ข่าว

'วรเจตน์'ชี้อำนาจตุลาการเสื่อมศรัทธา!

'วรเจตน์'ชี้อำนาจตุลาการเสื่อมศรัทธา!

26 เม.ย. 2557

นิติฯธรรมศาสตร์ จัดเสวนา 'อำนาจตุลาการกับสถานการณ์ทางการเมือง' วรเจตน์ ชี้เสื่อมศรัทธา หวั่นตุลาการเป็นเผด็จการผ่านคำพิพากษา

 
                           26 เม.ย. 57  เมื่อเวลา 09.17 น. ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการ "เชิดชูกฎหมาย" เนื่องในงานรำลึกศาสตราจารย์ หยุด แสงอุทัย พร้อมจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "อำนาจตุลาการกับสถานการณ์ทางการเมือง" โดยมีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นคณะวิทยากรผู้บรรยาย โดยมีนักศึกษา อาจารย์ ประชาชนร่วมรับฟังกว่าสองร้อยคน
 
                           นายวรเจตน์ กล่าวว่า การใช้อำนาจตุลาการเป็นสิ่งสำคัญ ต้องใช้องค์กรที่เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของบุคคลใด อิสระจากการตกภายใต้การสั่งการของบุคคลอื่นที่วินิจฉัยชี้ขาด การทำงานของผู้พิพากษาคือการเมืองย้อนไปในอดีต ต่างจากการตรากฎหมายที่จะต้องมองไปอนาคต ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองมีคนอยากให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด โดยจุดเริ่มต้นของตุลาการภิวัฒน์เกิดจากการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการพูดถึงคำว่าตุลาการภิวัฒน์ ทำให้ในช่วงนั้นมีการตอบรับในสังคม ตนเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้ด้วยความวิตกว่าปัญหาจะยุ่งยากและแก้ไขได้ยากขึ้น เริ่มจากการไม่ประกันตัวคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปี 2549 จนไปถึงการปฏิวัติ โดยอำนาจตุลาการยังดำเนินต่อไป 
 
                           นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า อำนาจตุลาการถูกออกแบบมาให้เป็นกลาง ต้องวางอยู่บนความเชื่อถือของสาธารณชนว่าไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คนเสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์คิดว่าเป็นคนสายตาสั้น เป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้า เพราะเมื่อศาลถูกดึงเข้ามาเมื่อจะกลับออกไปก็ไม่ง่ายแล้ว โดยเฉพาะศาลที่ตัดสินคดีเกี่ยวกับทางการเมืองมากๆ จะมีข้อวิจารณ์ว่าการตัดสินถูกต้องหรือไม่ วันนี้ความเสื่อมศรัทธาการใช้อำนาจตุลาการมีมากขึ้น อย่างการแก้ไขกฎหมายของสภาในวาระที่ 2 หรือ 3 จะยอมให้ศาลมาตัดสินว่าแก้ไขได้หรือไม่ ถ้ายอมแบบนี้ได้ก็มีการไปร้องแล้วศาลก็ระงับการลงมติได้หรือไม่ เราก็ไม่ยอม ที่ผ่านมามีคนเสนอว่าถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อนนั้น ตนเห็นว่าทำไม่ได้ เพราะศาลจะทำตัวเป็นกฎหมายหรือเป็นรัฐธรรมนูญ
 
                           "หนทางสู่ความยุติธรรมต้องผ่านทางกฎหมาย จึงจะทำให้เกิดการยอมรับ จะต้องอิงธรรมะในแง่ความสม่ำเสมอ มีคนตีความในทางผิดปกติในการทำให้เกิดสุญญากาศแต่ไม่ใช่นักกฎหมาย เป็นแค่คนแสวงหาสุญญากาศ การดูถูกว่าประชาธิปไตย 4 วินาที แต่คุณค่าของมันมากนัก"
 
                           นายวรเจตน์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้เหตุใดระเบิดลงศาลในช่วงเวลานี้ จะตอบคำถามได้ต้องมองย้อนเรื่องในอดีตว่าทำไมสังคมมาถึงจุดนี้ ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทให้สังคมมาถึงจุดนี้หรือไม่ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกติกา แต่กลับถูกว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง เมื่อใดคำพิพากษาของศาลเป็นการกดขี่ หรือเป็นฝ่ายการเมืองอย่างชัดเเจ้ง หน้าที่ผู้พากษาคนนั้นก็จะยุติลง ไม่เช่นนั้นจะเป็นเผด็จการผ่านคำพิพากษา เป็นเผด็จการผ่านตุลาการ ดังนั้นถ้ามีการทุ่มกับการจัดการกับปรปักษ์ทางการเมืองไม่เอาหลักเป็นที่ตั้งระบบจะพัง จะไม่มีใครฟังใคร ทุกคนจะเท่ากันหมด จะกลับสู่การปะทะกันในอำนาจของความเป็นจริง สุดท้ายจะไม่เหลืออะไร ตนเตือนสังคมไทยมาหลายปี จนถูกมองเป็นปรปักษ์กับศาล ทั้งที่ตนเคารพ
 
                           นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า คนเราอาจมองกฎหมาย มองบทบาทของศาลแตกต่างกัน โดยการตัดสินคดีศาลต้องแสดงเหตุผลให้แจ่มชัด และมีเหตุผลในการวินิจฉัยว่าเป็นในข้อใด ศาลต้องพิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลว่าเข้ากับข้อกฎหมายข้อใด แม้เป็นปัญหาการเมืองต้องวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย โดยในยุโรปมีการถกเถียงว่าการให้บทบาทตุลาการจะให้บ้านเมืองสงบ หรือมีปัญหามากขึ้น ซึ่งในยุโรปถือว่าในอดีตตุลาการภิวัฒน์เป็นการตื่นตัวทั้งในอิตาลี ฝรั่งเศส เป็นต้น มีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นหลายประเทศ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเดียว โดยในเยอรมันตะวันออก ก่อนเกิดการรวมประเทศศาลเคยใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เมื่อรวมประเทศผู้พิพากษาหลายคนถูกดำเนินคดีตามมา
 
                           "ตุลาการภิวัฒน์ มีได้ ควรมี แต่ต้องมีอย่างสร้างสรรค์ และต้องรับผิดชอบ พร้อมถูกตรวจสอบได้ อำนาจตรวจสอบที่สำคัญคือการวิจารณ์ของสังคม ต้องวิจารณ์จากเหตุผล ไม่ใช่วิจารณ์จากความรู้สึก ไม่ใช่มาบอกว่าตุลาการภิวัฒน์ เป็นตุลาการพิบัติ ก็ต้องฝากว่าเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ ไม่ใช่มาชักชวนให้พรรคพวกยุยงให้เกลียดชังกันอย่างนี้ต้องกำจัด จึงชักชวนให้ทุกคนคิดอย่างสร้างสรรค์"
 
                           นายสถิตย์ กล่าวว่า ตนพยายามจะเลี่ยงคำว่าตุลาการพิบัติ ตุลาการภิวัฒน์ แต่อยากให้สังเกตว่าเวลาศาลตัดสินจะมีอุดมการณ์ตัดสินคดีโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินมาก็ถูกโจมตีมาโดยตลอด ตอนนี้ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าศูนย์ เพราะการตัดสินขัดอุดมการณ์ประชาธิปไตยมาตลอด มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายอยากปกครองสมัยอยุธยา กับฝ่ายประชาธิปไตย จึงไม่รู้จะจบอย่างไรก็เสียว ไม่รู้จะเป็นการเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองหรือไม่ แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดไม่มีอะไรห้ามได้ เพราะการพัฒนาจะเลี่ยงการตายไม่ได้ เพียงแต่ว่าเกิดขึ้นแล้วทุกคนจะได้รับผลกระทบกันหมด ส่วนการใช้อำนาจตุลาการต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูก แต่ตนเห็นว่าถ้าวินิจฉัยโดยไม่ยึดอุดมการณ์จะอยู่อย่างไร จะไม่มีการเลือกตั้งจะอยู่ได้อย่างไร 
 
                           "ไม่มีกฎหมายใดในประเทศไทยที่ห้ามวิจารณ์คำพิพากษาของศาล มีแต่กฎหมายห้ามดูหมิ่นศาล มันเป็นคนละเรื่อง การวิจารณ์ศาลว่าตัดสินไม่ถูก ทำได้ ยืนยันว่าศาลแตะต้องได้"
 
                           ขณะที่สราวุธ กล่าวว่า ทุกคนในสังคมวิพากษวิจารณ์ศาลได้ แต่ถ้าวิจารณ์คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จะเป็นเรื่องที่อันตราย การยิงอาคารศาลจึงเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี ว่าคนไม่ใช้กฎหมายในการแก้ปัญหา จะใช้อำนาจ ความรุนแรงแก้ปัญหา ถ้าสังคมตัดสินด้วยอำนาจปืน ก็จะเกิดความไม่สงบเกิดขึ้น โดยคำศัพท์หลังปี 2549 ทั้งตุลาการภิวัฒน์ ตุลาการประชาธิปไตย เป็นคำที่นักวิชาการบัญญัติขึ้นมาทั้งสิ้น อำนาจตุลาการต้องเป็นหลักในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเอากฎหมายมาใช้แก้ปัญหาในสังคมที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ถ้าอยู่ในกติกาสังคมไทยจะอยู่ได้โดยปราศจากความแตกแยก ถ้าดูจากคำวินิจฉัยในอดีตประเทศจะเดินได้ ไม่ถึงทางตัน ตนมองโลกในแง่ดี ถ้าทุกคนยอมรับกติกา ไม่เอาความรุนแรง สังคมจะเดินหน้าไปได้