ข่าว

'บั้งไฟ' พิฆาต ภัยร้ายจาก 'นายทุน'

'บั้งไฟ' พิฆาต ภัยร้ายจาก 'นายทุน'

11 พ.ค. 2557

'บั้งไฟ' พิฆาต ภัยร้ายจาก 'นายทุน' : พงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ ... รายงาน

 
                         "งานบุญบั้งไฟ" ประเพณีขอฝนของคนภาคอีสานที่สืบสานกันมานับพันปี จากบั้งไฟไม้ไผ่มาพันและใส่ดินปืน เพื่อจุดให้เกิดไฟประทุให้ไม้ไผ่พุ่งสูง ถูกพัฒนามาเป็นท่อพีวีซี ท่อเหล็ก โดยเพิ่มขนาดและปริมาณดินปืนเข้าไป จากบั้งไฟหมื่น เป็นบั้งไฟแสน และบั้งไฟล้าน สุดท้ายกลายเป็นชนวนสลดที่เกิดขึ้นซ้ำซาก
 
                         ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา "บั้งไฟตะไล" ระเบิดใส่ศีรษะของ "หลวงพ่อสงวน บัวศรี" อายุ 65 ปี รองเจ้าอาวาสวัดบ้านสบายจนมรณภาพ ที่บริเวณกลางทุ่งนาบ้านสบาย ต.รุ่งระวี อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ หลังจาก “หลวงพ่อสงวน” ทำบั้งไฟตะไลมาจุดโชว์ในงานประเพณีบุญบั้งไฟล้านประจำปี   
 
                         จังหวะที่กำลังจุดชนวนบั้งไฟตะไล 1 ข้างแล้ว และกำลังจะหมุนบั้งไฟเพื่อจุดชนวนอีกด้านหนึ่ง วินาทีนั้นเอง บั้งไฟตะไลได้เกิดระเบิดขึ้น !! 
 
                         แรงระเบิดทำให้ร่างของหลวงพ่อสงวนกระเด็นห่างจากฐานที่จุดบั้งไฟ ประมาณ 2 เมตร และหัวไม้ที่อุดหัวบั้งไฟตะไลได้พุ่งไปกระแทกศีรษะอย่างจัง…มรณภาพในทันที !!
 
                         มาตรการวัวหายแล้วล้อมคอกจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ทาง จ.ศรีสะเกษ เร่งหาแนวทางป้องกัน ทั้งการควบคุมเรื่องคุณภาพของบั้งไฟที่มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนกระจายไปทั่วพื้นที่ รวมไปถึงการป้องกันการลักลอบเล่นการพนันอีกด้วย
 
                         “ประทีป กีรติเรขา” ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กำหนดแนวทางป้องกันไว้ว่า ก่อนจัดงานบั้งไฟตามประเพณีของทุกปี ให้ทุกตำบล หมู่บ้าน ชุมชน ต้องจัดประชุมประชาคม แสดงความประสงค์ในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟตามประเพณี พร้อมระบุวันเวลาในการจัดงานจุดบั้งไฟให้ชัดเจน และต้องแจ้งล่วงหน้า 15 วัน
 
                         การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟของแต่ละหมู่บ้านให้จัดได้ 1 ครั้งต่อปี ภายในช่วงประเพณีเดือน 6 เท่านั้น 
 
                         กรณีหมู่บ้านใดมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องจัดงานบุญบั้งไฟ ต้องรายงานเหตุผลความจำเป็นต่ออำเภอแล้วเสนอมาให้จังหวัดทราบก่อน และการจุดบั้งไฟในงานประเพณีบุญบั้งไฟของแต่ละชุมชนให้กำหนดจุดได้ไม่เกิน 1 วัน เว้นแต่ชุมชนขนาดใหญ่ที่แบ่งการปกครองออกเป็นหลายๆ หมู่บ้าน และขอจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟรวมกันตั้งแต่ 3 หมู่บ้านขึ้นไปกำหนดการจุดบุญบั้งไฟได้ไม่เกิน 2 วัน และในการจุดบั้งไฟให้จุดได้ในช่วงเวลากลาวันเท่านั้น
 
                         การจัดงานบุญบั้งไฟแต่ละครั้ง คณะผู้จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ต้องทำบันทึกเป็นข้อตกลงกับนายอำเภอ หากตรวจสอบพบว่ามีการเล่นการพนันบั้งไฟจะต้องยกเลิกการจัดงานทันที และหากมีการดำเนินคดีผู้เล่นการพนันบั้งไฟในงานดังกล่าว คณะกรรมการผู้จัดงาน ต้องถูกดำเนินคดีด้วย รวมถึงกำหนดความรับผิดชอบ หากเกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกาย และความเสียหายต่อทรัพย์สิน อันอาจเกิดจากการจัดงานประเพณีดังกล่าว
 
                         ด้านเจ้าของค่ายบั้งไฟชื่อดังรายหนึ่ง ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ อ้างว่า ค่ายบั้งไฟทุกแห่งพยายามทำบั้งไฟของตนเองให้ได้มาตรฐานที่สุด หรือเรียกว่า "บั้งไฟสั่งได้" ซึ่งมีการตั้งชื่อค่ายให้ชัดเจน เวลานำบั้งไฟไปจุดก็พยายามโฆษณาชื่อค่ายบั้งไฟของตนเอง เพื่อสร้างความเชื่อถือ และสามารถทำบั้งไฟให้ได้ตามมาตรฐานของเจ้าภาพที่สั่งมา แถมเมื่อทำเสร็จจะมีเขียนกำกับไว้ด้วยว่า บั้งนี้จะขึ้นสูงเท่าไหร่ ลอยอยู่ในอากาศได้นานขนาดไหน รวมแล้วกี่ชั่วโมง กี่นาที การทำบั้งไฟสั่งได้เหล่านี้ เป็นที่นิยมของเจ้าภาพที่มุ่งหวังจะรักษาวัฒนธรรมประเพณีไว้ 
 
                         "ส่วนกรณีที่เกิดการระเบิด เชื่อว่าเป็นความประมาทในขณะจุด และการทำบั้งไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็แล้วแต่เจ้าภาพที่จะรับผิดชอบเอากันเอง อย่างไรก็ดี ในแทบทุกจังหวัดของภาคอีสาน ได้มีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟขึ้น ไม่แน่ใจว่า ในทุกๆ จังหวัดได้มีการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมงานบุญบั้งไฟอย่างแท้จริง หรือตั้งใจเล่นการพนัน" เจ้าของค่ายบั้งไฟชื่อดังรายเดิมตั้งข้อสังเกต
 
                         ตราบใดที่ประเพณีวัฒนธรรม ถูกพ่วงโยงกับเรื่องของการพนันและการประชันขันแข่งทำให้ "นายทุน" เข้าไปครอบงำประเพณีวัฒนธรรม และใช้เงินเป็น "เหยื่อ" ล่อให้ประชาชน หรือ ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ คล้อยตาม ไม่ว่าจะมีกฎเกณฑ์ หรือมาตรการอะไรออกมา อาจพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงิน และโศกนาฏกรรมคงจะเกิดขึ้นอีก
 
 
 
 
-------------------
 
('บั้งไฟ' พิฆาต ภัยร้ายจาก 'นายทุน' : พงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ ... รายงาน)