ข่าว

กระเจี๊ยบเขียวราชาต้านอนุมูลอิสระ

กระเจี๊ยบเขียวราชาต้านอนุมูลอิสระ

06 ก.พ. 2557

ไลฟ์สไตล์ : กระเจี๊ยบเขียวราชาต้านอนุมูลอิสระ

 

                     พืชผักสมุนไพรเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเสมอ อย่าง กระเจี๊ยบเขียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abelmoschus esculentus Moench. อยู่ในวงศ์ MALVACEAE มีชื่ออื่นๆ ว่า กระเจี๊ยบมอญ กระเจี๊ยบขาว มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือทวาย มะเขือละโว้ ถั่วส่าย เป็นต้น อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน โฟเลท แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี อยู่ในปริมาณพอสมควร

                     ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร  หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อธิบายประโยชน์ของกระเจี๊ยบให้ฟังว่า กระเจี๊ยบเขียวมี กลูตาไทโอน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสารอนุมูลอิสระในร่างกาย การสร้างสารซ่อมแซมเซลล์ และทำปฏิกิริยาขจัดสารพิษที่เกิดในร่างกาย ช่วยต้านมะเร็งได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันนิยมใช้สารนี้เพื่อให้ผิวขาวขึ้น เพราะกลูตาไทโอน สามารถกดการทำงานของเอนไซม์ที่ผลิตเม็ดสีได้ชั่วคราว

                     "นอกจากนี้กระเจี๊ยบเขียวยังเต็มไปด้วย ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนของพืชผักที่ร่างกายย่อยไม่ได้ และเส้นใยที่ละลายน้ำได้ เช่น เพคทิน (pectin) และเมือก (mucilage) ซึ่งเกิดจากสารประกอบ acetylated acidic polysaccharide และกรดกาแลคทูโรนิค (galactulonic acid) สารเมือกหรือเส้นใยที่ละลายน้ำได้ของกระเจี๊ยบเขียว เมื่อลงสู่ลำไส้ใหญ่จะช่วยในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ (พรีไบโอติกแบคทีเรีย) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณพิษที่ผลิตจากแบคทีเรียที่ไม่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย กระเจี๊ยบเขียวจึงจัดเป็นผักสุขภาพสำหรับผู้ป่วยมะเร็งอีกชนิดหนึ่ง" หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมแจง

                     พร้อมกับกล่าวด้วยว่า สรรพคุณเด่นที่สำคัญในการใช้เป็นยารักษาโรคของกระเจี๊ยบเขียว คือ การใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกและท้องเสียสลับกัน และยังช่วยรักษาอาการปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหารและแผลจากลำไส้เล็กส่วนต้น ในปี 2547 มีรายงานการศึกษาพบว่าสรประกอบไกลโคซิลเลท (Glycosylated Compounds ซึ่งประกอบด้วย polysaccharides and glycoproteins) ในกระเจี๊ยบเขียว มีฤทธิ์ยับยั้งความสามารถของเชื้อแบคทีเรีย ในการเกาะเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ซึ่งแบคทีเรียตัวนี้เอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร