
เงินทองต้องรู้ : แม่ไก่
15 ส.ค. 2557
เงินทองต้องรู้ : แม่ไก่ : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]
สำหรับคนที่อายุ 40 ขึ้นไป คงรู้จัก “ไก่" นิภาวรรณ ทวีพรสวรรค์ ในฐานะของนักร้องวง 18 กะรัต ที่โด่งดังในอดีต ส่วนคนที่อายุ 30 ขึ้นไป ก็คงจะจดจำเธอได้ในบท “แม่ของน้อยหน่า” ที่รับบทโดยสาวน้อย “โฟกัส จีระกุล” ในหนังทำเงินตลอดกาลอย่าง “แฟนฉัน”
และวัยรุ่นไทยทั่วประเทศ ก็คงจะคุ้นเคยกับผู้หญิงคนนี้ในบทบาท “แม่ของเต้ย” ที่รับบทโดย “ปันปัน" สุทัตตา อุดมศิลป์ ในซีรีส์ร้อนแรงอย่าง “ฮอร์โมน” และ “ฮอร์โมน ซีซั่น 2”
วันนี้ “ไก่" นิภาวรรณ ยังมีผลงานการแสดงประปราย ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ นั่นคือ การทำขนมอบหลากหลายชนิด ภายใต้แบรนด์ “ทวินส์ มัม” (Twin’s Mom) ที่ไม่มีหน้าร้าน แต่ใช้วิธี “ทำตามสั่ง” ผ่านเฟซบุ๊ก รวมถึงการทำหน้าที่เป็น “แม่ไก่” ของลูกสาวฝาแฝด “น้องเดียร์ และน้องดิว”
ความสัมพันธ์ในฐานะ “เพื่อน” ที่รู้จักกันมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 1 อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สนใจชีวิตของผู้หญิงคนนี้ แต่ที่มากกว่านั้น ก็คือ ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิต โดยเฉพาะในเส้นทางสายอาชีพ ที่ “ไก่" นิภาวรรณ ทำงานหาเงินในวงการบันเทิงได้ตั้งแต่อายุ 15 จนถึงวันที่เธอเรียนจบ มุ่งหางานประจำ ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ ก่อนจะตัดสินใจผันตัวเองสู่การเป็นนายจ้างตัวเอง ที่มีทั้งทุกข์และสุข มีทั้งการได้มาและเสียไป ประสบการณ์เหล่านี้ต่างหากที่เป็นตัวเร่งเร้าให้เรื่องราวของเธอสมควรถูกถ่ายทอดและแบ่งปัน
“ทำงานหาเงินได้ครั้งแรกเลย ก็ตอนอายุ 15 ตอนนั้นเป็นนักร้อง งานเยอะ รายได้เยอะ แต่ก็ใช้เยอะ ตามประสาวัยรุ่น เพราะเราไม่ได้มีภาระอะไร ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร รับงานครั้งหนึ่งก็แบ่งให้ย่าส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือเราก็เอามาใช้จ่าย ไม่ได้คิดจริงๆ ว่า เราจะต้องเก็บหรือต้องกันเงินไว้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้รบกวนที่บ้าน เราดูแลตัวเองได้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ก็ส่งเสียตัวเองเรียนจนจบที่กรุงเทพการบัญชี”
เธอบอกว่า ช่วงอายุ 15-18 เป็นช่วงที่มีงานเข้ามาหนาแน่นที่สุด แต่สิ่งที่เสียไปในช่วงเวลานั้น ก็คือ การใช้ชีวิตแบบเด็กวัยรุ่นทั่วไป
“เด็กวัยรุ่นคนอื่นคงได้เที่ยวกับเพื่อน ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก แต่เราทำงานด้วย เรียนด้วย แล้วค่านิยมตอนนั้น ผู้ใหญ่ก็มักจะย้ำเสมอว่า อาชีพเต้นกินรำกินไม่มีอะไรดี มีแต่จะทำให้เด็กเสียผู้เสียคน เราก็ยิ่งต้องเรียนให้ดี ซึ่งเกรดออกมาก็น่าพอใจ ถือว่าเรียนดีทีเดียว (หัวเราะ) อย่างน้อยก็จะได้ไม่มีใครมาว่าได้ว่าทำงานแล้วกระทบการเรียน”
จนเมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ชีวิตของเธอก็เดินสู่จุดของการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
“จริงๆ ตอนนั้นก็ยังมีงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานละครเย็น ที่เป็นละครยาวมากๆ ยาวเป็นร้อยตอน แต่เพราะเรียนหนักขึ้น แล้วก็เรียนยาก และเราอยากจริงจังกับเรื่องเรียน อยากเรียนให้จบ ก็เลยเริ่มรับงานน้อยลง อีกอย่าง ก็ต้องยอมรับว่า งานบันเทิงต้องเข้าหาคน ให้เขาเห็นหน้าเห็นตา เวลามีงานจะได้นึกถึง แต่เราก็ไม่ถนัดจะเข้าหาใครอีก งานก็เลยน้อยลง จนกระทั่งไม่ได้รับงานเลย แต่ถึงไม่มีรายได้จากงานบันเทิงแล้ว ก็ยังใช้จ่ายเหมือนเดิมอยู่นะ”
พอคุยถึงตรงนี้ “นิภาวรรณ” ยอมรับว่า เป็นคน “ใช้เงินเก่ง” อาจจะเป็นเพราะหาเงินเองได้ตั้งแต่เด็ก ดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง และยิ่งเมื่อไม่มีภาระ ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีหนี้สิน เธอก็ยิ่งรู้สึกว่าเธอสามารถใช้จ่ายได้ตามที่ตัวเองต้องการ แม้ว่าเธอจะทำงานประจำ เป็นมนุษย์เงินเดือนก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเธอแต่งงานและมีลูกสาวฝาแฝด เพราะในฐานะของคนที่เป็น “แม่” เธอย่อมนึกถึงอนาคต และความมั่นคงของลูกมากกว่าตัวเอง
“เราไม่อยากเรียกว่า ภาระเพิ่มขึ้น เพราะลูกไม่ใช่ภาระ ลูกเป็นทุกอย่างของเรา เป็นความรัก เป็นความสุข แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ลูกเป็นความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น เราจะใช้ชีวิตเหมือนเดิม อยากได้อะไรต้องได้ อยากซื้ออะไรต้องซื้อ ไม่ต้องคิดทบทวนมากไม่ได้อีกแล้ว เพราะอย่างน้อย ความต้องการและความจำเป็นของลูกก็ต้องมาก่อนเสมอ”
เมื่อความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น “นิภาวรรณ” เริ่มคิดขยับขยาย จากพนักงานบริษัทเอกชน เธอตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจโลจิสติกส์ โดยใช้คอนเนกชั่น หรือความสัมพันธ์กับคนรู้จักที่ช่วยส่งงานให้ ซึ่งในช่วงแรก เธอบอกว่า ต้องเรียกว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย
“ตอนนั้นประสบความสำเร็จมาก เพราะจริงๆ ก่อนตัดสินใจทำธุรกิจเองนี่ แน่นอนว่าเราต้องมีความรู้ในธุรกิจนั้นก่อน ซึ่งเราก็มี จากงานประจำที่สั่งสมมา ทำให้เรารู้จักธุรกิจดี เรามีคอนเนกชั่น มีเงินทุน มีความพร้อมมาก พอทุกอย่างมันครบ งานมันก็เวิร์ก จับตรงไหนก็เป็นเงินไปหมด แต่ปัญหามันอยู่ที่ ‘เราไม่พอ’ พอได้มาก แล้วเราก็โลภ อยากขยายเพิ่ม แล้วก็ผลีผลามขยายไปในธุรกิจที่เราไม่คุ้นเคย รู้จักมันไม่ดีพอ สุดท้ายตรงนี้เริ่มขาดทุน เราต้องดึงส่วนที่มีกำไรมาโปะ พอมันเริ่มไม่สมดุล เราก็ต้องหาเงินจากที่อื่นมาโปะ กลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อน เพราะเริ่มมีหนี้สิน มีภาระหลายอย่าง จนในที่สุดก็ต้องยอมเลิกกิจการไป”
เมื่อให้เธอลองมองย้อนถึง “ปัญหา” และ “บทเรียน” ในครั้งนั้น เธอบอกสั้นๆ แค่ว่า เพราะความโลภ ทำให้เรามองไม่รอบ มองเห็นแต่ “ได้” แต่ไม่มองทาง “เสีย”
“ถ้าวันนั้น เราไม่อยากได้เพิ่ม ไม่อยากได้อีก พอแล้วกับสิ่งที่ทำ หรือทำให้มันแข็งแรงก่อน แล้วค่อยศึกษาเพิ่ม ไม่ผลีผลาม รีบตัดสินใจ คงไม่ผิดพลาดมากมายแบบนี้”
แต่ประโยคหนึ่งระหว่างการสนทนาที่ไม่อาจปล่อยให้ผ่านไป ก็คือ เธอไม่ได้เสียใจหรือเสียดายที่ลาออกจากงานประจำ เพื่อเสี่ยงทำธุรกิจส่วนตัว เพราะ “เราต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งอะไรบางอย่าง” ถ้าวันนั้น เราไม่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ วันนี้เราอาจจะซื้อบ้านอย่างที่เราฝันไม่ได้ เพราะรายได้ของมนุษย์เงินเดือน มันตอบโจทย์ความต้องการหรือความฝันไม่ได้ทั้งหมด ความกล้าในการที่จะลงมือทำเพื่อสานฝันให้ตัวเอง จึงเป็นความท้าทายที่ไม่น่าเสียดายหรือเสียใจ เพียงแต่นอกจากจะพร้อมแล้ว ต้องไม่ลืมมองให้รอบด้าน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผิดพลาด
จนถึงวันนี้ “แม่ไก่” ก็ถ่ายทอดให้ลูกสาวทั้งสองคนตระหนักถึงคุณค่าของ “เงิน” เท่าที่จะทำได้ แม้ว่าทั้งสองสาวจะมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันก็ตาม
“น้องเดียร์ (แฝดผู้พี่) จะประหยัดกว่า คล้ายๆ พ่อ (หัวเราะ) ส่วนน้องดิว (แฝดผู้น้อง) คนนี้เหมือนแม่”
เมื่อถามคำถามปิดท้ายถึงซีรีส์ร้อนแรงที่สะท้อนปัญหาวัยรุ่นอย่าง “ฮอร์โมน” และ “ฮอร์โมน ซีซั่น 2” ที่เธอร่วมแสดงด้วยทั้ง 2 ภาค เจ้าตัวบอกแค่ว่า เวลาลูกดู ก็บอกให้ลูกแยกแยะว่าอะไรควรหรือไม่ควร อะไรถูกหรือผิด เพราะเชื่อว่าลูกโตพอจะแยกแยะได้แล้ว และเชื่อว่าเหตุการณ์บางอย่างอาจจะใกล้ตัว แต่บางอย่าง เราก็อาจจะไม่มีโอกาสสัมผัสเลย
สำหรับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ “แม่ไก่” ฝากบอกแค่ว่า ดีที่สุดก็คือ เราควรให้ลูกรู้สึกว่า เราเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุดของเขา เพราะนั่นแปลว่า ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็จะแก้ไขไปด้วยกัน
--------------------------
(เงินทองต้องรู้ : แม่ไก่ : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected])