
ดื่มอย่างไรไม่ให้แฮงก์
ไลฟ์สไตล์ : ดื่มอย่างไรไม่ให้แฮงก์
ยิ่งใกล้เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการความสุข สาวๆ หลายคนอาจฉลองด้วยการกินและดื่มอย่างสนุกสนาน จนตื่นเช้าขึ้นมาพร้อมกับอาการเมาค้างจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเกินกว่าที่ร่างกายรับได้ โดยเฉพาะผู้หญิงเวลาดื่มจะเมาง่ายกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีสรีระเล็กกว่าและมีไขมันในร่างกายมากแต่มีน้ำในร่างกายน้อยกว่าผู้ชาย ซึ่งแอลกอฮอล์จะละลายในน้ำได้ดีแต่ไม่ละลายในไขมัน เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดของผู้หญิงจึงมีความเข้มข้นมาก เพราะเจือจางและขับออกไปกับน้ำได้น้อย ผู้หญิงจึงเกิดอาการเมาค้างมากกว่า
นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์อายุรกรรมสมอง คลินิกเครือ รพ.กล้วยน้ำไท แนะนำว่า ก่อนไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรไปขณะกำลังหิว และไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมไปก่อนเพราะจะทำให้ยิ่งดื่มมากขึ้น พยายามรับประทานผักที่มีกรดโฟลิกที่จะทำหน้าที่ฟื้นฟูเซลล์ที่จะถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์และไฟเบอร์สูง หรือทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต, โปรตีนที่มีไขมันดีรองท้องไว้ก่อนเพื่อช่วยชะลอการดูดซึมของแอลกอฮอล์ ขณะดื่มควรทำให้ร่างกายลดการดูดซึมของแอลกอฮอล์ และขับออกทางปัสสาวะด้วยการดื่มน้ำมากๆ และระวังไม่ให้ท้องว่างโดยการรับประทานกับแกล้ม เลือกผสมน้ำแทนการผสมโซดาเพราะโซดาจะทำให้การดูดซึมไปสู่สมองเร็วขึ้น
"หลังปาร์ตี้ก่อนจะเข้านอนควรดื่มน้ำ น้ำส้มหรือน้ำมะนาวจำนวนมาก เพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย และป้องกันสมองเกิดการหดตัวจากการที่ร่างกายดึงน้ำจากสมอง เพราะวิตามินซีจะช่วยเร่งการเผาผลาญแอลกอฮอล์ในตับ หรือดื่มน้ำวุ้นจากใบว่านหางจระเข้เพราะช่วยสลายพิษในตับ อาหารเช้าวันรุ่งขึ้นควรเลือกอาหารประเภทโปรตีน และดื่มน้ำหวาน, น้ำผึ้งผสมมะนาว เพราะแอลกอฮอล์ทำให้สมองขาดน้ำตาล และควรดื่มเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูงเพื่อช่วยลดปริมาณสารตกค้างที่มีอยู่ในตับ จิบน้ำอุ่นๆ ผสมมะนาว ไม่ควรดื่มกาแฟ เพราะกาแฟจะทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น ถึงไม่หิวก็ควรรับประทานอาหารประเภทย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารประเภทมันๆ เพราะอาจะทำให้รู้สึกอยากอาเจียน พยายามเดินช้าๆ หรือนั่งใต้ต้นไม้เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจน หรือใช้สูตรนำใบรางจืดประมาณ 4-5 ใบมาตำหรือปั่นและคั้นเอาน้ำออกมาจะช่วยถอนพิษและลดอาการเมาค้างได้ ควรช่วยให้ผู้ที่เมาค้างรู้สึกสดชื่น และช่วยลดอาการปวดศีรษะด้วยการเช็ดตัว เช็ดหน้าด้วยน้ำเย็น และควรใช้ผ้าประคบบริเวณใบหน้าและศีรษะ และถ้าปวดศีรษะมากควรเลือกทานแอสไพรินเนื่องจากส่งผลต่อตับอาจเกิดอันตรายได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น และพบว่ามีการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนมาก ตัวเย็น ความดันโลหิตต่ำ ท้องเสียไม่หยุด ใจสั่น อ่อนเพลียนานเกิน 1 วัน ควรรีบเข้าพบแพทย์เพราะอาจเกิดอาการขาดน้ำได้" นพ.สุวินัยฝากทิ้งท้าย