ข่าว

อดีตรมว.คลังจวกรบ.วางนโยบายศก.ผิด

อดีตรมว.คลังจวกรบ.วางนโยบายศก.ผิด

17 ต.ค. 2556

'ทนง'จวกรัฐดำเนินนโยบายพลาดฉุดศก.โตช้า 'ณรงค์ชัย' ห่วงติดกับดักภาระหนี้ทั้งภาคครัวเรือน-รัฐ ขณะที่ 'สมคิด'4เสาหลักเริ่มทรุดพร้อมกัน‏

              17ต.ค.2556 นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในภาวะซึมตัวและเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สาเหตุมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยในส่วนของปัจจัยภายในนั้น ส่วนหนึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจประเทศขาดศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะการเติบโตในระยะยาว ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบประเทศไทยก็ไม่ต่างจากคนที่เป็นเบาหวาน

              “รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รัฐอาจจะมองผิดแนวทาง ทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ปัจจุบันเราไม่ได้มีปัญหาการว่างงาน ทุกคนมีงานทำ แถมยังต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ทั้งดอกเบี้ยก็ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เงินเฟ้อก็ไม่ได้สูง แต่เศรษฐกิจกลับโตน้อย จึงต้องถามว่านโยบายที่ทำมาถูกต้องหรือไม่”นายทนงกล่าว

              เขากล่าวว่า นโยบายการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ซึ่งทำในช่วงที่ไม่ได้มีปัญหาการว่างงานนั้น ไม่ต่างจากการแจกเงินไปฟรีๆ ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร และเวลานี้เศรษฐกิจไทยก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำแบบนั้น ที่เศรษฐกิจไทยต้องการในขณะนี้ คือ การเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและการแข่งขัน ซึ่งเวลานี้เราละเลยเรื่องดังกล่าวไปค่อนข้างมาก

              สำหรับความสามารถการแข่งขันของไทยในปัจจุบันนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออกหรือการบริโภค ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากที่เคยทำไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เช่น อุตสาหกรรรถยนต์ ซึ่งเราต้องคิดว่า อุตสาหกรรมนี้จะยังอยู่กับเราไปนานแค่ไหน เพราะปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านเราก็พัฒนาศักยภาพขึ้นมา จนเป็นที่น่าจูงใจสำหรับผู้ลงทุน

              “ในที่สุดแล้วการพัฒนาภาคเกษตรและอุตสาหกรรมไม่ได้อยู่ในครรลองคลองธรรมที่ถูกต้อง โดยเฉพาะภาคเกษตรหากเรายังเน้นการพัฒนาส่งออกสินค้าในขั้นปฐมภูมิ สุดท้ายแล้วเราก็จะแพ้ประเทศเพื่อนบ้านที่เขาพยายามพัฒนาขึ้นมา ซึ่งเขามีพื้นที่และมีค่าแรงที่ถูกกว่า ดังนั้นมันมีสินค้าบางอย่างที่เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสินค้าเหล่านั้นให้สามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นมาให้ได้”นายทนงกล่าว

              นอกจากนี้ นายทนง ยังกล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวด้วยว่า ที่มีคนพูดตัวเลขผลขาดทุนปีละ 1 แสนล้านบาทนั้น เขามองว่าถ้าเงินจำนวนนี้ถูกเปลี่ยนเป็นการชำระดอกเบี้ย เท่ากับว่ารัฐบาลจะสามารถกู้เงินได้ถึง 2 ล้านล้านบาท และถ้าเงินจำนวนนี้ถ้าถูกนำไปใช้ในภาคเกษตร จะสามารถแจกจ่ายให้กับประชากรในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เช่น การซื้อเครื่องจักรซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต ทั้งยังลดประชากรในภาคเกษตรลง และหันไปสู่ภาคอื่นๆ เช่น ภาคบริการและอุตสาหกรรมเพิ่ม

              “ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรในภาคเกตรรวมกว่า 30-40% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เขามีประชากรกว่า 130 ล้านคน แต่มีประชากรในภาคเกษตรแค่ 5% เท่านั้น และ 5% นี้ก็สามารถผลิตสินค้าเกษตรเพื่อคนกว่า 130 ล้านคน เพราะเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพในการผลิต”นายทนงกล่าว

              ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น ตั้งแต่ปี 2551 การลงทุนต่างประเทศในประเทศไทยเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนต่างประเทศมองว่าประเทศไทยขาดเสถียรภาพทางการเมือง มีการเพิ่มค่าแรงงานขึ้นมา 300 บาท มีการเพิ่มต้นทุนการผลิต ดังนั้นนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน เขาก็ต้องมองเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมองว่า เราจะวางตัวเองอย่างไร จะแข่งกับประเทศที่กำลังตามเรา หรือแข่งกับประเทศที่เรากำลังตามเขาอยู่

              สำหรับปัจจัยภายนอกนั้น นายทนง กล่าวว่า เรื่องปัญหาเพดานหนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อไทยเท่ากับแผนการลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลสหรัฐคงไม่ยอมปล่อยให้ปัญหาเพดานหนี้นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้(Default) ขึ้น แต่หากสหรัฐลดมาตรการคิวอีลง คงส่งผลกระทบกับไทยในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายแน่นอน

              นอกจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลง ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับปัจจุบันคู่แข่งขันของไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเริ่มคิดในเรื่องแล้วนี้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร อย่างกรณีของเวียดนามเอง ปัจจุบันโทรศัทพ์สมาร์ทโฟนของซัมซุงมีการผลิตจากเวียดนามถึง 50%


“ณรงค์ชัย”มองเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ

              นายณรงค์ชัย อัครเศรณี หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า สุขภาพของประเทศไทยในเวลานี้ แม้ไม่เป็นโรคร้าย แต่ก็ไม่ได้แข็งแรง สาเหตุเพราะเศรษฐกิจมีความอ่อนไหวง่าย เนื่องจากมีการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศมากเกินไป สะท้อนผ่านระบบการค้าขายที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1.5 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติจึงได้รับผลกระทบไปด้วย ขณะเดียวกันประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ รวมทั้งโครงสร้างประชากรเริ่มมีความไม่ความสมดุล โดยประชากรวัยทำงานลดน้อยลง

              สำหรับอาการที่น่าเป็นห่วงของประเทศ คือ เรื่องภาระหนี้ ซึ่งเกรงว่าอนาคตไทยอาจติดกับดักหนี้ได้ ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ โดยหนี้ครัวเรือนนั้น ปัจจุบันมีสัดส่วนใกล้ 80% ของจีดีพี สาเหตุเป็นเพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายของสังคมเปลี่ยนไป เริ่มใช้จ่ายเกินตัวมากขึ้น ขณะที่ความสามารถการหารายได้มีจำกัด

              ส่วนหนี้สาธารณะ ถือเป็นอีกประเด็นที่น่าห่วง โดยในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเริ่มเป็นห่วงว่าหนี้สาธารณะของภาครัฐอาจเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 60% ของจีดีพีได้ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายประชานิยม ทำให้เกิดวัฒนธรรมการทวงสิทธิที่ควรจะได้ขึ้น
 

“สมพล”ติงการบริการงานภาครัฐยังมีข้อบกพร่อง

              นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้กำลังเป็นโรคทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเวลานี้กำลังเป็นที่พูดถึงกันมาก ขณะที่ภาครัฐเองก็มีข้อบกพร่องในเชิงของการบริหารงานเป็นอย่างมากด้วย ซึ่งต้องบอกว่าสังคมไทยนั้น เงิน คือ อำนาจ และคนในสังคมก็มักบูกชาคนที่มีเงินและมีอำนาจโดยไม่สนใจว่าผู้คนเหล่านั้นได้เงินหรืออำนาจมายังไง

              นอกจากนี้ เขายังห่วงการใช้จ่ายของภาครัฐ เพราะการก่อหนี้สินจำนวนมาก ในขณะที่การหารายได้ยังไม่ดีนัก ก็น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต

              เขากล่าวว่า การบริหารงานของภาครัฐที่น่าจะมีข้อบกพร่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุคคลากรภาครัฐ ซึ่งในที่นี้หมายถึงเรื่องการเมืองและระบบข้าราชการทั้งหมด โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่า ความไม่ชัดเจนเรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับบุคคลที่เป็นข้าราชการที่ไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญของประเทศ ทั้งที่ตำแหน่งนั้นควรเป็นตำแหน่งของผู้ที่มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งจะเห็นว่าคนที่เป็นมืออาชีพและอยู่ในตำแหน่งที่ควรได้ในปัจจุบันมีน้อยมาก

              “การใช้จ่ายของภาครัฐก็เช่นกัน จะเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ที่รุนแรงกว่า คือ ประสิทธิภาพของการใช้จ่าย เพราะเราใช้จ่ายในสิ่งที่ฟุ่มเฟือยเป็นอย่างมาก และที่จ่ายไปก็มีแต่ปริมาณไม่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันภาครัฐแม้มีการกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานที่มาก แต่การปฎิบัติจริงมักสวนกับที่กำหนดไว้”นายสมพลกล่าว


"สมคิด"เตือนศก.เริ่มออกอาการ4เสาหลักทรุดพร้อมกัน‏


              นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เท่าที่เห็นพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ รู้สึกเป็นห่วงและอยากส่งสัญญาณเตือนภัยตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะปัญหาที่สะสมมานานและไร้การแก้ไขอย่างจริงจังเริ่มออกอาการ ซึ่งในระยะต่อไปคาดว่าจะฉุดรั้งให้ประเทศก้าวเข้าสู่ความถดถอยหากไม่มีการแก้ไข จะกลายเป็นเหมือนอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ที่เศรษฐกิจถดถอยและมีความล้มเหลวในทุกมิติ จากบาป 3 ประการ

              ประการแรก คือ การบริหารประเทศที่ผิดพลาด ประการที่สอง คือ การฉ้อราษฎบังหลวง และ ประการที่สาม คือ เมื่อรู้ว่าประเทศก้าวเข้าสู่ความถดถอยแต่ขาดการปฏิรูปแก้ไข ทำให้ทำลายต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ระบบเศรษฐกิจล้มเหลว ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

              นายสมคิด กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นแบบเดียวกับฟิลิปปินส์หรือไม่นั้น อาจจะให้คำตอบไม่ได้ แต่เริ่มเห็นอาการทรุดของเศรษฐกิจพร้อม ๆ กัน ของ 4 เสาหลัก คือ ภาคการส่งออก การบริโภคในประเทศ ภาคการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาล ในระยะสั้นนั้น ไม่เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ แต่หากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจจะฟื้นขึ้นได้เช่นกัน แต่เป็นการเติบโตที่เปราะบาง

              ทั้งนี้มองว่าเป็นปัญหาทางด้านโครงสร้าง เนื่องจากการแข่งขันของประเทศถดถอย การบริโภคในประเทศก็แย่ เพราะ จีดีพีเฉลี่ยต่อหัวของคนไทยจริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่อยู่เพียง 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งถือว่าจนมาก แล้วจะเอาอะไรมาเป็นอำนาจในการซื้อ

              "ถ้าเราไม่มีการปฏิรูปการศึกษา เอาแต่กระตุ้นๆ ยังไงคนก็ยังจน ผนวกกับความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยที่สูง ต่อให้มองว่าไทยเป็นเพชรเม็ดงามของอาเซียน แต่คนก็ไม่กล้าที่จะเอาเงินเป็นแสนล้านบาทมาฝากไว้"นายสมคิดกล่าว

              เขากล่าวด้วยว่า การใช้จ่ายภาครัฐเริ่มมีอาการเช่นกัน ปัจจุบันงบขาดดุลการค้าอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ภาษีที่เก็บได้ก็เริ่มเห็นสัญญาณว่าจะน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงการลดการเก็บภาษีนิติบุคคลลง ทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดที่จะนำเงินมาใช้ ซึ่งมีข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นอยู่แล้ว แต่ทำไมเราจึงยังไม่ปฏิรูป เนื่องจากการเมืองของเราเป็นเหมือนสนามรบ การทำอะไรต้องคำนึงถึงความอยู่รอด ทำให้นโยบายที่ออกมาเป็นนโยบายในระยะสั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีแต่ทำแล้วก็เลิกไม่ได้ เพราะส่งผลต่อฐานเสียง

              นายสมคิดกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานแข็งแรงมาตั้งแต่ในอดีต แต่มันเริ่มเปราะบางลงเรื่อย ๆ ซึ่งอาการที่เริ่มเห็นสัญญาณเหล่านั้นยังแก้ไขได้ ต้องเริ่มต้นที่ผู้นำ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมาก ผู้นำต้องรู้สถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร หากไม่รู้ต้องหาคนที่รู้มาพูดให้ฟังและต้องรู้วิธีการแก้ปัญหา ทั้งนี้ผู้นำจะต้องใช้คนเป็น เอาคนเก่งมาทำงาน และต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง คิดเอง

              สิ่งที่ภาครัฐจะต้องสร้าง คือ 1.การสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้น ใครว่าอย่างไรต้องรับเพื่อนำมาแก้ไข เชื่อว่าภาครัฐมีคนเก่งที่จะเข้ามาบริหารจัดการประเทศให้ดีขึ้นได้ 2.จิตสำนึกของนักการเมืองที่คิดความอยู่รอดของตน ต้องเป็นการคิดเพื่อประโยชน์ของประเทศ และ 3. คือภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ที่สามารถตีกรอบประชาธิปไตยได้

              "อย่าคิดว่าเศรษฐกิจดี เพราะอาจดีแต่ภายนอก แต่เสาหลักผุกร่อน ถ้าไม่มี 3 ข้อนี้ จะได้เห็นแน่นอน ความเสื่อมถอยผุกร่อนของประเทศ น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไข ถ้าปล่อยไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ในขณะที่ชาติอื่นๆในอาเซียนกำลังขึ้น แต่เราจะสวนทางลงอย่างรวดเร็ว เป็นการเสียโอกาสประเทศไทย ถ้าเรายังไม่ทำอะไร ถ้าจำบทกลอนที่เรียนตอนประถมได้ ขึ้นต้นด้วยว่า วังเอ๋ยวังเวง ถ้าเราไม่แก้ไขวันนี้ ความวังเวงนั่นแหละ คือ ชีพจรของประเทศไทย"นายสมคิดกล่าว