ข่าว

'กรณ์VSชัชชาติ'มองต่างมุม'เงินกู้2ล้านล้าน'

'กรณ์VSชัชชาติ'มองต่างมุม'เงินกู้2ล้านล้าน'

04 ต.ค. 2556

'กรณ์VSชัชชาติ'มองต่างมุม'เงินกู้2ล้านล้าน' : รายงาน

           หลังจากสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) แล้วนั้น ขั้นตอนจากนี้คือการนำเข้าสู่ที่ประชุมของวุฒิสภาในวาระแรก ในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2556 ซึ่งคาดว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมา และน่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 60 วัน หรือ ราว 2 เดือน โดยระหว่างนี้ฝ่ายรัฐบาลเตรียมออกเดินสายโรดโชว์ ชี้แจง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในจังหวัดต่างๆ ขณะที่ในซีกของฝ่ายค้านก็ออกเดินสายนำเสนอแผนการลงทุน 2 ล้านล้านบาท เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่รัฐบาล และเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

           รายการ "บิสซิเนส ทอล์ก" ทางกรุงเทพธุรกิจทีวี ได้เชิญ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.การคลัง และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ร่วมดีเบตนอกสภาในเรื่องดังกล่าว

           นายกรณ์ กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ผ่านวุฒิสภาได้ในราวเดือนพฤศจิกายน จากนั้นทางฝ่ายค้านจึงจะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตามในหลักการของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ฝ่ายค้านเห็นตรงกันกับรัฐบาล จะเห็นได้ว่า ในสมัยรัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีแผนการลงทุนรถไฟทางคู่ 17 สาย แต่เมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้ถูกระงับการลงทุนไปนาน 2 ปี แต่รัฐบาลปัจจุบันก็นำแผนการลงทุนรถไฟทางคู่เดิมมาบรรจุในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทด้วย 11 สาย นอกจากนี้สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ยังมีแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง เป็นการร่วมลงทุนกับรัฐบาลจีนในเส้นทาง หนองคาย-กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ตลอดจนการลงทุนรถไฟฟ้ามหานคร

           แต่ประเด็นที่คัดค้านจะมี 2 ส่วน คือ ที่มาของตัวเงิน และการลงทุน โดยในส่วนที่มาของเงินลงทุนนั้น ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกว่า รัฐบาลจะแสวงหาเงิน 2 ล้านล้านบาท ด้วยการกู้ยืมเงินทั้งหมด และเป็นการกู้ยืมด้วยการออกกฎหมายพิเศษ ที่อยู่นอกระบบงบประมาณ

           ประเด็นนี้ได้บอกแต่แรกแล้วว่า มั่นใจว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการที่ขาดความโปร่งใส เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น และนำมาซึ่งความล่าช้าในการลงทุนเมื่อเทียบกับงบประมาณปกติ ขณะที่วงเงินงบประมาณก็มีเหลือเฟือพอที่จะรองรับทุกโครงการในแผน 2 ล้านล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายพิเศษแต่อย่างใด

           “เรามองว่าเป็นวิธีการที่ขาดความโปร่งใส ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เอื้อต่อการทุจริต คอร์รัปชั่น และมีผลอย่างร้ายแรงกับหลักวินัยทางการคลังของประเทศอีกด้วย”

           นอกจากนี้รัฐบาลยังอ้างว่า การคมนาคมขนส่งของประเทศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอยู่ในระดับต่ำ แต่รัฐบาลไม่ได้พูดความจริงทั้งหมด เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว ขีดความสามารถด้านอื่นต่ำกว่า และมีผลต่อขีดความสามารถของประเทศมากกว่า เช่น การศึกษา มาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข และประสิทธิภาพของเกษตรกรไทย เป็นต้น

           ดังนั้นจึงเห็นว่าเมื่อมีเงิน 2 ล้านล้านบาท และจะทุ่มเงินเพื่ออนาคตประเทศไปสู่ปี 2020 นั้น ควรจะทุ่มเงินมากมายไปกับกระทรวงคมนาคมกระทรวงเดียวหรือไม่ ซึ่งเราคิดว่าไม่ได้ตอบโจทย์นั้น เราจึงมีแผน “อนาคตไทยเข้มแข็ง 2020” เสนอเป็นทางเลือกให้รัฐบาลสามารถหยิบยกไปใช้ได้ โดยจัดสรรงบประมาณด้านการคมนาคม 1.2 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท เป็นการจัดสรรให้พัฒนาด้านการศึกษาและงานวิจัย อีก 2 แสนล้านบาท พัฒนาระบบการดูแลด้านสาธารณสุขด้วยการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลทั่วประเทศ 1.2 หมื่นแห่ง และอีก 2 แสนล้านบาท เพื่อการพัฒนาระบบชลประทาน เพื่อลดความจำเป็นที่ทุกรัฐบาลต้องชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งน้ำให้เกษตรกร เพิ่มพื้นที่ชลประทานให้อีกเท่าตัว

           ส่วนการลงทุนที่ถูกตัดออกไปที่สำคัญคือ ใน 2 โครงการหลัก คือรถไฟความเร็วสูง 4 สาย และมอเตอร์เวย์ 3 สาย เนื่องจากรัฐบาลยังศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การออกแบบยังไม่แล้วเสร็จ เช่น เส้นทางสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง หรือกรุงเทพฯ-พัทยา ยังไม่แน่นอน รัฐบาลเพิ่งเริ่มศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้เอง และเส้นทางอื่นก็อยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่รู้ว่าลงทุนแล้วคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ ประเทศชาติหรือประชาชนได้ประโยชน์จากการลงทุนนี้หรือไม่ แต่เราเห็นว่าโครงการนี้จำเป็นต้องมีการศึกษา จึงจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาและการเวนคืนที่ดินเท่านั้นราว 3 หมื่นกว่าล้านบาท ลดลงจากที่รัฐบาลจัดสรรงบไว้ทันทีเลย 8 แสนล้านบาท เพื่อให้มั่นใจว่าเงินลงทุนที่จะใช้มีความคุ้มค่า หากศึกษาแล้วพบว่ามีความคุ้มค่าจริง รูปแบบการลงทุนก็จะเปิดให้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงให้แก่รัฐบาลไทย และต้องทบทวนเส้นทางใหม่ลงทุนใหม่ด้วย

           “ในส่วนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง 8 แสนล้านบาท เหมือนรัฐบาลขอวงเงินกู้เป็นเช็คเปล่าไว้ก่อนเท่านั้น เพราะขณะนี้ยังไม่มีการลงไปศึกษา เตรียมแผนในรายละเอียด และยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งตามแผนของรัฐบาลกว่าจะเริ่มคงใช้เวลาเป็นปี แต่ขอสิทธิในการกู้ก่อน 8 แสนล้านบาท แต่ไม่มีใครเขาทำกันแบบนี้ เป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้องกับเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งในระบบงบประมาณคุณจะมาขอเงิน คุณจะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าโครงการเหล่านี้มีความพร้อม คุ้มค่าต่อการใช้เงินของประชาชน เราจึงจัดสรรงบศึกษาและเตรียมเวนคืนที่ให้เท่านั้น เมื่อศึกษาแล้วให้ครบถ้วนถึงมาขอเงินทีหลัง”

           ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลยังไม่มีความพร้อมกับการลงทุนในรถไฟความเร็วสูงเลย ซึ่งในปีหน้ารัฐบาลใช้เงินกับโครงการนี้เพียง 33 ล้านบาท ทั้ง 4 เส้นทาง

           นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีข้อผูกมัดเพียงอย่างเดียวคือ หากใครจะกู้ต้องกู้ได้ไม่เกิน 2 ล้านล้านบาทเท่านั้น ส่วนการลงทุนโครงการอะไรบ้างจะไม่มีการผูกมัด ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะเห็นได้ว่า ในตัว พ.ร.บ.เองว่าด้วยเรื่องการกู้เงินทั้งสิ้น ไม่มีบรรจุในเรื่องโครงการลงทุนว่ามีอะไรบ้าง จึงไม่เป็นข้อผูกมัดแต่อย่างใด แต่หากจะให้เป็นการผูกมัดจริงจะต้องเปลี่ยนให้เป็นกฎหมายการลงทุน แล้วในกฎหมายต้องบังคับว่าใครเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่จะต้องลงทุนอย่างไรเพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องจริงๆ

           ในกรณีที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่สามารถผ่านไปได้ และหากรัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนสามารถลงทุนผ่านงบประมาณปกติได้ ซึ่งปี 2557 รัฐบาลจะใช้งบจากการลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพียงแสนกว่าล้านบาทเท่านั้น ก็สามารถเสนองบกลางปีเพื่อของบประมาณมาใช้เพียงแสนล้านบาท ก็สามารถทำได้ จึงไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการลงทุนในโครงการนี้ ดังนั้น แม้ไม่มีพ.ร.บ.ฉบับนี้ การลงทุนตามแผนของกระทรวงคมนาคมสามารถเดินหน้าแผนการลงทุนได้แน่นอน

           ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า การออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลได้หารือกับสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งถือว่าเป็นที่ปรึกษากฎหมายของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ดังนั้นในแง่หลักการของกฎหมายทำให้มั่นใจว่าเรามีที่ปรึกษาที่เป็นกลาง และต้องเรียนว่าไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ในที่สุดก็จะต้องดำเนินการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการ แต่การที่รัฐบาลตัดสินใจมาทางนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจในระยะยาว

           "หากเรานำงบส่วนนี้ไปผูกพันไว้ 7 ปีในงบประมาณปกติ จะทำให้ไม่ยุติธรรมนักสำหรับรัฐบาลต่อไป อาจจะมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ เขาอาจจะไม่มีงบประมาณเพียงพอ จึงคิดว่าทางเลือกนี้น่าจะเป็นหนทางที่ดี มีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจได้"

           ส่วนกรณีแผนรองรับแผนการลงทุน 2 ล้านล้านบาท กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และคุ้มครองนั้น ในส่วนนี้เราได้มีการหารือกันบ้าง แต่ยังจะมุ่งไปทางนี้ก่อน ซึ่งในส่วนของคมนาคมก็เดินหน้าศึกษาต่อไป ซึ่งเห็นว่าในปีแรกไม่น่าจะมีปัญหากับการลงทุนกว่าแสนล้านบาท แต่ในปีที่ 3-4 คงต้องดูอีกทีว่าจะใช้เงินจากส่วนไหน

           โดยในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น นอกจากร่างกฎหมายแล้ว ยังมีเอกสารประกอบการพิจารณาในโครงการลงทุนหลักๆ ซึ่งมีกว่า 50 โครงการ โดยเป็นโครงการแผน 7 ปี ซึ่งแผนลงทุนที่มีความพร้อมลงทุนในปีหน้าจะใช้งบกว่าแสนล้านบาท ในรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง มอเตอร์เวย์ เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช และการซ่อมแซมถนน 4 เลน ทั้งสายใต้และสายเหนือ ปีที่ 2 จะใช้งบประมาณราว 2 แสนล้านบาท ส่วนปีที่ 3-4 จะใช้งบประมาณมากขึ้นเป็นปีละราว 4 แสนล้านบาท โดยยืนยันว่าเรามีการศึกษาในทุกด้าน ศึกษาความเป็นไปได้

           อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายอนุมัติกรอบเงินกู้เท่านั้น ส่วนโครงการลงทุนจะต้องมีการศึกษาตามกรอบกฎหมายทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่ ครม.อีกครั้ง

           ในเรื่องการป้องกันการคอร์รัปชั่นนั้น ไม่คิดว่าหากใช้เงินในงบประมาณปกติจะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง ซึ่งทางรัฐบาลจะมีมาตรการดูแลที่เข้มข้น จะไม่มีการลดขั้นตอนใดๆ และมีการดำเนินการตามกฎหมายตามปกติ นอกจากนี้เรากำลังร่างระเบียบสำนักนายกฯ ที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ยังมีหลักเกณฑ์เรื่องการเปิดเผยราคากลาง และในขั้นตอนการดำเนินงานจะต้องควบคุมอย่างเข้มข้น ส่วนสภาเองก็สามารถตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบได้ ถือเป็นระบบที่มาถ่วงดุลกันอยู่แล้ว

           “การหารือร่วมกับภาคเอกชนถือว่าจะเป็นการร่วมกันช่วยยกระดับประเทศในด้านความโปร่งใส แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศได้ ซึ่งเราเรียกว่าเป็นทีมไทยแลนด์”

           รมว.คมนาคมกล่าวด้วยว่า แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศเป็นนโยบายไว้แล้วตั้งแต่ตั้งรัฐบาล โดยการที่เรากู้เงินก็เพื่อเป็นการลงทุนทั้งสิ้น ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์โครงการ ความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า ตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน แต่หากเราศึกษาแล้วเป็นไปไม่ได้เราก็ต้องยอมรับ เราไม่มีการใช้จ่ายสุรุ่ยยสุร่าย เพราะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

           ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญในด้านการศึกษานั้น หากดูในงบประมาณรายปีของเราจะพบว่า 20% เราลงทุนในเรื่องการศึกษา 10% ในเรื่องสาธารณสุข และ 4% มาที่คมนาคมขนส่ง แต่แม้ว่าการที่เราทุ่มเงินลงทุนในด้านการศึกษาแล้วยังมีคำถามว่าจะแก้ปัญหาของชาติได้จริงหรือไม่ ซึ่งกลับมองว่าปัญหาจริงแล้วอยู่ที่ระบบมากกว่า ดังนั้นในด้านการศึกษาเราต้องมาปรับในด้านแนวคิด สาธารณสุขก็มาปรับเรื่องการบริหารบุคลากรให้มีความเข้มข้นขึ้นมากกว่า

           ส่วนกรณีที่อาจเกิดปัญหาเศรษฐกิจโลกถล่มทลาย การอนุมัติแต่ละโครงการก็จะต้องดูอีกครั้ง แต่เรามั่นใจว่าทุกโครงการที่เรานำเสนอนั้นสามารถทำได้และมีความคุ้มค่าแน่นอน เพื่อการพัฒนาอนาคตของประเทศใน 7 ปีข้างหน้า

............


(หมายเหตุ : 'กรณ์ VSชัชชาติ'มองต่างมุม'เงินกู้2ล้านล้าน' : รายงาน)