ข่าว

แล้ง-ร้อนดันสินค้าแพงเวอร์ผักสดราคาพุ่ง

31 มี.ค. 2557

แล้ง-ร้อนดันสินค้าแพงเวอร์ ผักสดราคาพุ่ง-หาช่องคุมหมูเนื้อแดง : อนัญชนา สาระคูรายงาน

           สถานการณ์ภัยแล้งที่มาเร็วกว่าทุกปี ประกอบกับอากาศร้อนอบอ้าวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น เริ่มส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นอาหารเพื่อการบริโภค และแน่นอนว่าย่อมไม่พ้น "มะนาว" ที่เริ่มมีกระแสบ่นว่ามีราคาแพงขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีผักชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะผักใบ เช่น ผักคะน้า ผักกาดหอม รวมถึงกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และถั่วฝักยาว ที่พบว่าราคาค่อยๆ ขยับสูงขึ้นมาต่อเนื่อง

           ขณะที่เนื้อสัตว์เพื่อบริโภค ที่สำคัญคือ "เนื้อหมู" พบว่าราคาปรับสูงขึ้นชัดเจนจากปัญหาอากาศร้อน ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของสุกร และปัญหาโรคระบาด ขณะที่ "เนื้อไก่" และ "ไข่ไก่" มีแนวโน้มราคาลดลง


"มะนาว-ถั่วฝักยาว"ราคาถีบตัว

           จากการสำรวจความเคลื่อนไหวราคาขายส่งผักสด ในตลาดไท มีผักสดหลายชนิดที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (3 มี.ค.-25 มี.ค.) ได้แก่ ผักคะน้า จากราคากก.ละ 18-20 บาท เป็นกก.ละ 20-22  บาท ผักกาดหอม จากราคากก.ละ 20 บาท เป็นกก.ละ 40 บาท ผักกาดขาวปลี จากกก.ละ 15-25 บาท เป็น 28-30 บาท กะหล่ำปลี จากกก.ละ 4-6 บาท เป็นกก.ละ 8-9 บาท ถั่วฝักยาวจากราคากก.ละ 20-22 บาท เป็น กก.ละ 36-40 บาท มะนาวแป้น เบอร์ 1-2 จากราคาผลละ 3.00-1.25 บาท เป็นผลละ 3.75-6.00 บาท  ส่วนเบอร์ 3-4 ผลละ 2.40-3.20 บาท เป็น 3.00-4.60 บาท

           ขณะที่ราคาขายปลีกในกรุงเทพมหานคร จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน ณ วันที่ 25 มีนาคม ผักคะน้า กก.ละ 28-30 บาท ผักกาดหอม กก.ละ 45-50 บาท ผักกาดขาวปลี กก.ละ 25-30 บาท กะหล่ำปลี กก.ละ 18-20 บาท ถั่วฝักยาว กก.ละ 40-45 บาท มะนาวแป้น เบอร์ 1-2 คละผล ผลละ 5.50-6.00 บาท เบอร์ 3-4 คละผล ผลละ 4.50-5.00 บาท นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคากับช่วงเดียวกันของปีก่อน (25 มี.ค. 2556 กับ 25 มี.ค. 2557) พบว่าราคาผักสดในปีนี้ส่วนใหญ่มีราคาสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นผักคะน้า ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว แตงกว่า กะหล่ำดอก หัวผักกาด เป็นต้น

           แม่ค้าขายผักสดย่านสนามบินน้ำรายหนึ่ง กล่าวว่า ราคาผักสดเริ่มปรับขึ้นต่อเนื่องในระยะนี้ และคาดว่าน่าจะสูงขึ้นอีกต่อเนื่องไปถึงเดือนเมษายน โดยเฉพาะมะนาวที่มีเสียงบ่นจากลูกค้าเยอะมากว่าราคาแพงขึ้น ซึ่งทั่วไปจะขายผลละ 7-8 บาท เนื่องจากเข้าสู่ช่วงนอกฤดู และอากาศร้อนจัด แต่ที่ร้านตนเองนำมะนาวผลเล็กมาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า เป็นมะนาวบ้านแพ้ว ซึ่งลูกเล็กแต่เปลือกจะบางจึงมีน้ำเยอะ โดยรับมาต้นทุนผลละ 4.50 บาท ก็มาขาย 5 บาท และนำมาขายไม่มากนักเพราะราคาสูงมาก ขณะที่แผงผักสดบางเจ้านำมะนาวผลใหญ่มาจำหน่ายราคาผลละ 7 บาท แต่ก็เป็นมะนาวสี ซึ่งมีเปลือกหนาแต่ไม่มีน้ำ

           ส่วนผักสดชนิดอื่นๆ ที่ราคาถีบตัวสูงขึ้น ก็มีผักคะน้า รับมา กก.ละ 45-50 บาทแล้วแต่สถานการณ์ที่บางวันก็สูงขึ้น บางวันก็ปรับลดลง แต่ก็เป็นแบบคัดที่มีใบสวยแล้ว ส่วนผักคะน้าที่ราคาจะถูกลงมาหน่อยก็จะเป็นใบมีรูไม่สวยนัก ยังมีผักกาดขาว ผักกาดหอม และเห็ดฟางที่ราคาสูงขึ้น รวมถึงถั่วฝักยาวตอนนี้ราคาสูงขึ้นมาเช่นกัน และน่าจะสูงขึ้นอีกในช่วงเดือนเมษายน แต่ก็เป็นการปรับขึ้นทุกปีในช่วงหน้าร้อน พอหมดร้อนแล้วราคาก็ปรับลดลง โดยราคาผักสดที่ลดลงในช่วงนี้คือ ผักบุ้ง


ผลผลิตลดฉุดราคาเนื้อหมูพุ่ง

           สำหรับหมวดเนื้อสัตว์ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2557 ราคาขายปลีกหมูชำแหละ (ส่วนสะโพก) กก.ละ 145-150 บาท สูงขึ้นจากราคาเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ราคากก.ละ 137.84 บาท แต่หากเทียบกับราคาเฉลี่ยในช่วงเดือนมีนาคม 2556 พบว่าราคาหมูเนื้อแดงในปีนี้สูงขึ้นมาก โดยราคาปีก่อนอยู่ที่ กก.ละ 112.48 บาท อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) มีมติตรึงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มไม่เกินราคากก.ละ 76-78 บาท และราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงไม่เกิน 150-155 บาท ตลอดเดือนเมษายน

           ขณะที่ ไก่สดทั้งตัว มีราคาลดลงจากช่วงเดือนมีนาคมปีก่อน จากราคาตัวละ 62.50 บาท เป็น 60.65 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 จากราคาฟองละ 3.10 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 3.20-3.30 บาท ไข่เป็ด จากราคาฟองละ 3.95 บาท เป็น 4.70-4.80 บาท และปลาดุก (บิ๊กอุย) จากราคา กก.ละ 67.50 บาท เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 70-80 บาท

           โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาอากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าวจึงมีผลทำให้หมูโตช้า ประกอบกับมีโรคระบาด ทำให้ลูกหมูตายเพิ่มขึ้น ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดน้อยลง ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้น

           ขณะที่นายกิดดิวงศ์ สมบุญธรรม เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ราคาหมูที่ปรับสูงขึ้นเนื่องจากหมูหายไปจากระบบ 10% จากปกติที่ต้องมีผลผลิตหมูออกสู่ตลาดประมาณ 1.2 ล้านตัวต่อเดือน แต่ขณะนี้ลดลงเพียง 1 ล้านตัวต่อเดือน ซึ่งเกิดจาก 3 สาเหตุคือ ภาวะโรคระบาด การเลิกเลี้ยงสุกรของเกษตรกร และสภาพอากาศร้อนจัด ซึ่งอากาศที่ร้อนจัดนั้น กระทบต่อตัวหมูทำให้เกิดความเครียด มีผลโดยตรงต่อสุขภาพ หมูจึงกินอาหารน้อย การเจริญเติบโตช้า มีอาการหอบ ภูมิคุ้มกันลดลง และเป็นโรคได้ง่าย ทำให้ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงนานขึ้นกว่าจะได้น้ำหนักตามที่ต้องการ และในหลายพื้นที่ยังคงมีปัญหาเรื่องโรคระบาดอยู่

           ขณะเดียวกัน อยู่ในช่วงเทศกาลเชงเม้ง และเข้าใกล้เทศกาลสงกรานต์แล้ว ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อหมูมีเพิ่มขึ้น ขณะที่หมูในท้องตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจภาวะปัญหาที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่ เพราะหมูหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ทางผู้เลี้ยงหมูพยายามที่จะตรึงราคาไม่ให้เกินตามที่ภาครัฐขอความร่วมมือ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้บริโภคด้วย


พาณิชย์หาช่องตัดวงจรราคา

           ด้านกรมการค้าภายในยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะดำเนินมาตรการตัดวงจรราคา เพื่อให้สินค้าที่เมื่อถึงมือบริโภคราคาจะไม่สูงมากนัก โดยนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผลผลิตสินค้าทางการเกษตรนั้นขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถือเป็นเรื่องของผลผลิตที่ออกสู่ตลาดและความต้องการบริโภค โดยราคาผักสดที่สูงขึ้นในระยะนี้ ก็เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ โดยหากเทียบกับช่วงหน้าหนาวเดือนธันวาคม-มกราคม ที่ปกติราคาจะลดต่ำลง จะทำให้เห็นว่าราคาในช่วงนี้เสมือนว่าปรับสูงขึ้นมา แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก จึงยังถือว่าเป็นช่วงปกติตามฤดูกาล

           “สินค้ากลุ่มพืชผักนั้น จะมีระยะเวลาในการปลูกสั้นประมาณ 40-50 วัน และเมื่อผลผลิตรอบใหม่ออกสู่ตลาด ก็จะส่งผลต่อราคาให้ลดลงด้วย ไม่ใช่ราคาจะสูงขึ้นอย่างเดียว และราคาที่สูงขึ้นก็เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาดังกล่าวทำได้ค่อนข้างยาก แต่สิ่งที่กรมการค้าภายในดำเนินการคือเชื่อมโยงสินค้าจากแหล่งผลิต จากเกษตรกรโดยตรงให้มีช่องทางในการขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นตลาดสดที่อยู่ในการส่งเสริมของกรมฯ เอง หรือตลาดสดที่เป็นเครือข่ายของสำนักงานค้าภายในจังหวัด เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนในช่วงกลางให้การค้าสั้นขึ้น จะส่งผลดีต่อราคาสินค้าปลายทางไม่ให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามเข้าไปดำเนินการในขณะนี้” นายสันติชัย กล่าว

           ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบราคาผักบางชนิดที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จะพบว่าราคาไม่ได้แตกต่างกันนัก (ระหว่าง 25 มี.ค. 2556 กับ 25 มี.ค. 2557) สำหรับมะนาวแป้นราคาลดลงด้วยซ้ำ โดยราคาคละขายปลีกมะนาว เบอร์ 1-2 ปีก่อน ราคาผลละ 5.75-7.00 บาท เป็น 5.50-6.00 บาท มะนาวเบอร์ 3-4 จากราคาผลละ 4.75- 5.50 บาท เป็น 4.50-5.00 บาท ส่วนถั่วฝักยาว ปีก่อน กก.ละ 32-35 บาท เป็น 35-38 บาท แต่ก็พบว่าราคาเคยขึ้นสูงไปถึงกก.ละ 60-70 บาทเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ภาวะอากาศแล้งมากๆ

           นายสันติชัย กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มราคาผักสดในเดือนเมษายน กรมฯ จะติดตามดูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีความผันผวนจนกระทบกับสถานการณ์ราคา ก็จะเร่งเชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตและช่องทางกระจายสินค้า เพื่อบรรเทาปัญหาในระยะสั้น

           นอกจากนี้ จะเข้าไปตรวจสอบและทำความเข้าใจกับเจ้าของตลาดสด ไม่ให้ฉวยโอกาสในการขายสินค้าจนสูงผิดปกติ โดยการกำหนดราคาที่แท้จริงจะต้องมาจากการแข่งขัน ซึ่งกรมฯ ได้ติดตามราคาทุกวัน พบว่าปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อน้อยลง เพราะฉะนั้น ถ้าสินค้าราคาสูงขึ้นผู้บริโภคก็จะซื้อน้อยลง ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ค้าไม่สามารถกำหนดราคาสูงๆ ได้มากกว่าความจำเป็น เพราะผู้ขายก็ต้องการขายสินค้าเช่นกัน โดยกำลังซื้อที่น้อยลงนี้ก็เป็นแรงกดดันอยู่ ตัวอย่างเช่น ราคาเนื้อหมู ที่คนส่วนใหญ่บ่นว่าราคาสูง ปริมาณการซื้อต่อครั้งจึงลดลง จุดนี้ผู้เลี้ยงก็มีความเข้าใจดี เพราะหากราคาสูงกว่านี้ ก็จะกระทบผู้บริโภค เราจึงขอความร่วมมือในการตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน กก.ละ 155-160 บาท สำหรับหมูเนื้อแดง

           “ปัญหาร้อนแรงตอนนี้คือเรื่องเนื้อหมู ที่นอกจากจะประสบปัญหาอากาศร้อนแล้ว และยังมีเรื่องโรคระบาดที่ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง แต่ก็พยายามจะเบรกราคาไม่ให้สูงไปกว่านี้ ส่วนไก่สด ถือว่าราคาไม่น่าเป็นห่วงนัก” นายสันติชัย กล่าว

           นอกจาก “ไก่สด” ที่ราคาไม่น่าเป็นห่วงในระยะนี้แล้ว ยังพบว่าราคา “ไข่ไก่” เริ่มอ่อนตัวลงเพราะความต้องการลดลง เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม ความต้องการบริโภคไข่ไก่จึงลดลง ขณะที่ผลผลิตจากการเปิดนำเข้าเสรีพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ก็ออกมามากพอสมควร ทำให้สถานการณ์ราคาไข่ไก่ในช่วงนี้กลับในทิศทางตรงกันข้าม ที่โดยปกติแล้วในช่วงหน้าร้อนราคาไข่ไก่จะสูงขึ้น แต่ขณะนี้กลับลดลง

           “ตอนนี้เริ่มมีเสียงร้องเรียนว่าขาดทุนแล้ว จากประมาณการต้นทุนเฉลี่ยไข่ไก่อยู่ที่ฟองละ 3.05 บาท แต่ราคาไข่คละหน้าฟาร์มปัจจุบันอยู่ที่ฟองละ 2.80 บาท ดังนั้น อาจต้องหามาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป รวมทั้งหาช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติมให้” นายสันติชัย กล่าว

           รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวด้วยว่า สำหรับตัวผู้บริโภคเองนั้น มีสินค้าหลายชนิดที่ไม่น่าเป็นห่วงว่าสินค้าจะขาดแคลน หรือราคาจะสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปาล์ม ที่ราคาเริ่มปรับลดลงแล้ว ไม่มีปัจจัยกดดันต่อราคาขายปลีกน้ำมันพืช ส่วนราคาไก่ และไข่ไก่ ยังเป็นปกติ ซึ่งราคาไข่ไก่ มีแนวโน้มราคาลดลงจนต้องหามาตรการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรด้วยซ้ำ

           อย่างไรก็ตาม เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค เพราะในภาวะปัจจุบันค่าครองชีพในการดำรงชีวิตประจำวันสูงขึ้น เป็นสิ่งที่กรมการค้าภายในตระหนักและเข้าใจในเรื่องนี้ จึงพยายามเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้ราคาปรับสูงขึ้นมากจนผิดปกติ แต่สำหรับตัวผู้บริโภคเองนั้นก็จำเป็นจะต้องเอาใจใส่ติดตามข้อมูลราคาเป็นประจำ รวมถึงการเปรียบเทียบราคาสินค้าว่าร้านใดถูกหรือแพงกว่ากันด้วย ซึ่งถือเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง

.............

(หมายเหตุ : แล้ง-ร้อนดันสินค้าแพงเวอร์ ผักสดราคาพุ่ง-หาช่องคุมหมูเนื้อแดง  : อนัญชนา สาระคูรายงาน)