
ตะลุยพิพิธภัณฑ์ยุวเกษตรกรแห่งแรก
ตะลุยพิพิธภัณฑ์ยุวเกษตรกรแห่งแรก แหล่งเรียนรู้วิถีพอเพียง'ยุวเกษตรโลก' : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...สนทะนาพร อินจันทร์
นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน "ชุมนุมยุวเกษตรกรโลก ครั้งที่ 10 ประจำปี 2556" (10th World IFYE Conference 2013) ระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมยุวเกษตรกรไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มสยท.) และสมาคมยุวเกษตรกรสากลแห่งประเทศไทย (IFYE Thailand) ร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก
สุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของภาคการเกษตรระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายและพัฒนาความสัมพันธ์อันดีของยุวเกษตรกรระหว่างประเทศสมาชิก (International Farm Youth Exchange :IFYE) กว่า 25 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริมและพัฒนายุวเกษตรกรให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศนั้น ๆ จึงได้มีการจัดกิจกรรมขึ้น เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
"ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนายุวเกษตรกรมาตั้งแต่ปี 2495 และเริ่มดำเนินการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2506 จนถึงปัจจุบัน และการจัดงานชุมนุมยุวเกษตรกรโลก ครั้งที่ 9 เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ที่ประเทศออสเตรเลีย ที่ประชุมได้ลงมติมอบความไว้วางใจให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้"
การจัดงานครั้งนี้นอกจากมีการเสริมองค์ความรู้ด้านทฤษฎีแล้วยังมีการลงพื้นที่ดูของจริง โดยเริ่มจากพิพิธภัณฑ์ยุวเกษตรกรแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ โรงเรียนพรหมานุเคราะห์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรแห่งแรกของประเทศไทย โดยเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน 255 คน มีคณะครูอาจารย์ 9 คน จากมติของคณะครูที่เน้นจัดการด้านการศึกษา ให้เป็นไปตามแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมกลุ่มยุวเกษตรกร ด้วยการฝึกอบรมวิชาชีพให้นักเรียน หวังให้นักเรียนนำประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
สำหรับกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งออกเป็น 6 สถานีด้วยกัน คือ สถานีแรก พิพิธภัณฑ์ยุวเกษตรกรแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอาคารรวบรวมข้อมูล ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา การพัฒนาของยุวเกษตรกรของจ.ฉะเชิงเทรา สถานีที่สอง ได้แก่ บ้านไทย วิถีไทยซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยในชนบท ในด้านความเป็นอยู่และกิจกรรมในการดำเนินชีวิต โดยมีการโชว์ให้เห็นในบางส่วน เช่น การโชว์ทำขนมจากการสีข้าว
สถานีที่สาม การนำเสนอเรื่องของการประกอบอาชีพการทำนา โดยใช้ข้าวไรซ์เบอรี่จากกรมการข้าว ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สถานีที่สี่ การเลี้ยงสุกร จัดแสดงโดยกรมปศุสัตว์ สถานีที่ห้า การทำประมง การเลี้ยงปลา โดยกรมประมงเป็นผู้จัดแสดง ซึ่งได้มีการโชว์การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน ระหว่างการเลี้ยงกุ้งกับปลา เป็นต้น และสถานีที่หก เป็นการนำเสนอเรื่องราวเศรษฐกิจพอเพียงในภาพรวมทั้งหมด
นอกจากกิจกรรมการดูงานตามสถานีทั้ง 6 สถานีแล้ว ยังมีการจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มที่เป็นของดีในจ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มลอง พร้อมกับซื้อหากลับไปเป็นของฝากให้คนทางบ้านอีกด้วย นอกจากเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนสร้างชื่อให้สินค้าของคนไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การทัศนศึกษาของยุวเกษตรกรจากต่างประเทศต่างๆ กว่า 25 ประเทศ เพื่อได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของการทำการเกษตรแบบไทย ทั้งยังได้เรียนรู้ถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนของประเทศไทย ได้รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์จากกิจกรรมการยุวเกษตรกร นับเป็นการส่งเสริมพื้นฐานทางการเกษตร ซึ่งเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่แท้จริง สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ
"ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดทิศทางชัดเจนที่จะพัฒนาสถาบันเกษตรกร โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน หรือยุวเกษตรกร รวมถึงการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการทำงานในลักษณะเป็นภาคีกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนด้วย รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนเยาวชนกับต่างประเทศ ด้วยการส่งไปฝึกงาน และรับเข้ามาศึกษาดูงานภายในประเทศไทยเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น" รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวย้ำ
ทไชย ชิน ลี ตัวแทนยุวเกษตรกรจากไต้หวัน กล่าวถึงการทัศนศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า รู้สึกภูมิใจที่ทำให้ได้ความรู้ในเรื่องของการปลูกข้าว และสามารถนำความรู้นี้ไปบอกต่อกับเพื่อนๆ ที่ไต้หวัน ทำให้ได้รู้ว่าวิธีการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ได้ว่าข้าวพันธุ์นี้เป็นอย่างไร ปลูกเลี้ยงยากไหม ได้รายได้เท่าไหร่ สำหรับข้าวไรซ์เบอรี่ ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล กับข้าวขาวดอกมะลิ มีความยาว 105-110 เซนติเมตร อายุในการเก็บเกี่ยวของข้าวข้าวไรซ์เบอรี่คือ 130 วันและผลผลิตข้าวข้าวไรซ์เบอรี่อยู่ที่ 300-500 กิโลกรัมต่อไร่
"การเข้าร่วมกิจกรรมยุวเกษตรกร นอกจากได้ความรู้ในเรื่องการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทยเราแล้ว กิจกรรมนี้ยังสอนถึงการดำรงชีวิตในแบบพอเพียง ที่เน้นการพึ่งพาตนเองให้ได้ ถือเป็นกิจกรรมที่ดี และสามารถต่อยอดไปสู่การดำรงชีวิตที่ดีด้วย" ทไชย ชิน ลีกล่าวเปื้อนรอยยิ้ม
นับเป็นอีกกิจกรรมที่มุ่งสร้างยุวเกษตรกรต้นแบบให้เข้าใจถึงหัวใจสำคัญในการทำการเกษตรที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคงอย่างยั่งยืน ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายกับหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในการทำเกษตรไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคตข้างหน้า
...........................
(ตะลุยพิพิธภัณฑ์ยุวเกษตรกรแห่งแรก แหล่งเรียนรู้วิถีพอเพียง'ยุวเกษตรโลก' : คอลัมน์ท่องโลกเกษตร : โดย...สนทะนาพร อินจันทร์)