ข่าว

"พุดซ้อนด่าง"ใบสวยเด่น

30 ม.ค. 2552

ไม้ดอกในตระกูล "พุด" มีหลายชนิด รวมทั้ง "พุดซ้อนด่าง" ซึ่งนิยมปลูกใช้ในงานด้านภูมิทัศน์ ไม่เฉพาะใบที่โดดเด่น หรือดอกที่มีกลิ่นหอมใช้ปักแจกันไหว้พระ สรรพคุณทางยาก็มี

ใบใช้ตำพอกแก้ปวดศีรษะ แก้เคล็ดขัดยอก ดอกคั้นน้ำทาแก้โรคผิวหนัง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ ในวงศ์ RUBIACEAE สูง 2-5 เมตร ทรงพุ่มกลม ค่อนข้างหนาทึบ เปลือกสีน้ำตาลดำ ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ ผิวใบจะสวยเด่น เพราะเป็นใบลายด่างสีเขียวเข้มตัดสีเขียวอ่อนถึงขาวนวล ดูแล้วสวยงาม ดอก สีขาว มีกลิ่นหอมนาน ออกดอกเดี่ยวที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกซ้อน บิดเวียนเป็นเกลียว บานเต็มที่กว้าง 5-8 เซนติเมตร ออกดอกทั้งปี ผล มีทั้งผลสั้น ผลยาว รูปไข่ถึงรูปแกมรูปขอบขนาน เมื่อแก่สีเหลืองถึงส้ม มีเมล็ดด้านในจำนวนมาก ขยายพันธุ์ ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง เติบโตเร็วในดินร่วนระบายน้ำได้ดี ความชื้นปานกลาง และแสงแดดเต็มวัน