
ปรนัยกับอัตนัย
ปรนัยกับอัตนัย : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับประภัสสร เสวิกุล
เรามักจะได้ยินคำปรารภอยู่เนืองๆ ว่า เด็กไทยสมัยนี้เขียนภาษาไทยไม่เป็นตัวและไม่เป็นเรื่อง ขนาดจบปริญญาตรีแล้วก็ยังร่างหนังสือราชการหรือจดหมายธุรกิจไม่ได้ ซึ่งหลายคนกล่าวโทษระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ที่ละเลยต่อการเขียนไทย คัดไทย และการอ่านการเขียน ขณะเดียวกันข้อสอบในยุคหลังๆ ก็มักจะเป็นแบบปรนัย คือกาถูก-กาผิด หรือเลือกกาข้อที่ถูก ทำให้นักเรียนขาดทักษะในการเขียน การบรรยาย และการอธิบาย แบบข้อสอบอัตนัย แต่ก็มีนักวิชาการศึกษาบางท่านได้แสดงความเห็นว่า การออกข้อสอบแบบอัตนัยอาจไม่ได้ค่าที่แน่นอน เพราะผู้ตรวจอาจให้คะแนนตามอารมณ์ของตนต่างจากปรนัยที่มีคำตอบตายตัว ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ไม่มีฉันทาคติหรืออคติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่รับฟังได้ทั้งสองด้าน
โดยความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าการใช้ข้อสอบแบบปรนัยก็เป็นการดี แต่ต้องปรับวิธีการเรียนการสอน ให้เด็กรู้จักค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างกว้างขวาง มีองค์ความรู้ที่แม่นยำ จนสามารถตีโจทย์แตก และค้นพบคำตอบที่ถูกต้อง ไม่ใช่ใช้การเสี่ยงโชคแบบหัว-ก้อย หรือสุ่มเดา เช่น 3 ข้อแรกน่าจะเป็น ข้อ (ก) ข้อถัดไปก็น่าจะเป็น ข้อ (ข) ที่สำคัญก็คือข้อสอบปรนัยจะต้องไม่กำกวมหรือตีความได้หลายอย่าง ยกตัวอย่างที่อาจารย์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีข้อสอบข้อหนึ่งถามว่า “หากเกิดอารมณ์ทางเพศ ควรจะทำอย่างไร” (ก) เล่นกีฬา (ข) ไปเที่ยวศูนย์การค้า (ค) ช่วยตัวเอง (ง) อ่านหนังสือการ์ตูน ประมาณนี้ อาจารย์ท่านนั้นบอกว่า “ธง” ที่ผู้ออกข้อสอบตั้งไว้คือ ข้อ (ก) เล่นกีฬา แต่คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้รับคือ ข้อ (ค) ช่วยตัวเอง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ข้อหนึ่งข้อใดก็ถูกทุกข้อนั่นแหละครับ
ผมเชื่อว่าวัตถุประสงค์ประการสำคัญของการศึกษา ก็คือการทำให้เยาวชนมีความรู้ มีสติปัญญา และมีความคิดสามารถที่จะนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาตามความคิดของตน แต่ปัญหาใหญ่ในเวลานี้ก็คือการให้ความรู้แต่ไม่ให้ความคิด เด็กไทยทุกวันนี้จึงเหมือนนกแก้วนกขุนทองที่ท่องจำปาวๆ แต่ไม่เคยคิดทบทวนหรือต่อยอดความรู้ ได้ยินอะไรมาอย่างไรก็ทำตามโดยไม่ได้คิดเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น ผมอ่านพบว่ามีผู้นำบทสวดพาหุงที่แปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยในรูปของคำประพันธ์ แล้วกล่าวอ้างที่มาว่าอาจารย์ภาษาไทยท่านหนึ่งเป็นผู้ประพันธ์ ผมก็เกิดเอะใจ เพราะจำได้แม่นยำว่าผมเคยท่องคำแปลของบทสวดดังกล่าวในห้องประชุม ทุกเย็นวันศุกร์ ตั้งแต่เรียนชั้น ป.1 และอาจารย์ท่านนั้นก็มีอายุมากกว่าผมไม่น่าจะเกิน 7-8 ปี นั่นก็หมายความว่าท่านสามารถแปลและประพันธ์บทสวดนี้ ตั้งแต่อายุเพียง 11-12 ขวบ และที่สำคัญก็คือท่านเป็นมุสลิม จะมาแต่งคำประพันธ์สรรเสริญพระพุทธคุณได้อย่างไร?
การศึกษาโดยไม่มีความรู้ การมีความรู้โดยไม่มีความคิด การมีความคิดโดยไม่มีการตรึกตรอง เป็นปัญหามหึมาของคนในสังคมไทยทุกวันนี้ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนไทยส่วนหนึ่งว่ายวนอยู่ในกระแสของข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปล่อย ข่าวปลอมทั้งหลาย โดยขาดการทบทวนหาข้อเท็จจริง หรือความน่าจะเป็นของข่าวเหล่านี้ ขณะที่คนไทยอีกบางส่วนก็ไหลตามกระแสของสังคม หรือการปักใจเชื่อ ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีโอกาสคิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ
ถ้าใครจะกล่าวโทษว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนไทยถูกสอนให้ กาผิด-กาถูก มากกว่าการใช้ความรู้ สติ ปัญญา และความคิด ก็คงจะว่ากันไปได้ แต่ความสำคัญของข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็น ปรนัย หรืออัตนัย ก็คือ การทำอย่างไรให้ผู้ทำข้อสอบรู้จักที่จะใช้ความรู้และความคิดของคนได้อย่างถูกต้องต่างหากครับ