
ปลาเป็น-ปลาตาย
ปลาเป็น-ปลาตาย : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล
มีเพื่อนผมบางคนเลิกอ่านหนังสือพิมพ์ เลิกดูรายการข่าวทางโทรทัศน์ และเลิกฟังวิทยุ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการมีชีวิตอย่างสงบ ไม่อยากรับรู้เรื่องวุ่นวายต่างๆ และเลือกที่จะชมแต่รายการสารคดีต่างประเทศทางเคเบิลทีวี เพราะได้รับความรู้ ที่ช่วยเปิดหูเปิดตาให้ทันโลก และชมแล้วสบายใจดี
การเอาตัวเองออกจากสังคม เพราะเห็นว่าสังคมนั้นยุ่งยากเกินไป หรือสังคมนั้นเต็มไปด้วยความสับสน และไม่มีคำตอบในปัญหาต่างๆ นั้น เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมานมนานแล้ว ในสมัยก่อนที่สังคมยังไม่มีความสลับซับซ้อนหรือเชื่อมโยงกันเป็นใยแมงมุมเช่นปัจจุบัน คนที่ไม่สามารถรับสภาพที่เป็นอยู่ได้ ก็มักจะปลีกวิเวกไปเป็นฤษีชีไพรอยู่ตามป่าตามเขา ตัดขาดจากการยุ่งเกี่ยวกับคนภายนอก แต่ในยุคปัจจุบัน คงไม่สามารถหลีกลี้หนีหน้าไปไหนได้ เนื่องจากวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับตัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ หรือชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงทำได้เพียงเลิกรับฟังข่าวสารในทุกช่องทาง และติดตามแต่รายการที่ไม่สร้างภาวะมลพิษต่อจิตใจ
มีบางคนบอกว่า เมื่อก่อนเราดูข่าวสารการเมือง ก็สามารถรู้เรื่องราวตั้งแต่ต้นจบจบ รู้ว่าใครทำอะไร หรือใครถูกใครผิด จากพฤติกรรมของคนคนนั้น และจารีตทางสังคม เหมือนกับดูหนังหรือดูละครที่เห็นแจ้งว่าตัวไหนเป็นพระเอกตัวไหนเป็นผู้ร้าย แต่เวลานี้ยากแก่การแยกแยะ เพราะแต่ละคนไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองผิด แต่ยืนยันว่าตนเป็นฝ่ายถูก และไม่มีการเคารพต่อจารีตหรือกฎเกณฑ์กติกา ต่างฝ่ายต่างก็ตีความไปตามอำเภอใจ เรื่องหลายๆ เรื่องจึงไม่ได้มีคำตอบสุดท้าย หรือถูก-ผิด อย่างชัดเจน และแต่ละฝ่ายก็พยายามลากจูงความคิดของตนให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น เรื่องบางเรื่องที่น่าจะจบจึงไม่จบลงง่ายๆ และกลายเป็นหนังภาคต่อที่ยืดยาว
ความคลุมเครือของความผิด-ถูก และเท็จ-จริง เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม เพราะเมื่อใดที่คนในสังคมไม่อาจจำแนกขาว-ดำ ได้ ก็จะทำให้สังคมถูกแบ่งแยกออกเป็นสังคมสีขาว กับสังคมสีดำ หรือหนักหนาไปกว่านั้นก็คือการเป็นสังคมสีเทา ที่ไม่เห็นว่าความผิด-ถูก เป็นเรื่องสำคัญ และมุ่งแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในทุกวิถีทาง ซึ่งเมื่อสังคมไปถึงจุดนั้น ก็คือการถึงกาลที่สังคมใกล้จะล่มสลาย ทำนองเดียวกับพาราสาวัตถี
การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมนั้น มีอยู่ 2 วิธีใหญ่ๆ วิธีแรกคือ ใช้ความเด็ดขาดเข้าจัดการสิ่งที่นอกรีตให้เข้ารูปเข้ารอย วิธีที่สองคือ ใช้มาตรการทางกฎหมายและสังคมเข้าคลี่คลาย การแก้ปัญหาด้วยวิธีแรกนั้น อาจจะได้ผลที่รวดเร็วทันอกทันใจพระเดชพระคุณ แต่ก็จะก่อให้เกิดปัญหาบางอย่าง เช่น ขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติของนานาชาติ หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนวิธีที่สองนั้น ต้องใช้เวลานานกว่าวิธีแรก และต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูง แต่ก็เป็นวิธีที่ทั่วโลกยอมรับ และเมื่อทำสำเร็จก็จะเป็นการขุดรากของปัญหาอย่างถาวร
การแก้ไขปัญหาของสังคมนั้น คงต้องใช้ความระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนต่อสังคมด้วย นั่นก็คือ ทำอย่างไรให้สังคมบอบช้ำน้อยที่สุด และการแก้ปัญหาก็ไม่ใช่เพื่อความสะใจของใคร แต่เพื่อความสุขใจสบายใจของคนส่วนใหญ่ในสังคม
โบราณว่าน้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย-เราต้องการให้ปลาเป็น หรือปลาตายละครับ?
ท้ายคอลัมน์วันนี้ ขอแจ้งข่าวตารางกิจกรรมงาน “อลังการผสานศิลป์ กับศิลปินแห่งชาติ” ที่ซีคอน บางแค ในวันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พบกับ อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงาน “ขุนทอง เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” กับ นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ บก.จุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ และวันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม นิรันศักดิ์ บุญจันทร์, ศักดา วิมลจันทร์ และพินิจ นิลรัตน์ จะเสวนากันถึง “ชีวิตและงานของศิลปินแห่งชาติ อาจินต์ ปัญจพรรค์” ทั้งสองวัน ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ถึง 16.00 น. ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น