ข่าว

ศิริราชแถลงไม่ใช่แมงมุมแม่ม่ายกัดหนุ่มแพร่

18 ก.ค. 2557

ศิริราชเผยผลพิสูจน์ซากแมงมุมพิษกัดหนุ่มแพร่ เบื้องต้นไม่ใช่ 'แม่ม่ายสีน้ำตาล' แต่เป็นกลุ่มแมงมุมพิษสีน้ำตาล แนะถูกกัดให้รอดูอาการ 1 วัน ไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์

                  เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 กรกฎาคม  ที่ตึกอำนวยการ รพ.ศิริราช  พญ.ธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก ศูนย์พิษวิทยาศิริราช แถลงข่าวผลพิสูจน์ซากแมงมุม กรณีผู้ป่วยถูกแมงมุมพิษกัดที่ จ.แพร่ ว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์พิษฯ ได้รับการติดต่อจาก รพ.แพร่ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วยที่สงสัยว่าถูกแมงมุมพิษกัดที่ขา 2 ข้าง ซึ่งเป็นวันที่ 2 หลังจากผู้ป่วยถูกแมงมุมกัด จากการพิจารณาพบว่า ผู้ป่วยน่าจะถูกแมงมุมกัดจริง เนื่องจากผู้ป่วยเห็นตัวแมงมุม สามารถบอกได้ว่าเป็นสีน้ำตาลแดง ระบุขนาด และได้ตีแมงมุมจนตาย


                พญ.ธัญจิรา กล่าวอีกว่า  จากการพิจารณาอาการของผู้ป่วยเข้าได้กับกลุ่มอาการที่เรียกว่า "ลอกโซเซลิซึม (Loxoscelism)" ซึ่งเกิดจากแมงมุมพิษสีน้ำตาลในกลุ่มลอกโซเซเลส สปีชีส์ (Loxosceles Species) เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณรอยกัด ต่อมาผิวหนังบริเวณโดยรอบที่กัดมีการบวม เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินคล้ำ และมีถุงน้ำสีน้ำเงินออกม่วง นอกจากนี้ ยังมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็เลือดต่ำ การทำงานของตับและไตผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ และติดเชื้อแทรกซ้อนในกระแสโลหิต จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาหดหลอดเลือด การฟอกไต และการผ่าตัดแผลที่ติดเชื้อ

                "อาการป่วยของผู้ป่วยเป็นคนละกลุ่มกับแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล แต่อาจมีการสับสนเกี่ยวกับชื่อได้ เนื่องจากมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน ซึ่งอาการของผู้ป่วยที่ถูกแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลกัดจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง อาจมีเหงื่อไหลออกมาก ปวดเกร็งกล้ามเนื้อท้อง ปวดขา อาการจะเด่นทางระบบประสาท และแผลไม่มีการอักเสบเช่นผู้ป่วยรายนี้" พญ.ธัญจิรา กล่าว

                พญ.ธัญจิรา กล่าวอีกว่า นอกจากวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วยแล้ว ต้องดูลักษณะของแมงมุมที่กัดด้วย จึงบอกได้ว่าถูกแมงมุมชนิดใดกัด ซึ่งโชคดีที่ผู้ป่วยรายนี้ได้ตีแมงมุมจนตาย โดยญาติผู้ป่วยได้เก็บซากแมงมุมนำส่งศูนย์พิษวิทยาศิริราช จึงได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงและสัตว์ขาข้อคือ ผศ.ณัฐ มาลัยนวล และ รศ.พญ.สุภัทรา เตียวเจริญ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ด้วยการดูแมงมุมด้วยตาเปล่าและกล้องจุลทรรศน์ โดยผลการตรวจเบื้องต้นพบว่า แมงมุมที่ส่งมานั้นมีทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก โดยแมงมุมตัวใหญ่เป็นแมมมุมที่พบทั่วไปตามบ้านและสวน ไม่มีพิษ

                ส่วนตัวเล็กขนาด 7 มิลลิเมตรนั้นพบว่า เป็นแมงมุมในกลุ่มแมงมุมพิษสีน้ำตาล (Family Brown Rescluse) ลักษณะเด่นของแมงมุมกลุ่มนี้คือ มีตา 3 คู่กระจายอยู่เป็นรูปตัวยู รวมเป็น 6 ตา ซึ่งต่างจากแมงมุมทั่วไปที่มี 4 คู่หรือ 8 ตา ขณะที่เขี้ยวของแมงมุมก็โค้งเข้ามาด้านใน ไม่ได้โค้งลง อย่างรก็ตาม เนื่องจากซากแมงมุมมีการเปลี่ยนสภาพ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบลักษณะเด่นของแมงมุมกลุ่มนี้ได้คือ ลายที่มีลักษณะคล้ายไวโอลินที่ลำตัว จึงต้องมีกระบวนการตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป ก่อนจะระบุได้ชัดเจนมากกว่านี้ ซึ่งถือว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นรายแรกของประเทศไทยที่เข้ามารักษาจากการถูกแมงมุมชนิดนี้กัด พร้อมด้วยซากแมงมุม เพราะปกติส่วนใหญ่จะเข้ามารักษาอย่างเดียว โดยไม่มีซากแมงมุมและมักจะอธิบายลักษณะแมงมุมไม่ได้

                รศ.พญ.สุภัทรา กล่าวว่า แมงมุมพิษที่พบทั่วไปเท่าที่มีรายงานคือ แมงมุมแม่ม่ายดำ แม่ม่ายน้ำตาล และแมงมุมพิษสีน้ำตาล โดยแมงมุมแม่ม่ายดำจะมีขนาด 1-2 เซนติเมตร ตัวสีดำ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะจับตัวผู้กินจึงได้ชื่อว่าแม่ม่าย ลักษณะเด่นคือมีลายนาฬิกาทรายใต้ท้อง ส่วนแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลจะมีลักษณะเช่นเดียวกับแมงมุมแม่ม่ายดำ แต่มีสีน้ำตาล โดยพิษในกลุ่มแมงมุมแม่ม่าย พิษจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผิวหนังตาย มีเลือดออก มีพิษรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนแมงมุมสีน้ำตาล มีขนาดเล็กเช่นกันประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะเด่นคือมีลายไวโอลินที่ส่วนของอก แต่พิษของแมงมุมสีน้ำตาลจะม่เป็นพิษต่อระบบประสาท แต่พิษจะทำปฏิกิริยาที่เยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้เซลล์ตาย เมื่อถูกกัดมักไม่มีอาการในระยะแรกแต่หลังจากนั้น 3-8 ชั่วโมง จะเริ่มรู้สึกเจ็บ บวมแดง มีการอักเสบ เป็นผื่น แผลเริ่มมีสีดำไหม้ เป็นหนอง ขนาดแผลเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2.5 เซนติเมตร หากไม่รักษา เนื้อจะตายลุกลามไปเรื่อยๆ โดยแมงมุมสีน้ำตาลไม่ใช่แมงมุมในถิ่นบ้านเรา ส่วนใหญ่อยู่แถบอเมริกากลาง เช่น เม็กซิโก

                นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมพิษวิทยาคลินิก และที่ปรึกษาสถานเสาวภา กล่าวว่า สถานเสาวภามีคลินิกพิษจากสัตว์ สำหรับแมงมุมมีเข้ามาปรึกษาประปราย ปีละไม่ถึง 10 รายเชื่อว่าคนที่ถูกแมงมุมกัดมีมากกว่า แต่ไม่ได้เข้ามาปรึกษา ทั้งนี้ แมงมุมมีพิษทั้งหมด อยู่ที่ว่ามีพิษมากหรือพิษน้อย อย่างแมงมุมทั่วไปก็สามารถกัดได้ แต่อาการจะคล้ายแมลงกัดต่อย มีอาการปวดบวมร้อน หากถูกแมงมุมกัดจะแยกว่ามีพิษมากหรือน้อย ควรไปพบแพทย์หรือไม่ ให้สังเกตจากอาการ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจำลักษณะแมงมุมไม่ได้ โดยหากถูกกัดแล้วให้รอดูอาการ 1 คืน หากมีอาการแค่ปวดบวมธรรมเจ็บหรือผื่นขึ้น ก็ไม่เป็นไร แต่หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบมาพบแพทย์ นอกจากนี้ หากถูกกัดแล้วมีอาการปวดจนทนไม่ไหว หน้ามืด อาเจียน ไข้ขึ้น ให้มาพบแพทย์ทันที ส่วนการป้องกันแมงมุมกัดนั้น พวกยาทาป้องกันอาจใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ทางที่ดีคือควรจัดบ้านให้สะอาด และไม่แหย่แมงมุมเล่น

                "แมงมุม 1 ตัว ทำให้เสียชีวิตน้อยมาก แต่ทำให้อาการหนักได้ บางสายพันธุ์แม้พิษจะรุนแรงมากกว่างู แต่ด้วยสัดส่วนของแมงมุมแล้ว ซึ่งมีขนาดเล็ก ปริมาณพิษจึงน้อยมาก ก็ไม่ทำให้เกิดพิษรุนแรง นอกจากนี้ แมงมุมแต่ละตัวปริมาณน้ำพิษไม่เท่ากัน แม้จะเป็นแมงมุมชนิดเดียวกัน แต่กัดแต่ละครั้งก็ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการมากน้อยต่างกันได้ บางรายกัดเป็นแผล บางรายก็อาจรุนแรง"นพ.สุชัยกล่าว


แพทย์ผิวหนังเตือนระวังแมงมุมพิษช่วงหน้าฝน


                ดร. นพ.เวสารัช  เวสสโกวิท  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง และประธานฝ่านแพทย์และจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีมีประชาชนถูกแมงมุมกัดว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้สัตว์จำพวกแมลงมีพิษต่าง ๆ  มักจะหลบซ่อนเข้ามาตามบ้านเรือน จึงควรทำความสะอาดและตรวจสอบที่นอนก่อนนอนเสมอ  สำหรับแมงมุมพิษ ที่มีความอันตรายและควรระมัดระวัง จัดแบ่งเป็น  2 ชนิด ได้แก่  แมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spider) และแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (brown recluse spider)

                แมงมุมแม่ม่ายดำ เป็นแมงมุมขนาดเล็ก พบได้ในหลายประเทศ แต่มีชุกชุมมากในทวีปอเมริกาใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปออสเตรเลีย ชื่อของแมงมุมชนิดนี้สื่อถึงพฤติกรรมที่แมงมุมตัวเมียมักจะกินแมงมุมตัวผู้หลังจากผสมพันธุ์ แมงมุมแม่ม่ายดำจะมีความยาวประมาณ ขนาดครึ่งถึงหนึ่งนิ้ว มีสีดำตัวกลม ที่ท้องจะมีลายเป็นรูปนาฬิกาทรายสีแดง ส่วนตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียประมาณ  20  เท่าและมีสีน้ำตาล ไม่พบลักษณะนาฬิกาทรายที่ท้องของตัวผู้

                ดร. นพ.เวสารัช  กล่าวว่า  แมงมุมแม่มายดำชอบอยู่ในที่อับแสง แห้ง ไม่มีลม เช่น ตามรั้ว หรือในกองใบไม้ ชอบออกหากินกลางคืนเฉพาะแมงมุมตัวเมียเท่านั้นที่สามารถกัดมนุษย์ได้ เนื่องจากตัวผู้ตัวเล็กและกรามไม่แข็งแรงพอ พิษของแมงมุมแม่ม่ายดำจะออกฤทธิ์กับระบบประสาท มีความรุนแรงกว่าพิษงูส่วนใหญ่  มักเริ่มแสดงอาการหลังถูกกัดประมาณ 20 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง บริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีอาการแดงเพียงเล็กน้อย แต่อาการปวดเฉพาะที่จะตามมาด้วยตะคริวรุนแรงที่อาจเป็นทั่วตัว ปวดท้อง อ่อนแรง  มือสั่น ปวดกล้ามเนื้อใหญ่ ๆ อย่างรุนแรง เช่น บริเวณหลังหรือไหล่  ถ้ามีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดคลื่นไส้ อาเจียน มึนศีรษะ เป็นลม เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก มีความดันโลหิตสูงขึ้น  อาการรุนแรงมักพบในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ อาการปวดบริเวณท้องอาจคล้ายคลึงกับอาการไส้ติ่งอักเสบ หรือการปวดจากนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดตันทางเดินน้ำดี  อาการปวดหน้าอกอาจคล้ายคลึงกับอาการหัวใจขาดเลือดได้ การรักษาหากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย อาจใช้การประคบน้ำอุ่นร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด บริเวณผิวหนังที่ถูกกัดจะไม่มีเนื้อตาย  หากมีอาการรุนแรง ควรไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เนื่องจากส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดยาแก้ปวดที่เป็นอนุพันธ์ของมอร์ฟีน ปัจจุบันยังไม่มียาต้านฤทธิ์ของพิษแมงมุมแม่ม่ายดำในประเทศไทย

                สำหรับ แมงมุมพิษชนิดที่ 2  เรียกว่า  แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล  ซึ่งมีคนเรียกชื่อผิดว่า แมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลนั้น  เป็นแมงมุมพิษที่พบได้ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ มีขนาดเล็กประมาณ 6-20 มิลลิเมตร แต่อาจมีขนาดโตกว่านี้ได้  สีน้ำตาลอ่อน  ลักษณะเด่นคือด้านหลังของแมงมุมตรงช่วงศีรษะถึงอก (cephalothorax) จะมีลายสีออกดำรูปคล้ายไวโอลิน แมงมุมชนิดนี้ชอบอยู่ในที่มืด แห้ง และสงบ เช่นเดียวกับแมงมุมแม่หม้ายดำ และจะออกจากที่อยู่อาศัยเพื่อล่าสัตว์อื่นในเวลากลางคืน

                 แมงมุมชนิดนี้มีพิษต่อระบบเลือด พิษ จะกระจายไปทั่วร่างกายในเวลาเป็นนาที ทำให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะหลาย ๆ ส่วน โดยมีอาการแสดงทำให้เกิดเม็ดโลหิตแดงแตก เกร็ดเลือดต่ำ มีการแข็งตัวของเกร็ดเลือดกระจายทั่วร่างกาย (disseminated intravascular coagulation) อันตรายต่ออวัยวะภายในอื่น ๆ ที่อาจพบ   ได้แก่  เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไข้ ผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ อันตรายรุนแรงมักเกิดในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และภูมิคุ้มกันอ่อนแอ  โดยผู้ที่ถูกกัดและเสียชีวิตมักเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อถูกกัดมักจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่มักเริ่มมีอาการปวดและคันบริเวณที่ถูกกัดหลัง 2 - 8 ชั่วโมง เกิดเป็นตุ่มน้ำพอง  อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดตายได้ถึงร้อยละ 37  เกิดเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ได้ถึง 10 นิ้ว