
เป็นโสดทำไม
เป็นโสดทำไม : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล
มีเพลงของสุรพล สมบัติเจริญ เพลงหนึ่ง ซึ่งหนุ่มๆ สมัยก่อนชอบร้องกัน นั่นก็คือเพลง “เป็นโสดทำไม” ซึ่งพูดถึงประโยชน์และความสุขของการมีคู่ครอง เช่น “เป็นโสดทำไมกลุ้มใจในยามร้อนรน ควรหาคนรักสักคนไว้เปรอปนช่วยพัดวีให้ เมื่อเข้าหน้าฝนมีคนคู่เคียงชิดใกล้ กอดกันให้ผ้าห่มอิจฉา” หรือ “เป็นโสดทำไมใครใครที่เขารักกัน สุขศรีอยู่ทุกวี่วัน หอมแก้มกันหวานมันเป็นบ้า เจ็บป่วยจาบัลย์ป้อนน้ำ ข้าว กันเห็นหน้า มีลูกแทนหูแทนตาได้ชื่อว่ารักชาติชูเชิด” ซึ่งตรงท่อนที่ว่ามีลูกแล้วได้ชื่อว่ารักชาตินี้ น่าจะสะท้อนนโยบายของรัฐบาลในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ต้องการเพิ่มประชากรของประเทศ
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งทัศนคติต่างๆ จนมีแนวโน้มว่าคนในตัวเมือง โดยเฉพาะที่มีการศึกษาและมีหน้าที่การงาน มักจะไม่นิยมการแต่งงาน แต่สมัครใจที่จะใช้ชีวิตอิสระตามลำพัง ซึ่งถ้าพูดจาประสาชาวบ้านก็คือ ไม่ได้หนักศีรษะใคร เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของแต่ละคน เนื่องจากบางคนอาจจะเคยประสบกับปัญหาบิดามารดาแตกแยกจนเกิดความเข็ดขยาดการมีครอบครัว บางคนอาจมีความสุขกับการทำงาน บางคนไม่อยากจะเอาชีวิตไปผูกพันกับใคร บางคนก็ยังไม่พร้อมที่จะรับภาระ รวมทั้งความเสมอภาคในการศึกษาและการประกอบอาชีพ ทำให้สตรีไทยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยฝ่ายชายเช่นในอดีต เป็นต้น
การผลักดันให้คนแต่งงานนั้น ไม่ใช่เรื่องที่คิดกันขึ้นมาใหม่ แต่มีหลายประเทศทำกันมานานแล้ว ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ความต้องการแรงงาน ต้องการขยายพื้นที่ หรือต้องการขยายเผ่าพันธุ์ของตนเพื่อประโยชน์ทางการปกครองและการเมือง แม้กระทั่งในบางประเทศที่คนมีการศึกษาดี มีเศรษฐกิจดี แต่ไม่นิยมแต่งงาน ทำให้รัฐบาลต้องหาทางให้คนหนุ่มสาวจับคู่กัน โดยใช้มาตรการทางภาษีหรือสวัสดิการสังคม
สำหรับประเทศไทยเรานั้น พูดตามตรงแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรที่จะต้องเข้าไปยุ่งในมุ้งของชาวบ้าน ทั้งๆ ที่มีภาระและปัญหาของบ้านเมืองอีกมากมายที่รัฐบาลควรจะต้องรีบดำเนินการแก้ไข และที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากสักแต่คิดและสักแต่ทำ สุดท้ายแล้วก็จะเป็นการสร้างปัญหาระยะยาวแก่สังคมและประเทศชาติ ทั้งในเรื่องประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ทรัพยากรและที่ดินทำกินที่ลดลง นอกเหนือจากเรื่องของการศึกษา การรักษาพยาบาล การประกอบอาชีพฯ และการมีครอบครัว หากเกิดปัญหาขึ้น ก็ใช่ว่าจะปล่อยให้ถูกยึดเมียเหมือนยึดรถคันแรก แต่ปัญหานั้นจะติดตัวสามีภรรยา ลูก และสังคม ตลอดไป
ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมขณะนี้ ผมคิดว่าแทนที่จะเร่งให้คนสละโสด รัฐบาลควรจะรณรงค์ตามนโยบาย 3 ช้า ของเหมาเจ๋อตุง คือ รักกันช้าๆ แต่งงานกันช้าๆ และมีลูกช้าๆ จะเป็นคุณแก่ประเทศมากกว่า
ไหนๆ ขึ้นคอลัมน์ด้วยเพลงลูกทุ่งแล้ว ก็ขอจบด้วยเพลงของ เพลิน พรหมแดน ที่ว่า “เมืองไทยเรานั้นนับแต่วันแย่ลงทุกที อีกไม่กี่ปีคงไม่มีที่ทำนาไร่ ช่วยกันช่วยคุมกำเนิด อย่าให้ลูกเกิดมาล้นเมืองไทย จะแข่งอะไรแข่งไปขอเพียงอย่าได้สร้างลูกแข่งกัน”