ข่าว

ความมั่นคงแอฟริกา:แซมเบีย

ความมั่นคงแอฟริกา:แซมเบีย

07 ก.ค. 2557

ความมั่นคงแอฟริกา:แซมเบีย : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น

                ได้มีโอกาสไปดูงานด้านความมั่นคงสองประเทศในแอฟริกามา ในตอนที่สองนี้จะเขียนถึงสาธารณรัฐแซมเบีย ซึ่งมีกองทัพที่เล็กมาก แต่จัดการกับปัญหาความมั่นคงได้ไม่เลวครับ

                แซมเบีย เป็นประเทศที่ถ้าถามคนไทยสิบคน คงอ้าปากหวอสักครึ่งหนึ่ง ด้วยความที่ไม่คุ้นในเวทีระดับประเทศเอาเลย และไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับใครนัก ชนิดที่ว่าพาสปอร์ตราชการยังเก็บตังค์ ทำให้แซมเบียเป็นประเทศที่ถูกหลายฝ่ายมองข้าม สิ่งนี้อาจเป็นผลดีต่อความมั่นคงด้วยก็เป็นได้ เพราะประเทศใจกลางกาฬทวีปแห่งนี้ไม่มีภัยคุกคามแต่อย่างใด ทั้งที่ก็มีความหลากหลายแตกต่างถึง 73 กลุ่มชาติพันธุ์ และมีหัวหน้าเผ่าต่างๆ ถึง 288 กลุ่ม ต่างจากประเทศทำนองเดียวกัน ที่ขึ้นไปทางเหนือไม่ไกล อย่างเช่น สองคองโก หรือรวันดา หรือประเทศที่เจริญกว่าอย่างแทนซาเนีย และซิมบับเว ที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและก่อการร้ายอย่างหนัก แต่ประเทศดินแดนไม่ติดทะเลแห่งนี้ไม่มีเลย จึงให้ความสนใจเรื่องพัฒนาโทรคมนาคมจนมี 4จีใช้ และอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม หาประโยชน์อย่างยั่งยืนจากการท่องเที่ยวน้ำชมวิคตอเรียที่สวยงามที่สุดของแอฟริกา

                กองทัพแซมเบียเป็นกองทัพขนาดเล็กมาก ไม่มีกองทัพเรือเพราะไม่ติดทะเล กองทัพอากาศมีอากาศยานที่ส่วนใหญ่ทำในรัสเซียค่อนข้างเก่า วันที่ผมไปเยือน รอง ผบ.ทอ.เฮลิคอปเตอร์ตกเสียชีวิต เพราะเครื่องยนต์ขัดข้อง ภารกิจของ ทอ.เป็นด้านธุรการและช่วยบรรเทาด้านภัยพิบัติ ซึ่งก็คล้ายกับงานของ ทบ. ที่ปราศจากศึกสงคราม เพราะไม่ขัดแย้งกับประเทศใด การให้ความร่วมมือกับสหภาพแอฟริกาในการรักษาสันติภาพของทวีปเป็นเรื่องที่มีแผนไว้ แต่ไม่เน้นมากนัก หน่วยงานที่มีบทบาทมากที่สุดในกองทัพกลับเป็นหน่วยงานที่ชื่อว่า หน่วยเหล่าทัพแห่งชาติแซมเบีย หรือ แซทเอ็นเอส ทำนองเดียวกับหน่วยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาของเรา

                ในประเทศที่ยังยากจน มีอะไรต้องพัฒนาอีกมาก ทหารเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องพวกนั้น ก่อนจะได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1964 หนึ่งปีหน่วยงานนี้ก็ได้รับการจัดตั้งแล้ว ทุกวันนี้การพัฒนาส่วนใหญ่มุ่งเน้นการฝึกอบรมชาวบ้านให้ช่วยเหลือตนเองได้มากกว่าการลงแรงลงเครื่องจักรก่อสร้างใหญ่โต กลไกของหน่วยได้เข้าไปช่วยพัฒนาในด้านสำคัญสี่ด้านคือ พืชผล ปศุสัตว์ อุตสาหกรรม และจักรกล ทั้งหมดนี้ทำให้ชีวิตชนบทสบายขึ้นมา ชาวบ้านมีงานทำ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากจนเกินไป นอกจากนี้หน่วยงานนี้ยังรับผิดชอบเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนนหนทางและเขื่อนฝาย

                การไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้านและการปลอดจากการเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญทำให้แซมเบียไม่เป็นที่สนใจใคร่แข่ง จนทำให้เกิดปัญหาจากมหาอำนาจ กระนั้นก็ตาม เริ่มเห็นการเข้ามาเกาะเกี่ยวของจีน ในรูปของการช่วยเหลือ เช่น สร้างอาคารถาวรหลายแห่ง ขณะที่ธุรกิจจีนก็เข้ามาตีตลาดประเทศนี้ แข่งขันกับธุรกิจอินเดียที่อยู่มาก่อนสามสี่ชั่วคน ผลกระทบของโลกาภิวัตน์อันนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองผ่านทางปฏิสัมพันธ์อันมากมายและหลายหลาก อาจทำให้ประเทศเล็กๆ น่ารักนี้ต้องรับมือกับปัญหาความมั่นคงใหม่ๆ ในอนาคต