ข่าว

สร้างรั้วกันช้างป่า...ทางเลือกยุติความขัดแย้ง

สร้างรั้วกันช้างป่า...ทางเลือกยุติความขัดแย้ง

15 พ.ค. 2557

สร้างรั้วกันช้างป่า...ทางเลือกยุติความขัดแย้ง : กัมปนาท ขันตระกูลรายงาน

               การเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้าน ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กับช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่ อ.หนองหญ้าปล้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์  เริ่มเป็นปัญหามานับตั้งแต่ปี 2550 โดยมีต้นเหตุมาจากการเกิดฝนแล้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้ช้างป่าที่มีกว่า 200 ตัว ขาดแคลนน้ำและอาหาร จึงพากันออกจากถิ่นที่อยู่รุกล้ำเข้ามายังหมู่บ้านห้วยสัตว์เล็ก หมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ และหมู่บ้านห้วยสามแพร่ง  ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน  โดยมีเป้าหมายอยู่ที่พืชผล การเกษตรที่ชาวบ้านปลูกไว้ 

               ในอดีตในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ  3 หมู่บ้าน ไม่กี่หลังคาเรือน อาศัยอยู่ร่วมกับช้างป่าในธรรมชาติอย่างปกติสุข เพราะมีพื้นที่กว้าง ประชากรช้างป่ามีไม่มากและกระจายกันอยู่ไม่ได้รวมตัวกันเป็นโขลงใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นชาวปกาเกอะญอ ยังชีพด้วยพืชพันธุ์ผลไม้หากินกับป่าไม่ได้ทำการเกษตร ต่อมาในปี 2536 เริ่มมีนายทุนเข้ามาในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน แรกๆ เป็นการขอเช่าที่ดินจากเจ้าของเดิม ทำสัญญากันคราวละ 3-5 ปี เพื่อนำมาพื้นที่มาทำประโยชน์ด้านการเกษตร เมื่อหมดสัญญาก็ขอซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิม

               ขณะที่นายทุนบางรายใช้วิธีบุกรุกจับจองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ-ใต้ ในเขต ต.ป่าเด็ง และป่าอุทยานชาติแก่งกระจาน เพื่อทำไร่สับปะรด ทำสวนยาง และสวนปาล์มน้ำมัน หลังจากนั้นได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินกันไปเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่า

               การซื้อ-ขายทำกันโดยให้กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน รับรู้ถึงการเปลี่ยนเจ้าของ เป็นเรื่องที่ผู้นำท้องถิ่นไม่สามารถโต้แย้งใดๆ ได้ เพราะกลุ่มคนที่เข้ามามีทั้งผู้มีอิทธิพล นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ส่งผลให้การซื้อขายที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ผลที่ตามมาก็คือ การบุกรุกจนพื้นที่ป่าลดน้อยลง เป็นเหตุให้พื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ-ใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทิศตะวันออกของ ต.ป่าเด็ง มีสภาพเป็นเกาะเพราะมีชุมชนล้อมอยู่ คิดเป็นเนื้อที่ในส่วนที่เป็นเกาะ มีพื้นที่รวม 1 แสนไร่

               ขณะเดียวกันผลสำรวจจำนวนประชากรช้างที่พบว่ามีเพียง 80 ตัว ในปี 2548 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 200 ตัว นับจากปี 2550 ทำให้ช้างป่าประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำและอาหารในช่วงหน้าแล้ง จนต้องออกจากป่ามารบกวนชาวบ้าน กรณีช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกจากป่ามากัดกินพืชผลทางการเกษตรในเขต ต.ป่าเด็ง เริ่มเป็นปัญหาที่รุนแรงตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนต่างเห็นตรงกันที่จะทำแนวป้องกัน

               ทั้งนี้ การสร้างรั้วแบ่งเขตกันระหว่างคนกับช้าง เริ่มเป็นผลในปีนี้เมื่อชาวบ้านใน ต.ป่าเด็ง ได้ระดมทุนกันเป็นจำนวนเงินกว่า 8 หมื่นบาท มอบให้ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำโครงการ "รั้วรวมน้ำใจช่วยช้างป่า" ที่บ้านหมู่ 7 ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน  จ.เพชรบุรี 

               รูปแบบที่ทำคือ การก่อสร้างเสาคอนกรีขนาดความกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร สูง 3 เมตร ห่างกันต้นละ 6 เมตร จำนวน  20 ต้น รวมระยะทาง 140 เมตร โดยระหว่างเสามีการขึงด้วยลวดสลิงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 หุน จำนวน 3 เส้น และมีลวดสลิงขนาด 4 หุนผ่ากลาง โดยการสร้างรั้วป้องกันช้างป่า  ใช้แรงงานจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ และชาวบ้านใน ต.ป่าเด็ง ขณะที่หากจะทำโครงการนี้อย่างสมบูรณ์แบบ  ต้องสร้างรั้วระทาง 13 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณรวม 15 ล้านบาท

               สหัส บุตรเล็ก กำนันตำบลป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำแนวรั้วแก้ไขปัญหาช้างป่า กล่าวว่า การสร้างรั้วเพื่อป้องกันช้างป่า เป็นการป้องกันปัญหาในกรณีที่ช้างป่าออกมาทำลายกัดกินพืชผลทางการเกษตร ถือเป็นการอนุรักษ์ช้างป่า ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อช้างป่า ขณะที่ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้อย่างปกติ

               “การทำรั้วป้องกัน ถือเป็นแนวทางให้พื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า ได้ใช้แก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน” กำนัน ต.ป่าเด็ง เปิดมุมมองของการทำรั้วป้องกัน

               สอดรับกับ ขจรศักดิ์ สมบูรณ์ นายอำเภอแก่งกระจาน กล่าวว่า  ที่ผ่านมาแนวทางการจัดเวรยามคอยดูแล ไล่ช้างป่า ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นการร่วมบริจาคเงินจัดทำรั้วป้องกันช้างป่าจึงเป็นทางออกที่เหมาะสม

               "ปัญหาที่เกิดขึ้น มีพื้นฐานมาจาก ต.ป่าเด็ง เดิมเป็นพื้นที่ป่า แต่เมื่อมีชาวบ้านเข้ามาทำประโยชน์ มีการทำการเกษตร ขณะที่แหล่งอาหารในธรรมชาติ มีไม่เพียงพอ การเข้ามาหากินในแหล่งปลูกพืชเกษตร จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะสนับสนุนให้มีการหางบประมาณมาสร้างรั้วป้องกันช้างป่าตลอดแนวที่มีปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า"

               ความสมเหตุสมผลของแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้ทางอำเภอได้ทำโครงการนี้เสนอไปที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจังหวัดได้พิจารณาโครงการนี้เป็นโครงการระดับต้น มีการของบประมาณสนับสนุนไปยังกระทรวงมหาดไทย
 
               “โครงการรั้วรวมน้ำใจช่วยช้างป่า เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือของชาวบ้านกับส่วนราชการในพื้นที่และรั้วแห่งนี้ต่อไป จะเป็นรั้วที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ที่จะนำมาใช้ในการป้องกันช้างป่า  ไม่ให้ล้ำเข้ามาในพื้นที่เกษตร "นายอำเภอแก่งกระจาน กล่าว

               พ.อ.ศักดิ์วุฒิ วงศ์วานิช รองผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กล่าวว่า ปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างชาวบ้านกับช้างป่า เป็นเรื่องจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่มีการป้องกัน  ย่อมจะนำมาซึ่งความสูญเสียด้านใดด้านหนึ่ง  โดยการเลือกที่จะใช้วิธีที่ไม่เหมาะสม ด้วยการฆ่าช้าง

               จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง กำลังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

               “หากเราสามารถแก้ปัญหาการกระทบกระทั่งกัน ระหว่างชาว ต.ป่าเด็งกับช้างป่าได้ ชาวบ้านคงมีความสุข เพราะปัญหาช้างป่าเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างยิ่ง" ทรง มั่งมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าเด็ง อ.แก่งกระจาย  ระบุ

               การจัดทำ "รั้วรวมน้ำใจช่วยช้างป่า" จึงเป็นความร่วมมือของชาวบ้านที่ทนความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่า ที่ออกจากป่ามาบุกรุกกัดกินพืชผลทางการเกษตรไม่ไหว ถือเป็นการดิ้นรนที่จะหาทางแก้ไขปัญหาจากเงินบริจาคโดยมิต้องรอพึ่งพาใบบุญจากหน่วยงานภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว ...!!

......................................

(หมายเหตุ : สร้างรั้วกันช้างป่า...ทางเลือกยุติความขัดแย้ง :  กัมปนาท ขันตระกูลรายงาน)