา และจำนวนมากเป็นผู้ประกอบอาชีพในสหรัฐฯ ซึ่งมีหลากหลายทั้งการเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ผู้ประกอบวิชาชีพ ลูกจ้าง ฯลฯ คนไทยที่เข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ส่วนมากจะเดินทางเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ เองโดยไม่ผ่านหรือแจ้งกระทรวงแรงงานฯ ทราบ ในปี ค.ศ.2009 มีแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางมาทำงานในสหรัฐฯ โดยผ่านกระทรวงแรงงานฯ จำนวน 364 คน นอกจากนี้ ยังมีคนไทยที่เดินทางมาเข้ามาทำงานในรูปแบบของ work and travel หรือการเข้ามาดูแลเด็กในโครงการ au pair และมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่ยอมเดินทางออกนอกประเทศสหรัฐฯ ภายหลังระยะเวลาการตรวจลงตราของสหรัฐฯ สิ้นสุดลง และเลือกที่จะหางานทำในประเทศนี้
กฎหมายการจ้างแรงงานต่างชาติของสหรัฐฯ
1. ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบัน การเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดในกฎหมาย Immigration Act 1990 โดยมีการแยกประเภทวีซ่าหรือการตรวจลงตราสำหรับบุคคลที่เข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ตามประเภทต่างๆ ที่สำคัญคือ
- วีซ่า H-1B เป็นวีซ่าคนเข้าเมืองที่ให้นายจ้างสามารถรับคนเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ได้ตามกฎหมายคนเข้าเมืองและสัญชาติของสหรัฐฯโดยคนต่างชาติจะสามารถทำงานได้ในอาชีพที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และเมื่อคนงานต่างชาติเปลี่ยนงานหรือถูกให้ออกจากงานเดิม คนงานต่างชาติต้องยื่นขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าหรือหานายจ้างใหม่ที่จะรับตนเข้าทำงานใหม่ มิฉะนั้นจะต้องเดินทางออกนอกประเทศสหรัฐฯ
- วีซ่า H-2A เป็นวีซ่าที่ออกให้แก่ลูกจ้างต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานด้านเกษตรกรรม
- วีซ่า H-2B (temporary nonagricultural worker) เป็นวีซ่าที่ออกให้แก่ลูกจ้างต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานที่มิใช่การเกษตร แต่เป็นงานตามโครงการ ตามฤดูกาล หรือชั่วครั้งชั่วคราว อาทิ การเข้ามาทำงานในโครงการก่อสร้างสนามบินที่เกาะกวม ทั้งนี้คนงานต่างชาติที่จะเข้าไปทำงานในโครงการนี้ที่จะได้รับการตรวจลงตราประเภท H-2B ในปัจจุบัน กระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจำกัดไว้เพียง 58 ประเทศไม่รวมประเทศไทย (ทั้งนี้ กระทรวงความมั่นคงภายในประเทศได้วางข้อยกเว้นว่า สำหรับคนชาติของประเทศที่ไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว หากกระทรวงฯ เห็นว่ามีความจำเป็นและเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ กระทรวงฯ ก็สามารถอนุญาตนำเข้าแรงงานประเทศนอกบัญชีได้เช่นกัน) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ จะยอมให้นำคนงานต่างชาติเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ได้ เพียงเมื่อเข้าเงื่อนไข 2 ประการ คือ
-ไม่ปรากฏว่า มีคนงานในสหรัฐฯ พอเพียงหรือมีความสามารถที่จะทำงานนั้นได้
-การจ้างแรงงานต่างชาติจะไม่กระทบต่อค่าจ้างหรือเงื่อนไขการจ้างงานของแรงงานสหรัฐฯ
กฎหมายว่าด้วยการจ้างงานที่เป็นธรรม (The Fair Labour Standards Act (FLSA)) พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายของรัฐบาลกลางออกใช้บังคับครั้งแรกในปี ค.ศ. 1938 และมีการแก้ไขรายละเอียดต่างๆ หลายครั้ง มีบทบัญญัติกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ การจ่ายค่าล่วงเวลา การใช้แรงงานเด็ก กฎหมายนี้ใช้บังคับทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐด้วย บทบัญญัติที่สำคัญรวมทั้ง
-อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลกลางเท่ากับ 7.25 เหรียญสหรัฐ (หมายถึง ทุกรัฐจะออกกฎหมายให้ค่าจ้างขั้นต่ำต่ำกว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ แต่สามารถกำหนดให้สูงกว่าได้)
-ค่าล่วงเวลาหลังจากทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เท่ากับ 1.5 เท่าของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามปกติ
-ลูกจ้างที่ได้รับค่าทิป จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 2.13 เหรียญต่อชั่วโมง หากค่าทิปรวมกับค่าแรงไม่ถึง 7.25 เหรียญ ให้นายจ้างต้องจ่ายค่าส่วนต่าง
กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองลูกจ้างภาคการเกษตร (The Migrant and Seasonal Agricultural Workers Protection Act : AWPA or MSPA) กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานภาคเกษตรกรรมทั้งการขนส่ง ที่พัก ค่าจ้าง เงื่อนไขการจ้างงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างภาคเกษตรกรรม และกำหนดให้สัญญาจ้างแรงงานลูกจ้างภาคเกษตรกรรมต้องได้รับใบรับรองจากกระทรวงแรงงาน (The Foreign Labor Certification) ของสหรัฐฯ ด้วย โดยที่ลูกจ้างภาคเกษตรกรรมในสหรัฐฯ เป็นสาขาที่ขาดแคลนแรงงาน ลูกจ้างภาคเกษตรกรรมเป็นลูกจ้างที่ทำงานหนักที่สุด และมักอยู่อาศัยในพื้นที่ชนบทจึงมักมีข่าวการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนกับลูกจ้างภาคการเกษตรโดยเฉพาะลูกจ้างต่างชาติ และการกดขี่แรงงานด้านนี้กลายเป็นประเด็นระดับชาติในเรื่องการค้ามนุษย์เสมอ ตลอดจนเคยมีคดีครึกโครมเรื่องการค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ คดีแรงงานไทยกับบริษัทโกลเบิ้ลโฮไรซอน ซึ่งนำแรงงานเข้ามาทำงานไร่เกษตรกรรมในรัฐฮาวาย สหรัฐฯ ในระหว่างปี 2004-2005 มากกว่า 1,100 คน และนายจ้างให้ทำงานโดยจ่ายค่าแรงงานต่ำกว่ากฎหมาย งานไม่เป็นไปตามสัญญาและทำงานได้ไม่นานก็ปล่อยลอยแพคนงานหรือนำแรงงานไทยไปเร่ขายหรือทำงานให้กับนายจ้างในรัฐอื่นๆ จนเกิดการฟ้องร้องคดีใหญ่เป็นข่าวไปทั่วโลกเนื่องจากคดีนี้ เป็นคดีค้ามนุษย์ที่มี “เหยื่อ” มากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน
2. แนวโน้มของการจ้างแรงงานต่างชาติและแรงงานไทยในสหรัฐฯ ในอนาคต
2.1 สถานการณ์ความต้องการแรงงานต่างชาติ
โอกาสของแรงงานต่างชาติรวมทั้งแรงงานไทย ขึ้นกับเหตุปัจจัยหลักสองประการ คือ
2.1.1 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ
จากตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ล่าสุดในเดือนเมษายน 2013 พบว่า มีคนอเมริกันที่ยังประสบปัญหาการว่างงานประมาณ 11.7 ล้านคน หรือราวร้อยละ 7.5 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากตัวเลขการว่างงานที่ขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 9.63 ในปี 2010 และค่อยๆ ดีขึ้นในปี 2011 และ 2012 ตามลำดับ
2.1.2 ความต้องการแรงงานต่างชาติในสาขาที่ขาดแคลน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ แต่มีความต้องการแรงงานมากในสาขาที่ขาดแคลน โดยเฉพาะ สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ ประมาณกันว่า ในแต่ละปีเศรษฐกิจสหรัฐฯ สร้างตำแหน่งงานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ถึง 120,000 ตำแหน่ง ซึ่งต้องการคนจบปริญญาตรี แต่ปัจจุบันมีการผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้เพียงปีละ 51,000 คนเท่านั้น ในปี 2013 รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมอนุมัติวีซ่า H-1B แก่แรงงานต่างชาติทักษะสูงถึง 65,000 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงานทักษะสูงในประเทศนี้
นอกจากนี้ในภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ก็มีความต้องการแรงงานเข้าทำงานจำนวนมากเช่นกัน
2.2 ร่างกฎหมายปฎิรูป Immigration กับการจ้างแรงงานต่างชาติในอนาคต
ภายหลังจากการได้รับเลือกตั้งของประธานาธิบดี บารัก โอบาม่า เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน นายโอบาม่าได้ประกาศนโยบายที่จะปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองและเรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายปฏิรูประบบตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่ซึ่งได้รับการพิจารณาโดยวุฒิสมาชิก 8 คนจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลีกัน และพยายามผลักดันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ได้ภายในปี ค.ศ.2013 นี้ การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ทั้งสองพรรคพร้อมทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสถานภาพการอยู่อาศัยของลูกจ้างต่างชาติ และการรับคนเข้าเมืองในสหรัฐฯ แต่ก็มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างชาติ คือ
-แก้กฎหมายให้บริษัทสหรัฐฯ สามารถจ้างแรงงานต่างชาติในสาขาที่จำเป็นและขาดแคลนได้ง่ายขึ้น
-มีการจัดตั้งโครงการ guest worker สำหรับแรงงานต่างชาติในงานก่อสร้าง งานโรงแรม และร้านอาหาร ต้องการคนงานที่ใช้แรงงาน งานเหล่านี้มักขาดแคลนคนงาน เพราะคนอเมริกันไม่สนใจที่จะทำ ร่างปฏิรูปจะเสนอให้มีวีซ่าดังกล่าวเพื่อนำคนงานจากต่างประเทศเข้าทำงานชั่วคราวในตำแหน่งที่ขาดแคลนคนงาน ในขั้นตอนแรกจำนวนวีซ่าจะกำหนดให้ปีละ 20,000 ราย และเพิ่มเป็น 35,000 รายในปีที่สอง 55,000 รายในปีที่สาม 75,000 รายในปีที่สี่ สำหรับปีที่ห้าจำนวนวีซ่าอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับอัตราการว่างงาน จำนวนวีซ่าสูงสุดอนุมัติให้มีไม่เกิน 200,000 รายต่อปี
-เพิ่มวีซ่าสำหรับคนงานที่มีความรู้ความสามารถสูง H-1B เป็นวีซ่าทำงานสำหรับคนต่างชาติ ซึ่งปัจจุบัน กำหนดโควต้าให้ปีละ 65,000 ราย ปรากฎว่าโควต้าดังกล่าวไม่เพียงพอกับความต้องการของบริษัทด้านเทคโนโลยี เช่น ไมโครซอฟท์ อินเทล ออราเคิ้ล และกูเกิล บริษัทเหล่านี้ได้พยายามรณรงค์ให้เพิ่มจำนวนวีซ่า H-1B ร่างปฏิรูปกฎหมายอิมมิเกรชั่นจะกำหนดให้เพิ่มจำนวนวีซ่าทำงานขึ้นอีกเท่าตัว คือ ประมาณ 130,000 รายต่อปี
วิเคราะห์โอกาสของแรงงานไทยเน้นรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐทางภาคตะวันตกของสหรัฐฯ
ถึงแม้จะมีโอกาสที่ดีสำหรับแรงงานต่างชาติที่จะเข้าทำงานในสหรัฐฯ มากขึ้น หากการปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองประสบความสำเร็จ แต่กล่าวในภาพรวม โอกาสของแรงงานไทยที่จะเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2013-2014 ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่เท่าใดนัก เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวให้โอกาสกับแรงงานต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน และยังมีอุปสรรคและข้อจำกัดในการเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ หลายประการ กล่าวคือ
3.1 ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เป็นตลาดเสรี มีการแข่งขันสูง สหรัฐฯ ไม่มีวิสาหกิจใดทำหน้าที่รับแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะเช่นประเทศในตะวันออกกลาง เกาหลีใต้หรือไต้หวัน จึงไม่มีประเทศใดสามารถจัดส่งแรงงานจำนวนมากเข้ามาในสหรัฐฯ ได้ หากจะนำแรงงานวิชาชีพเฉพาะ อาทิ พ่อครัว คนทำสปาจากไทยเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ การดำเนินการก็เป็นเรื่องของทางภาคเอกชน การส่งเสริมการนำเข้าแรงงานไทยจึงทำได้โดยการจัดทำข้อมูลข่าวสารด้านแรงงานให้กับภาครัฐหรือภาคเอกชนในโอกาสต่างๆ
3.2 แนวโน้มการเข้ามาทำงานของกลุ่มวิชาชีพอิสระมีมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดแคลนแรงงานประเภทมันสมอง แต่ตลาดด้านนี้ ก็มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ และการเข้ามาทำงานของกลุ่มวิชาชีพ อาทิ แพทย์ พยาบาล วิศวกร การประกอบอาชีพเหล่านี้ สหรัฐฯ กำหนดโควตาในการเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ นอกจากนี้ กลุ่มวิชาชีพเหล่านี้จะต้องมี license อนุญาตให้ประกอบอาชีพในสหรัฐฯ
อนึ่ง แม้แต่อาชีพที่คนไทยรับจ้างทำงานกันมาก อาทิ ตามร้านนวดแผนโบราณ รัฐส่วนมากก็กำหนดให้หมอนวดต้องมีใบอนุญาต จึงจะประกอบอาชีพได้ถูกต้องตามกฎหมายในรัฐนั้น
3.3 ปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองของคนไทยในสหรัฐฯ โดยมากเดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยอาศัยวีซ่าท่องเที่ยว แต่ไม่ยอมเดินทางกลับเมื่อวีซ่าท่องเที่ยวหมดอายุ และแอบเข้าทำงานในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะตามร้านอาหาร ซึ่งในแคลิฟอร์เนีย คนงานในร้านอาหารไทยจำนวนมากเป็นแรงงานที่ไม่มีใบเขียว (green card) หรือใบอนุญาตให้มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ ทำให้มีการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และมีการฟ้องร้องระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างเป็นประจำ
3.4 ร้านอาหาร โอกาสที่ร้านอาหารไทยจะขยายตัวในสหรัฐฯ ยังมีอีกมาก เพราะคนสหรัฐฯ นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน และนิยมอาหารต่างชาติ อาหารไทยเองก็ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ อย่างสูง แต่โอกาสของแรงงานไทยที่จะเดินทางจากประเทศไทยเข้ามาทำงานร้านอาหารไทยมีไม่มาก เพราะมีแรงงานไทยในสหรัฐฯ ทำงานตามร้านอาหารจำนวนมากอยู่แล้ว ส่วนพ่อครัวแม่ครัวไทยถึงแม้จะขาดแคลน และร้านอาหารต่างๆ ต้องการตัวหรือแย่งตัวกันมาก แต่การนำพ่อครัวแม่ครัวไทยเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องยุ่งยากทางกฎหมายมาก เพราะติดเงื่อนไขการต้องพิสูจน์ว่า หาคนทำอาหารไทยไม่ได้ และค่าจ้างต้องสูงกว่าแรงงานหรือคนครัวสหรัฐฯ (ดูที่กล่าวในข้อ 1.1 ตอนท้าย) ซึ่งจำต้องอาศัยการดำเนินการจ้างทนายความดำเนินการให้ ผ่านการขอวีซ่าประเภท H-1B หรือ E2 (วีซ่าตามประเทศที่มีสนธิสัญญากับสหรัฐฯ) นอกจากนี้ ที่ผ่านมา พ่อครัวแม่ครัวจะจ้างจากคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯอยู่แล้ว มีพ่อครัวแม่ครัวไทยจำนวนน้อยมากที่ได้วีซ่าเข้ามาทำงานคนครัวโดยตรง ที่ผ่านมา พ่อครัวแม่ครัวที่จ้างมาจากประเทศไทย หากมีโอกาสก็มักจะเปลี่ยนนายจ้างใหม่เสมอ ซึ่งอาจถือว่าผิดเงื่อนการจ้างงาน หากไม่ได้ไปขอวีซ่าใหม่ ก็อาจทำให้สถานะการเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายได้
3.5 ค่าแรงขั้นต่ำในหลายเมืองสำคัญในรัฐแคลิฟอร์เนียสูงกว่าที่กำหนดโดยรัฐบาลกลางอยู่แล้ว และกำลังจะขยับตัวสูงขึ้น อาทิ ในลอสแอนเจลิส ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มเป็น 8.25 ดอลลาร์ในปี 2013 8.75 ดอลลาร์ในปี 2014 และในปี 2015 จะเพิ่มเป็น 9.25 ดอลลาร์ ในซานฟรานซิสโก ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 10.55 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2013 (ถือเป็นเมืองที่ค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในสหรัฐฯ) ในซานโฮเซ่ 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.2013 เนวาด้า กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 8.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง รัฐวอชิงตัน กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 9.19 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง โอเรกอน 8.95 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง การที่ค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นตามเมืองใหญ่ทำให้ธุรกิจต่างๆ มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น และได้รับการต่อต้านจากองค์กรนายจ้างอย่างมาก จนมีความกังวลว่า กฎหมายนี้จะทำให้นายจ้างไม่รับคนงานเพิ่มเติมหรือไม่ขยายกิจการ รวมทั้งถ้าแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวก็อาจปิดกิจการไปเลย กล่าวสำหรับโอกาสของแรงงานไร้ฝีมือไทยที่เข้ามาทำงานถูกหรือผิดกฎหมายในธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากย่อมได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากับผู้ประกอบการเช่นกัน
3.6 การใช้ประโยชน์จากสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ (Treaty of Amity and Economic Relations) ลงนามเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1966 ตามสนธิสัญญาไมตรีฉบับนี้ บุคคลและนิติบุคคลของสหรัฐฯและไทย ที่จะเข้ามาลงทุนหรือประกอบกิจการในแต่ละประเทศจะได้รับการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นฝ่ายได้ประโยชน์อย่างมากจากสนธิสัญญาไมตรีฯ เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านธุรกิจบริการและการลงทุน จึงมีบุคคลและนิติบุคคลเข้ามาลงทุนในไทยและใช้สิทธิจากสนธิสัญญาไมตรีฯ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสิทธิที่อนุญาตให้บุคคลและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ถือหุ้นกิจการในไทยได้ 100% (ขณะที่กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวของไทยกำหนดให้บุคคลและนิติบุคคลของต่างประเทศมีสิทธิถือหุ้นกิจการในไทยได้ไม่เกิน 49%) ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทของสหรัฐฯ กว่า 1,000 แห่ง ใช้สิทธิตามสนธิสัญญาไมตรีฯ เข้ามาลงทุนหรือประกอบกิจการในไทย ขณะที่ บริษัทฝ่ายไทยใช้สิทธิลงทุนหรือเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ ตามสนธิสัญญาดังกล่าวน้อยมาก
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ปัจจุบันนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งซบเซามาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และมีท่าว่าจะฟื้นตัวได้แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ก็มีความเด่นชัด อีกทั้งการแก้กฎหมายคนเข้าเมืองที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ เป็นการปฎิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ผู้ล่วงลับได้ผ่านกฎหมายคนเข้าเมืองในปี ค.ศ. 1986 ซึ่งในครั้งนั้น นำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกว่า 2.7 ล้านคน ถ้าหากร่างกฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ผ่านเป็นกฎหมายเมื่อใด (ขณะเขียนบทความนี้ร่างกฎหมายผ่านวุฒิสภาของสหรัฐฯ แล้ว กำลังพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร) ย่อมมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและปริมาณของลูกจ้างต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ อย่างมาก
แต่เมื่อพิเคราะห์ดูในแง่อานิสงส์ที่จะเกิดกับแรงงานไทยแล้ว มีไม่มากนัก เพราะต้องเผชิญการแข่งขันจากแรงงานของทุกชาติ แต่อานิสงส์หรือประโยชน์เต็มๆ ที่แรงงานไทยจะได้รับหากกฎหมายปฏิรูปคนเข้าเมืองผ่านเป็นกฎหมาย คือ สถานภาพของคนไทยจำนวนมากที่อยู่และทำงานโดยผิดกฎหมายในประเทศนี้จะได้รับการรับรองตามกฎหมายใหม่ทันที หากเป็นไปตามเงื่อนในร่างกฎหมายฉบับใหม่ (อาทิ เดินทางมายังอเมริกาก่อนวันที่ 31 ธันวาคมปี 2011 และพำนักอยู่ในสหรัฐมาตลอด ไม่ได้พึ่งสวัสดิการของรัฐ เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย และเงื่อนไขอื่นๆ)
ร่างกฎหมายปฏิรูปคนเข้าเมืองซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2013 จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม และลุ้นให้คนไทย ลูกจ้างไทยได้สิทธิการทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
..................
เกี่ยวกับผู้เขียน : บรรณา วังวิวัฒน์ นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิต ปริญญาโทกฎหมายทะเลจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ทุนรัฐบาล เคยประจำการที่สถานเอกอัครทูตไทย ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบอนน์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน อิหร่าน ปัจจุบัน กงสุล สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส
............................
(หมายเหตุ : สถานการณ์และโอกาสของแรงงานไทยในสหรัฐอเมริกา โดย : บรรณา วังวิวัฒน์ และภาณุพล รักแต่งาม สยามทาวน์ยูเอสรายงาน)