'แวซีตีอัยซะห์ แวหลง'คืนฝันร้ายหนูน้อย5ขวบ
'แวซีตีอัยซะห์ แวหลง' คืนฝันร้ายหนูน้อย5ขวบ : สุพิชฌาย์ รัตนะ/ภูชิสส์ พิรุณละอองรายงาน
มากกว่า 2 สัปดาห์แล้วที่ ด.ญ.แวซีตีอัยซะห์ แวหลง หรือ "น้องซ๊ะห์" ในวัย 5 ขวบต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงโรงพยาบาลปัตตานี หลังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเมื่อค่ำคืนวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จนต้องสูญเสียขาข้างขวาจากแรงระเบิดทำให้แพทย์จำต้องตัดขาเพื่อรักษาชีวิต ขณะที่ขาซ้ายก็ได้รับบาดเจ็บกระดูกร้าวเข้าขั้นสาหัสไม่ต่างกัน
ชีวิตที่เปลี่ยนไปของ "น้องซ๊ะห์" ส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกายภายนอกและสภาพภายในจิตใจที่ยากที่จะลืมเลือน โดยเฉพาะหัวอกของผู้เป็นแม่อย่าง "นางนะดา สาวิชัย" ที่ตกเป็นเหยื่อร่วมชะตากรรมในคืนวันที่โหดร้ายนั่นด้วย
แม้วันนี้ร่างกายของผู้เป็นแม่จะเริ่มฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ หลงเหลือไว้เพียงรอยแผลเป็นบริเวณข้อเท้าแต่เทียบไม่ได้กับบาดแผลทางจิตใจที่ต้องเห็นลูกน้อยตกอยู่ในสภาพที่ไม่ควรเป็น
"ด้วยวัยที่ยังเล็กนักเมื่อได้รับบาดเจ็บจึงออกอาการงอแง โดยเฉพาะในยามที่ต้องล้างแผล ไม่เพียงแค่น้ำตาลูกที่ร่วงหล่น หัวอกของแม่ก็แทบสลายที่เห็นลูกน้อยร้องครวญด้วยความเจ็บปวด" เสียงสะอื้นจากหัวอกผู้เป็นแม่
แม่ "น้องซ๊ะห์" บอกว่า ครอบครัว "แวหลง" เรามีสมาชิกทั้งหมด 5 คน คือ พ่อแม่และลูกอีก 3 คนโดยน้องซ๊ะห์เป็นลูกคนที่ 2 มีพี่สาวอายุ 12 ขวบ 1 คนและน้องชายในวัย 2 ขวบ 1 คน หลังเกิดเหตุต้องหอบลูกน้อยมาพักอาศัยที่ห้องพักโรงพยาบาลปัตตานี เสมือนเป็นบ้านหลังที่สองซึ่งเป็นทางออกเดียวที่ให้สมาชิกครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน
อีกนัยหนึ่งเพื่อร่วมส่งมอบกำลังใจให้ "น้องซ๊ะห์" ได้มีเพื่อนเล่นเพื่อนคุย แม้ลึกๆ จิตใจของแม่จะเป็นห่วงลูกชายคนเล็กวัยเพียง 2 ขวบที่ไม่อยากให้มาอยู่ที่โรงพยาบาลด้วย แต่เพราะความผูกพันที่แม่ลูกคู่นี้ไม่เคยอยู่ห่างไกลกันนับจากวันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก
ขณะเดียวกันลูกคนสุดท้องยังคงต้องดื่มนมแม่จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหอบลูกมาใช้ชีวิตคลุกคลีกับโรงพยาบาล ประกอบกับสภาพร่างกายที่บาดเจ็บจากเหตุระเบิด จึงไม่สะดวกในการเดินทาง ที่สำคัญไม่อาจละทิ้งสายตาจากน้องซ๊ะห์แม้เพียงเสี้ยวนาที
"แม่ห่วงอนาคตของน้องในยามที่เติบโตหากไม่มีพ่อแม่อยู่ลูกจะมีชีวิตอย่างไรในสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม เบื้องต้นจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงช่วยเหลือตามสิทธิที่ควรได้รับ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเรื่องการเรียนที่อยากให้ลูกเรียนสูงที่สุดเพื่ออนาคตจะได้มีรายได้เลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดไม่เป็นภาระให้คนอื่น" นะดา กล่าวด้วยน้ำตา
ความจำเป็นที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้ "มะรอดี แวหลง" ผู้เป็นพ่อซึ่งรับหน้าที่เป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนเมืองปัตตานี ต้องลางานชั่วคราวเพื่อมาช่วยดูแลครอบครัวอีกทางหนึ่ง เพราะรู้ดีว่าช่วงเวลานี้ทั้งภรรยาและลูกต่างต้องการกำลังใจเพื่อก้าวผ่านความเจ็บปวดให้ได้
มะรอดี บอกว่า วันนี้ไม่อยากรื้อฟื้นถึงเหตุการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดที่สุดในชีวิตอีกแล้ว สิ่งที่ทำต่อไปในวันนี้ คือทำทุกทางเพื่อให้ลูกหายจากความเจ็บปวดโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงขาเทียมแต่ก็เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคต
ปัจจุบันขาข้างที่ขาดบาดแผลยังไม่แห้งสนิทต้องล้างแผลทุกวันจนกว่าเนื้อเยื่อจะสมานเป็นเนื้อเดียวกัน จึงจะเริ่มเข้าสู่การฝึกใส่ขาเทียมได้ ส่วนขาซ้ายก็ยังต้องรอเพราะอยู่ระหว่างการเข้าเฝือกจากกระดูกร้าว แต่โชคดีที่ไม่แตกสาหัส นอกจากนี้ยังมีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณหลังเท้า จึงต้องรอให้หายเพื่อฝึกการลงน้ำหนักเดิน ซึ่งทุกขั้นตอนต้องรออย่างน้อยประมาณ 2 เดือน
"ทุกวันนี้ลูกต้องนั่งนอนอยู่บนเตียงลุกเดินไม่ได้ พ่อแม่จึงต้องเป็นมือที่สามให้ลูกในการใช้ชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาให้ลางานออกมาดูลูก จนกว่าจะหายดี เพราะทุกคนสงสารและเป็นห่วงเด็กที่เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ต้องมารับเคราะห์ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น" มะรอดี กล่าว
ขณะที่ นพ.อรุณ ประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี กล่าวว่า สภาพร่างกายและจิตใจของ "น้องซ๊ะห์" ดีขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกับอาการเครียดของแม่ที่เริ่มทุเลาเบาบางลงไปด้วย เมื่อเห็นลูกมีอาการดีขึ้นจนสามารถกลับมาเล่นตามประสาวัยเด็กได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ช่วงนี้จึงต้องรอให้บาดแผลขาที่ถูกตัดบริเวณใต้เข่าหายสนิทเพื่อเตรียมใส่ขาเทียม ขณะนี้ได้ประสานไปยังศูนย์สิรินธร กระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลเกี่ยวกับผู้พิการในการเข้ามาดูแลเตรียมใส่ขาเทียมแบบเบาชนิดพิเศษ เพื่อให้ง่ายในการใช้ชีวิตของเด็ก
"ในทางการแพทย์การตัดขาบริเวณใต้เข่าเด็กสามารถปรับตัวและกลับมาเดินได้เหมือนขาปกติค่อนข้างดี เช่นเดียวกับกรณีของน้องซ๊ะห์ที่คาดว่าไม่น่าห่วงนัก แต่เรื่องสภาพจิตใจนั้นต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในช่วงที่เด็กกลับไปใช้ชีวิตปกติ โดยประเด็นนี้มีทีมจิตแพทย์คอยดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเพื่อร่วมกันดูแลสภาพจิตใจของเด็กให้เข้มแข็งขึ้น" นพ.อรุณ กล่าว
แม้บาดแผลภายนอกเริ่มหาย ทว่าเทียบกันไม่ได้เลยกับแผลที่บาดลึกในจิตใจ
สิ่งนี้ต้องรอการเยียวยาด้วยกาลเวลาเท่านั้น ...
..................................................
(หมายเหตุ : 'แวซีตีอัยซะห์ แวหลง' คืนฝันร้ายหนูน้อย5ขวบ : สุพิชฌาย์ รัตนะ/ภูชิสส์ พิรุณละอองรายงาน)