ถมทะเลหาดพัทยาแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง?(1)
ถมทะเลหาดพัทยา แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง? (1) : ธนภัท กิจจาโกศล ... รายงาน
"หาดพัทยา" เมื่อ 50 ปีก่อนเคยมีหาดทรายทอดยาวลงไปในทะเลกว่า 35 เมตร ตลอดแนวชายหาดเกือบ 3 กิโลเมตร จนได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยและทำรายได้มากถึงปีละ 9 หมื่นล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวปีละ 8-9 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันสภาพของชายหาดพัทยาเริ่มเปลี่ยนไป หลังมีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่นที่ยื่นล้ำลงไปในพื้นที่ทะเลเพิ่มขึ้นจากในอดีตส่งผลให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดทุกปี จนปัจจุบันเหลือหาดทรายในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นเฉลี่ยไม่ถึง 5 เมตร เนื่องจากทุกปีชายหาดจะถูกกัดเซาะไปถึงปีละเกือบ 1 เมตร หลายฝ่ายจึงหาแนวทางแก้ปัญหานี้เพราะเกรงว่าในอนาคตหาดพัทยาจะไม่เหลือให้เห็นอีกด้วยวิธีการถมทะเลหาดพัทยาใหม่ทั้งหาด
"รณกิจ เอกะสิงห์" รองนายกเมืองพัทยา บอกว่า หลังโครงการผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้วก็ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการโครงการโดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2557-2558 ด้วยงบประมาณ 450 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานดำเนินการ หลังมีการศึกษาปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2537 และช่วงปี 2544-2547 ก็ไม่ได้รับการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กระทั่งช่วงที่ผ่านมาเมื่อปัญหารุนแรงขึ้นและดำเนินการขั้นตอนและวิธีการหลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงไปศึกษาปัญหานี้อย่างจริงจัง 4-5 ปี จึงได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการโครงการนี้
"ในช่วงเวลาน้ำขึ้นสูงบางช่วงแทบไม่เป็นชายหาด ดังนั้นรูปแบบก็มีการนำทรายมาถมตามวิธีที่มีการศึกษา โดยทำตั้งแต่พัทยาเหนือ กลาง ไปถึงพัทยาใต้ รวม 2.7 กิโลเมตร" นายรณกิจ กล่าวและว่า ส่วนการแก้ปัญหาเบื้องต้นเมืองพัทยาอนุมัติงบประมาณเร่งด่วน 16 ล้านบาทเพื่อถมทะเลในโครงการนำร่อง เพื่อแก้ปัญหากัดเซาะชายหาดพัทยาเหนือ ระยะ 29 เมตร ซึ่งมีการกัดเซาะรุนแรงนั้น ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบสภาพความเป็นจริงของชายหาดดังกล่าว ระยะ 200 เมตร ที่มีการดำเนินการไปก่อนหน้านี้ในช่วงระยะเวลา 1 ปี พบว่าหาดที่ถมใหม่ถูกกัดเซาะจนเหลือเพียงกระสอบบิ๊กแบ็กขนาดใหญ่เป็นแนวยาวที่มีการเสริมไว้เท่านั้น บางช่วงมีการกัดเซาะทรายที่ถมไว้จนทำให้ระนาบของชายหาดไม่เท่ากัน เป็นจุดตัดลึกบิ๊กแบ็กบางส่วนเสียหาย ที่ยังเหลือก็กลายเป็นที่นอนอาบแดนของนักท่องเที่ยว
ขณะที่ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาปัญหาดังกล่าว ระบุว่า เริ่มศึกษากับกรมเจ้าท่าด้วยการเสริมทรายหรือเติมทราย เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน ถือเป็นแห่งแรกในไทยที่จะดำเนินการรูปแบบนี้ โดยก่อนหน้านี้จะมีการทำที่หัวหิน เมื่อศึกษาแล้วเห็นควรทำที่พัทยาก่อน หลังจากประสบความสำเร็จแล้วจึงจะนำไปทำในพื้นที่อื่นๆ หลังศึกษาเป็นเวลานานพบข้อมูลที่พัทยาชัดเจนถึงปัญหาการกัดเซาะ จนสรุปที่จะดำเนินการโครงการนี้
"ที่พัทยาไม่ใช่ครั้งแรกของปัญหาการกัดเซาะ แต่ปัญหาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2534-2535 ที่เคยมีการศึกษาและเตรียมทำในปี 2537 แต่ไม่ผ่านอีไอเอ และมาทำอีกช่วงปี 2544-2547 ซึ่งก็ไม่ผ่านอีก จนค้างมาถึงปัจจุบัน" ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวและว่า ในช่วงออกแบบต้องใช้ทราย 360,000 คิว ใช้เวลาดำเนินการ 8 เดือน โดย 5 เดือนเตรียมงานและ 3 เดือนทำจริง การนำทรายมากองไว้ในทะเลใช้เวลา 3-4 เดือนจะต้องมีการทำคันกันตะกอนเพื่อสูบทรายเข้ามา ให้มีผลกระทบชาวบ้านให้น้อยที่สุด โดยเริ่มจากพัทยากลาง แบ่งทำเป็นปล้อง ปล้องละ 100 เมตร และขยายออกไปฝั่งพัทยาเหนือและใต้พร้อมๆ กัน โดยเนื้องานจะใช้เวลา 8 เดือน แต่หากให้ต่างชาติที่เชี่ยวชาญซึ่งมีเทคโนโลยีต่างกัน เช่น บริษัทที่ทำที่เกาะบาหลีจะใช้เวลาแค่เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น
ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาระบุให้มีการทำกระสอบทรายเพื่อทำเป็นบัพเบอร์โซนระยะ 15 เมตรจากฝั่ง จากระยะทรายที่นำมาเติมทั้งหมด 35 เมตร ซึ่งจะยอมให้มีการกัดเซาะในช่วง 20 เมตร หากขยายมาถึงบัพเบอร์โซนก็จำเป็นที่ต้องเติมทรายเสริมใหม่เข้าไป คาดว่าจะต้องทำทุก 10-14 ปี ซึ่งกระสอบทรายหรือแท่งไส้กรอก เป็นบัพเบอร์โซนที่จะเตือน ป้องกันกรณีพายุเข้า หาดจะได้ไม่เสียหาย อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีเสริมทรายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ประเทศเยอรมนีดำเนินการ ซึ่งใช้เวลาถึง 20 ปี จึงประสบความสำเร็จ แต่สำหรับไทยซึ่งถือเป็นแห่งแรกอาจต้องศึกษา เก็บข้อมูลและปรับปรุงไปเรื่อยๆ
สำหรับโครงการถมทะเลนำร่องเมืองพัทยาก่อนหน้านี้ ซึ่งเวลาเพียง 1 ปี ทรายที่ถมถูกกัดเซาะไปหมดเหลือแต่กระสอบทรายบิ๊กแบ็กที่นำมาเสริมเป็นบัพเบอร์โซนนั้น ศ.ดร.ธนวัฒน์ ชี้แจงว่า เป็นคนละโครงการกันและดำเนินการเองโดยเมืองพัทยาไม่มีการศึกษาเช่นโครงการนี้ หลายฝ่ายมองว่าเป็นโครงการเดียวกันซึ่งมีผลกระทบการทำงานเช่นกัน เนื่องจากมีการศึกษาและผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วชัดเจน
ด้านนายเรวัติ โพธิ์เรียง หัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สำนักงานพัทยา จ.ชลบุรี บอกว่า โครงการถมทะเลบริเวณชายหาดพัทยาจะดำเนินการภายในระยะ 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำทีโออาร์ ของสำนักวิศวกรรม กรมเจ้าท่า เพื่อกำหนดรายละเอียดและการจ้างเหมา สำหรับการถมทะเลพัทยาในโครงการนี้จะเป็นรูปแบบของการเสริมทรายให้ชายหาดพัทยาเหนือ-พัทยาใต้ ทั้งหาด เพื่อให้มีความกว้างของชาดหาดอยู่ที่ระยะ 35 เมตร เหมือนกับชายหาดพัทยาในอดีต
"ชายหาดพัทยาปัจจุบันช่วงเวลาที่น้ำขึ้นเต็มที่จะเหลืออยู่ประมาณ 5 เมตรจากชายฝั่งเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อให้มีชายหาดคงอยู่ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาจะมีการเสริมกระสอบทรายลักษณะคล้ายไส้กรอก ซึ่งทำจากใยสังเคราะห์คุณภาพดี ในระยะ 12 เมตรแรกจากชายฝั่ง และถมทรายเสริมทับไว้ โดยจะมีการขนทรายมาทางเรือ ประมาณ 3.8-5.0 แสนคิว นำมากองไว้กลางทะเล ห่างจากฝั่งประมาณ 1.5-2.0 กม. แล้วใช้เรือพ่นทรายเข้าสู่ชายฝั่งให้ได้ชายหาด 35 เมตร" นายเรวัติ กล่าว
---------------------------
(ถมทะเลหาดพัทยา แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง? (1) : ธนภัท กิจจาโกศล ... รายงาน)