โรงจำนำผวา 'ทอง' เสี่ยงสูง
18 ก.ค. 2557
โรงจำนำผวา 'ทอง' เสี่ยงสูง หันรับสินค้าแบรนด์-ปรับใช้เครื่องสแกนนิ้ว : โดย...ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง
ราคาทองคำที่อยู่ในทิศทางขาลงนอกจากส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่เข้ามาซื้อขายทองเพื่อเก็งกำไรโดยตรงแล้ว ยังส่งผลต่อการดำเนินงานของ "โรงรับจำนำ" ด้วยเช่นกัน โดยนายมานะ เกลี้ยงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงรับจำนำของรัฐสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยอมรับว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมียอดผู้ใช้บริการและวงเงินน้อยลงอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา ก็พบว่ามีผู้เข้ามาใช้บริการน้อยกว่าที่ประเมินไว้ และน้อยกว่าปีก่อน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาทองปรับลดลงมาก ทำให้ประชาชนไม่อยากมาใช้บริการและอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากปีก่อนที่ราคาทองขึ้นไปสูงมาก จึงไม่มาไถ่ถอนออกไป เป็นผลให้โรงจำนำส่วนใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชนประสบปัญหาขาดทุน เพราะรับจำนำมาบาทละ 2.1-2.2 หมื่นบาท แต่ราคาตกไปเหลือ 1.8 หมื่นบาท เลยปล่อยหลุดแล้วไปซื้อใหม่คุ้มกว่า ทำให้เราขาดทุน 3,000-4,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ปีนี้ก็ยอมขายขาดทุนไปประมาณ 29 ล้านบาทจากตั๋วจำนำที่รับมากว่า 3 หมื่นใบ
“เดิมมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและราคาไม่ตกเหมือนหลักทรัพย์อื่นๆ จึงเป็นทรัพย์ที่คนนิยมนำมาจำนำ แต่จากประสบการณ์ปีก่อนทำให้รู้ว่าทองคำก็มีโอกาสขาดทุนได้เหมือนกัน เพราะราคามีความผันผวนมาก จากขึ้นลงวันละ 50-100 บาท บางครั้งก็ขึ้นลงวันละ 400-500 บาท เราเลยต้องมาทบทวนปรับหลักเกณฑ์การรับจำนำทองกันใหม่” นายมานะกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงจึงได้เพิ่มช่องทางการรับจำนำมากขึ้น จากขณะนี้เป็นทอง เงิน เพชร 97% ก็จะหันไปรับสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น ทั้งแว่นตา นาฬิกา ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือมีบ้างแต่ไม่มากนัก และจะให้ราคาประมาณ 50% ของมูลค่าสินค้าเพราะราคาตกลงเร็วมาก ทำให้หลงจู๊ที่ทำหน้าที่ตีราคาต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญอย่างมากเพื่อไม่ให้ขาดทุนต่างกับทองที่ให้ราคา 85% ของราคาแต่ละวัน
นอกจากนี้ ยังต้องเร่งจำหน่ายสินทรัพย์ที่หลุดนำออกไปเพื่อหาสภาพคล่องมาใช้หมุนเวียน โดยมีการเปิดประมูลทุกวัน วันละ 300 รายการ เพราะโรงรับจำนำของรัฐมียอดทำธุรกิจเดือนละประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการปีละ 1.2 ล้านคน จากจำนวน 29 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 28 สาขา และที่ต่างจังหวัดมีที่ จ.ระยอง แห่งเดียว เพราะตามกฎหมายห้ามไม่ให้โรงรับจำนำแข่งขันกับเอกชน และเปิดสาขาได้ค่อนข้างยากมีข้อจำกัดเยอะ อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าจะเปิดสาขาให้ได้ปีละ 1 แห่งนับจากนี้ไปเพื่อรองรับความต้องการใช้บริการของกลุ่มรากหญ้าให้มีเงินหมุนเวียนใช้ในช่วงสั้นๆ แทนการกู้เงินจากนอกระบบที่ดอกเบี้ยสูง
เนื่องจากโรงรับจำนำของรัฐจะคิดดอกเบี้ยเพียง 0.25 บาทต่อเดือนในส่วนของเงินไม่เกิน 5,000 บาท มากกว่า 5,000 ถึง 1 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 บาทต่อเดือน วงเงิน 1-2 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ย 1 บาท และเกิน 2 หมื่นบาทคิดสูงสุดเพียง 1.20 บาทเท่านั้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสามารถปรับลดลงได้ขึ้นอยู่กับนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น ช่วงน้ำท่วมใหญ่และช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมาเพื่อลดภาระประชาชน
รวมทั้งจะปรับโฉมการใช้บริการด้วยการนำระบบเครื่องสแกนนิ้วมืออัตโนมัติมาใช้ โดยไม่ต้องใช้หมึกพิมพ์หัวแม่มือเหมือนที่ทำมาในอดีต จะนำร่องที่สาขามีนบุรีซึ่งเป็นสาขาที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และใช้ระบบคอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูลบัตรประชาชนเอาไว้ทำให้รวดเร็วขึ้นและเวลาไถ่ถอนก็ตรวจสอบจากข้อมูลและลายนิ้วมือที่บันทึกไว้รวมถึงทำบาร์โค้ดของสินทรัพย์ที่จำนำแทนเขียนตั๋วจำนำก็จะทำให้ลดขั้นตอนลงได้มากไม่ต้องไม่ค้นสมุดที่มีจำนวนมากบางสาขาใช้ 30-40 เล่มต่อเดือน โดยปีหน้าจะขยายบริการดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกสาขาต่อไป
ด้าน พ.อ.เสริมศักดิ์ อนันตกาญจน์ รองผู้อำนวยการ สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร สายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเป็นโรงรับจำนำที่ขึ้นตรงกับ กทม. ระบุว่า ส่วนของ กทม. มีโรงรับจำนำจำนวน 21 สาขา จากจำนวน 50 เขต ซึ่งจริงๆ แล้วอยากจะเปิดให้ครบทุกเขตเพื่อรองรับการใช้บริการของคนกรุงเทพฯ แม้จะมีโรงรับจำนำของเอกชนจำนวนมากกว่า 200 แห่ง ในกทม. แต่โรงรับจำนำของ กทม.จะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเอกชนมาก อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเปิดสาขาของโรงรับจำนำของ กทม. ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนและก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2554 มีนโยบายไม่ให้ กทม.เปิดสาขาเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา กทม.มีแนวคิดจะปรับปรุงภาพลักษณ์และการบริการของโรงรับจำนำใหม่ เริ่มจากสาขาจอมทองก่อน ส่วนที่เหลือจะทยอยปรับสาขาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้มีความทันสมัย บรรยากาศน่าเข้ามาใช้บริการ มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงการปรับปรุงระบบสารสนเทศที่ใช้เครื่องสแกนนิ้วมือ และเก็บข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งรูปของทรัพย์และบาร์โค้ด ซึ่งจะทดลองระบบในช่วง 3 ดือนนี้ก่อนจะนำมาใช้เต็มรูปแบบต่อไป
“การใช้เครื่องสแกนนิ้วมือดังกล่าวน่าจะนำหน้าการให้บริการของโรงรับจำนำเอกชน โดยตัวเครื่องไม่แพงมากนักตกพันกว่าบาทเท่านั้น แต่ที่ช้าต้องมีการวางระบบเชื่อมโยงกันทุกสาขาด้วย รวมถึงจะผลักดันให้มีการปรับปรุงระเบียบบางอย่างให้สอดรับการทำงานแบบเอกชนด้วย”
สำหรับแนวคิดในการทำงานของโรงรับจำนำ กทม.ไม่ได้เน้นแข่งขันกับภาคเอกชน แต่มีเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถนำทรัพย์สินมาเปลี่ยนเป็นเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ในอัตราดอกเบี้ยถูก โดยหากไม่เกิน 5,000 บาทตกอยู่ที่ร้อยละ 0.25 บาทต่อเดือน เกิน 5,000 นบาท อยู่ที่ 1 บาทต่อเดือน และเกิน 1.5 หมื่นบาท คิด 2 บาทต่อเดือน มีระยะเวลาจำนำรวม 5 เดือนจึงจะครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งต่างจากโรงรับจำนำเอกชนที่คิด 2 บาท หรือ 2% ไม่ว่าทรัพย์จะมีมูลค่าเท่าใด
ส่วนทรัพย์ที่นำมาจำนำส่วนใหญ่กว่า 90-95% เป็นทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือประกอบอาชีพ และเครื่องดนตรีมีน้อยมาก โดยการตีราคาทองเดิมจะอยู่ที่ 87.5% ต่ำกว่าเอกชนเล็กน้อย เพราะมองว่าทองคำเริ่มมีราคาผันผวนและมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่เพชรจะให้ 60% สูงกว่าเอกชนที่ให้ 50%
“ปีนี้มองว่าทองคำราคาผันผวนมากจึงจะตีราคาให้เพียง 70% ของมูลค่าแต่ละวัน และจะรับน้อยลงกระจายความเสี่ยงไปยังทรัพย์อื่นๆ มากขึ้น จึงอาจทำลูกค้าหนีไปใช้บิรการโรงจำนำของเอกชนแทน โดยแต่ละปีโรงรับจำนำ กทม.จะมีเงินหมุนเวียนปีละ 9,000 ล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจโรงรับจำนำที่มีเงินหมุนเวียนกว่าแสนล้านบาทต่อปี และมีผู้ใช้บริการของกทม.ประมาณ 5 แสนคนต่อปี โดยพบว่าประมาณ 15% ที่ไม่มาไถ่ถอนทรัพย์คืน” นายเสริมศักดิ์กล่าว
----------------------------
(โรงจำนำผวา 'ทอง' เสี่ยงสูง หันรับสินค้าแบรนด์-ปรับใช้เครื่องสแกนนิ้ว : โดย...ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง)