'สุรศักดิ์'หัวโต๊ะถกปฏิรูปประเทศไทย
04 มิ.ย. 2557
'สุรศักดิ์' ถกผู้แทนเหล่าทัพ-ส่วนราชการ คณะทำงานเพื่อเตรียมการปฏิรูปประเทศไทย ตีกรอบดำเนินการ 4 ขั้นตอน
4 มิ.ย. 57 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมนัดแรกของคณะทำงานเพื่อเตรียมการปฏิรูปประเทศไทย โดยเชิญหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆ ภาคสังคม สถาบันการเมืองการปกครอง และผู้แทนทุกเหล่าทัพเข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง
จากนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมได้หารือถึงข้อกำหนดแนวทางการปฏิรูปเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ
1. เรื่องความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่าง 2. ความไม่เชื่อศรัทธากระบวนการยุติธรรม หรือ 2 มาตรฐาน ซึ่ง 2 หัวข้อประเทศทั่วโลกมีเหมือนกัน แต่ของไทยจะแตกต่างตรงที่เรามีข้อ 3 คือ เรื่องการปลุกปั่น ยุยง สร้างความเกลียดชังต่างๆ และข้อ 4. การตอกย้ำขยายความขัดแย้ง ซึ่งพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงของผู้เห็นต่าง
นอกจากนี้การปฏิรูปการเมืองที่ประชุมอยากให้ทุกฝ่ายยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การจัดทรัพยากรที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ปฏิรูปกฎหมาย และการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งคณะทำงานได้กำหนดกรอบกว้างๆ โดยขั้นตอนต่อไปจะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งประเทศ และนำมาสังเคราะห์หาข้อสรุปก่อนที่จะรวบรวมผลเพื่อเสนอต่อ คสช. เพื่อให้สภาปฏิรูป หรือสภานิติบัญญัติไปใช้ประโยชน์ต่อ ทั้งนี้หัวหน้า คสช. ได้เน้นย้ำให้หาแนวทางที่ทำให้คนไทยเคารพกฎหมาย และกติกาของบ้านเมือง
"ผมจะใช้เวลา 2 เดือนเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งคงจะได้มากพอสมควร นอกจากนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปของเดิมอยู่แล้ว และจะให้ทีมงานสกัดแยกข้อมูลออกมา และเสนอไปยัง คสช.เพื่อนำไปพิจารณาอีกครั้ง ต่อจากนี้ไปคณะทำงานจะมีการประชุมทุกวัน รวมถึงทำงานในวันเสาร์ และอาทิตย์ เพื่อเร่งรัดการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย และมองว่าประชาชนจะยอมรับรูปแบบการปฏิรูปของ คสช. เพราะข้อมูลทุกอย่างได้รับมาจากความคิดเห็นของประชาชน โดยขั้นตอนต่อไปจะให้ผู้มีอำนาจไปร่างกฎหมาย สำหรับขั้นตอนการจัดเสวนาทางสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จะเป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้งเปิดเว็บไซต์ของคณะทำงานคือ rfm.mod.go.th หรือ ที่อีเมล [email protected] หมายเลขโทรศัพท์ 02-6223065 และ 02-2229201"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางการปฏิรูปนั้น มีทั้งเรื่องการเมืองการปกครอง กระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่ควบคุมการยุยงปลุกปั่นให้แตกแยก และการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ต้องใช้กฎหมายป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งกรอบการดำเนินการ คือ
ขั้นที่ 1. รวบรวมข้อมูล โดยนำผลงานที่มีอยู่เดิม มาประกอบกับข้อเสนอของกลุ่มต่างๆ รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาสังเคราะห์ เพื่อจัดทำ หัวข้อการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
ขั้นที่ 2. การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ด้วยการ จัดเวทีสานเสวนาในส่วนกลาง หรือสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้ง การส่งหัวข้อรับฟังให้ศูนย์ปรองดองฯ เพื่อจัดกิจกรรมรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศ รับฟังความความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ และตู้ไปรษณีย์ คณะทำงานฯ
ขั้นที่ 3. รวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นจากทุกช่องทาง มาจัดกลุ่ม แยกประเด็นให้ครบถ้วน
ขั้นที่ 4. สรุปผลความคิดเห็นเพื่อรายงาน คสช.ต่อไป