ข่าว

ภารกิจ...ชีวิต'กู้ภัย'ตึกถล่ม

ภารกิจ...ชีวิต'กู้ภัย'ตึกถล่ม

16 ส.ค. 2557

ภารกิจ...ชีวิต'กู้ภัย'ตึกถล่ม : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

               ระยะเวลา 4 วันเต็ม กับภารกิจการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและค้นหาร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อาคารคอนโดมิเนียม ความสูง 6 ชั้น ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนเลียบคลองหก จ.ปทุมธานี ทรุดตัวและถล่มลงขณะกำลังก่อสร้าง เมื่อช่วงเย็นวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ยังผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. วันที่ 14 สิงหาคม ได้ค้นหาพบผู้สูญหายรายสุดท้ายที่ญาติได้แจ้งไว้ได้สำเร็จ และเจ้าหน้าที่ทีมกู้ภัยก็ได้ยุติการค้นหาในทันที                     
 
               ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 14 คน และผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจนออกมาจากซากตึกได้สำเร็จ และอีกหนึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือออกมาอย่างสุดความสามารถ แม้จะสิ้นใจในภายหลังก็ตาม การปฏิบัติภารกิจอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ด้วยความหวังที่รออยู่ข้างหน้าว่าจะมีเพื่อนมนุษย์เหลือรอดจากโศกนาฏกรรม แม้เพียงลมหายใจเดียว พวกเขาหน่วยกู้ภัยก็ไม่เคยย่อท้อยอมศิโรราบให้แก่เคราะห์กรรม
 
               หลังรับแจ้งหลังเกิดเหตุไม่นาน "อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ" หรือในนามเรียก "นคร 45" รองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิร่วมกตัญญู เริ่มต้นภารกิจของเขาด้วยการประเมินสถานการณ์ก่อนจะตัดสินใจและส่งหน่วยกู้ภัยพร้อมและนำอุปกรณ์กู้ชีพเข้าสนับสนุนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะรู้ดีว่า ทุกๆ วินาทีที่ผ่านพ้นหมายถึงหลายชีวิตใต้ซากตึก  
 
               ทันทีที่ถึงจุดเกิดเหตุ ทีมงานของร่วมกตัญญูแบ่งโซนอาคารเป็นโซน เอ บี ซี ดี และแยกเจ้าหน้าที่ออกเป็น 3 ชุดในการค้นหาผู้รอดชีวิตและบาดเจ็บ ใช้เวลาในการค้นหาครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมง
 
               อุปกรณ์ที่มูลนิธินำมาใช้งานประกอบไปด้วย เครื่องขุดเจาะขนาดเล็ก เครื่องตัดถ่าง กล้องค้นหาเพื่อส่องหาผู้รอดชีวิต และผู้บาดเจ็บตามใต้อาคาร อุปกรณ์ค้ำยัน เมื่อเวลาผ่านพ้นไปนานพอสมควร หรือเกินเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งทางการแพทย์วิเคราะห์ว่า ถ้าผู้ประสบภัยยังไม่ได้รับน้ำ จะเกิดอาการช็อก นั่นจึงมาถึงขั้นตอนที่พวกเขาตัดสินใจใช้เครื่องมือหนัก อย่างรถแบ็กโฮเข้าค้นหาร่างของแรงงานตามที่ญาติได้แจ้งไว้
 
               "เชษฐา กำพูชา" หรือที่เรียกกันในหมู่คนงานว่า "พี่เชษ" คือเป้าหมายสำคัญ ตามที่หน่วยกู้ภัยได้รับแจ้งว่าติดอยู่บริเวณโซนบี มาเป็นเวลา 19 ชั่วโมงในเช้าวันวันรุ่งขึ้น "เชษฐา" ถูกอาคารทั้ง 6 ชั้นทับร่างเอาไว้ ตั้งแต่สะโพกลงไปจนถึงปลายเท้า นับแต่วินาทีแรกที่ตึกพังลงมา จนถึง 07.00 น. ของอีกวัน
 
               อุปสรรคคือโครงสร้างมีขนาดใหญ่ เรามีเครื่องมือหนักตั้งแต่วันแรก เพราะการรื้อโครงการหลักๆ จะเป็นอันตรายต่อผู้บาดเจ็บที่ติดอยู่ด้านใน ก่อนภรรยาของเขาจะเดินทางมาถึง ผมก็ถามว่าจะให้เขามาตรงนี้หรือไม่ แต่เขาบอกไม่เป็นไร เดี๋ยวออกไปหาด้วยตัวเอง "เขาก็ยื่นมือมาบีบมือผมแรงๆ เราก็คิดว่าเขายังสู้ จนถึง 09.00 น. จากสัญชาตญาณของเราที่การช่วยเหลือคนมานานคิดว่าไม่ดีแล้ว จนเกือบ 09.40 น. เขาก็สิ้นใจต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่พยายามช่วยเหลือเขาอยู่ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ได้พยายามที่นำจะเอาร่างเชษออกมาให้ได้ ไม่ว่าจะมีลมหายใจหรือไม่มีลมหายใจ"

               อัญวุฒิเล่าว่า ระหว่างการทำงาน มีข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างเจ้าหน้าที่กู้ภัยกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย 
 
               "เราจะพูดกันทุกครั้ง ทุกครั้งที่เราไปขุดเจาะ พี่เชษจะกลัวเราจะหยุดช่วย แม้จะมีความยากลำบากแต่เราก็ไม่ท้อ ถึงแม้ว่าตอนขุดเจาะจะมีเศษปูนกระเด็น เราก็บอกว่าเอาผ้าไปปิดหน้าลุงเชษหน่อย ถ้าปิดแล้ว กลัวเราจะหนีเขาไป เขาบอกว่าให้เจาะไปเลย เขาจะดูการทำงานของพวกเรา เราอยู่ด้วยกันมา 19 ชั่วโมง ก็ต้องตะโกนให้กำลังใจว่า พี่เชษสู้ๆ นะ พวกเรายังไม่ได้นอนเหมือนกัน พี่เชษสัญญาว่าเราจะสู้ไปด้วยกัน"
 
               แต่ก็สุดความสามารถของทีมกู้ภัย เพราะพวกเขาไม่สามารถยื้อชีวิตของพี่เชษเอาไว้ได้ อัญวุฒิเปิดใจว่า "พอเขาเสียชีวิตวินาทีนั้น ผมก็มีความรู้สึกเหมือนหมดกำลังใจเหมือนกัน"
 
               โครงสร้างอาคารขนาดใหญ่เป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้หน่วยกู้ภัยไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที แต่กระนั้น เมื่อเวลาผ่านพ้นไปนานพอสมควร พวกเขาย่อมทราบกันดีว่า "สัญญาณชีพตามจุดต่างๆ" ที่ขาดหายไปหมดแล้วนั้น คือสัญญาณบอกพวกเขาเช่นกันว่า ได้เวลาต้องใช้เครื่องมือหนักอย่างรถแบ็กโฮในการค้นหา
 
               วันที่ 14 สิงหาคม ทีมกู้ภัยค่อยๆ พบศพ จนกระทั่งเวลา 23.30 น. ก็ได้พบศพสุดท้าย ท่ามกลางญาติที่มาเฝ้าดูการค้นหา
    
               “เรารู้ว่านาทีต่อนาที ที่อยากให้ได้เขาออกมา ถึงแม้ว่าโอกาสรอดแทบจะไม่มีอยู่แล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่เจอหน้าหรือเจอตัวก็ต้องหาให้พบ ไม่ว่าจะออกมาแบบมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ทางญาติก็อยากพบคนของตัวเองกันอยู่ อยากจะฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติแบบนี้โดยตรง ขอให้บทเรียนครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพง ที่จะเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดกับที่ใดๆ อีก” รองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู สะท้อนปัญหาผ่านบทเรียนราคาแพงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของนักกู้ภัย
 
               ไม่ต่างจาก "นภัทร กลมเกลี้ยง" เจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัย มูลนิธิร่วมกตัญญู ที่บอกหลังพบศพสุดท้าย ซึ่งเท่ากับภารกิจการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ผู้รอดชีวิตสิ้นสุดลงตลอดระยะเวลา 4 วัน
 
               "สำหรับบางรายที่เราช่วยไม่ได้ เรารู้สึกเสียใจ เพราะเราทุกคนได้ทุ่มเททุกอย่าง ทั้งแพทย์ แต่มันสุดความสามารถจริงๆ เรามีทุกอย่างเราลงไปช่วย เครื่องมือทุกอย่างทุกหน่วยงานรวมเป็นหนึ่งเดียว แต่เราช่วยเขาไม่ได้ ก็รู้สึกเสียใจ แต่ท้ายที่สุดก็ดีใจที่เราหาเขาพบและส่งเขากลับบ้านได้ ถือว่าภารกิจของเราลุล่วง แม้จะไม่สามารถช่วยชีวิตพวกเขาเหล่านั้นได้ทั้งหมดก็ตาม"

---------------------------
    
(หมายเหตุ : ภารกิจ...ชีวิต'กู้ภัย'ตึกถล่ม : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)