ข่าว

'หมอประเวศ'แนะ'รบ.-ม็อบ'หันหน้าคุยกัน

'หมอประเวศ'แนะ'รบ.-ม็อบ'หันหน้าคุยกัน

12 พ.ย. 2556

'หมอประเวศ' แนะ 'รัฐบาล-กลุ่มผู้ชุมนุม' ต้องเรียนรู้อย่าใช้อำนาจเกินขอบเขต แนะหันหน้าพูดคุยกันเพื่อหาข้อยุติ

 

                      12 พ.ย.56 ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีมวลชนหลายกลุ่มออกมาการชุมนุมทางการเมือง ว่า เรื่องการชุมนุมของประชาชนหลายฝ่ายนั้นเริ่มต้นจากการต่อต้านพ.ร.บ. ซึ่งตนเห็นว่าปรากฏการณ์นี้สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายน่าจะได้เรียนรู้มากขึ้น ถือเป็นกำไรของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการใช้อำนาจ ฝ่ายรัฐบาลซึ่งถือว่ามีอำนาจทั้งการเมือง การเงิน การสื่อสาร ด้านการใช้กำลัง การใช้มวลชน

                      แต่การที่มีกำลังมากแล้วถลำตัว ใช้กำลังมากเกินไปจะเกิดการถลำตัว จนเกิดการต่อต้านขนานใหญ่อย่างที่เกิดขึ้น คิดว่ารัฐบาล หรือส.ส. น่าจะได้บทเรียนว่าถึงแม้จะมีเสียงข้างมากเราก็จะทำตามใจตัวเองไม่ได้เสมอไป ต้องดูว่าถูกต้องหรือไม่

                      ส่วนประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆที่ออกมาชุมนุมนั้นก็ได้เรียนรู้ว่าความเข้มแข็งของสังคมนั้นเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตของประเทศ จะช่วยหยุดยั้งความไม่ถูกต้องได้ แต่การที่คนมาชุมนุมมากจะเกิดความฮึกเหิม แต่เป็นเรื่องยากที่จะหยุดคิด เพราะฉะนั้นหากทำอะไรเกินเลยไปก็จะเหมือนกับฝ่ายรัฐบาล การทำอะไรเกินเลยไปจะนำไปสู่ความผิดพลาดได้

                      ดังนั้นเห็นว่าแต่ละฝ่ายควรจะหันหน้ามาพูดคุย ทำความตกลงกัน โดย ข้อ 1. เรื่องการไม่ผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเรื่องนี้จบไปแล้ว 2. ตกลงกันสร้างพลังพลเมืองให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งหากเกิดพลังพลเมืองเต็มประเทศแล้วประเทศไทยจะเจริญมาก ไม่ใช่มาปะทะกัน บาดเจ็บล้มตายประเทศไม่ได้อะไร ตรงนี้รัฐบาลจะต้องเป็นผู้สนับสนุนพลังพลเมืองให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การเมืองดีขึ้น 3. รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น โดยเปิดโอกาสให้องค์กรต้านคอรัปชั่นเข้ามาตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ 4. อะไรที่เป็นความสำคัญของบ้านเมือง รัฐบาลต้องปรึกษากับพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และภาคประชาชนเพื่อร่วมมือกันทำในสิ่งที่ อะไรที่ไม่ดีก็ทักท้วงกันได้ เรียกว่าทำงานเป็นทวิพรรค ซึ่งในประเทศไทยไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน แต่ถ้าตกลงตามนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย

                      “สถานการณ์ตอนนี้มาถึงจุดพลิกผันแล้ว พลิกผันไปสู่อะไร ด้านหนึ่งคือการพลิกผันไปสู่มิคสัญญีกลียุคที่คนไทยปะทะกันและเกิดการล้มตายเป็นเบือ หรือเกิดได้คิดว่ามาร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เพราะการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยาก ประเทศไทยมีความไม่ยุติธรรมโดยพื้นฐานมานาน ก่อนที่คุณทักษิณจะมาสู่การเมือง มีมาเป็นร้อยๆปีแล้ว อย่าไปคิดสั้นๆ เฉพาะส่วน และมันเปลี่ยนแปลงได้ยากเรื่องความไม่เป็นธรรม มันอยู่ในจิตสำนึก เพราะบ้านเมืองไม่เป็นธรรมมานานจนคนขาดจิตสำนึกของความเป็นธรรม และอยู่ในโครงสร้างการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ โครงสร้างความยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม โครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม เรื่องนี้ทำยากนอกจากจะเกิดพลังของพลเมือง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องระวังอย่าให้มันพลิกผันไปในทางมิคสัญญีกลียุค ต้องมีความยับยั้งชั่งใจ ต้องมองเห็นและให้มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่คนไทยจะร่วมมือกันพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า

                      ผู้สื่อข่าวถามว่า ต่างฝ่ายซึ่งมีมวลชนเป็นของตัวเอง และจะไม่หยุดจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ต้องปรับสิ่งที่เรียกว่าชนะ เป็นความชนะของประเทศไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่ของพวกใดพวกหนึ่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศของความเป็นธรรม การเปลี่ยนแปลงประเทศกับเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่เหมือนกัน รัฐบาลเปลี่ยนมาเยอะ แต่ประเทศไทยไม่เคยเปลี่ยน ประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปสู่ประเทศที่มีความเป็นธรรมซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไทยทั้งประเทศ ไม่อย่างนั้นก็จะทะเลาะกันไปเรื่อยๆ ส่วนตัวคงไม่สามารถบอกว่าควรหยุดการชุมนุมได้หรือไม่ แต่เห็นว่าควรมีการพูดคุยกัน เจรจากันเหมือนที่ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอไปแล้ว นี่คือโอกาส เพราะถ้าพลาดไปจะนำไปสู่ความรุนแรงและประเทศไทยก็ไม่ได้ดีขึ้น