ข่าว

ทำอย่างไร เมื่อเหมียวหยุดหายใจ

ทำอย่างไร เมื่อเหมียวหยุดหายใจ

24 ส.ค. 2557

พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง : ทำอย่างไร เมื่อเหมียวหยุดหายใจ : โดย ... รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร

 
                         ท่านที่เลี้ยงแมวบางรายอาจเคยประสบเหตุการณ์น่าระทึกใจ เช่น แมวตกน้ำ แมวถูกไฟฟ้าดูด หรือแมวถูกรถชน ฯลฯ ความผิดปกติรุนแรงจนอาจถึงตายได้ และท่านสังเกตเห็นง่ายที่สุดคือ "การหายใจ" แมวหายใจแผ่วเบาหรือหยุดหายใจแน่นิ่งไปก็มี ทีนี้แหละจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างไร?
 
                         ผมว่าท่านควรตั้งสติไม่ตื่นตระหนก แล้วปฏิบัติตามขั้นตอนช่วยหายใจดังนี้
 
                         1.ตรวจดูว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอุดตันคาอยู่ในปาก หรือจมูกของเจ้าเหมียวหรือเปล่า เช่น เศษอาหาร น้ำมูก ฯลฯ หากพบว่ามีให้กำจัดออกด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง คือ ยกขาหลังของเจ้าเหมียวขึ้นในท่าห้อยหัวลงแล้วสั่นแรงๆ 5-6 ครั้ง หรือจัดท่าให้เขานอนตะแคงบนพื้นราบแล้วใช้ปากคีบหนีบหรือคีบหรือเขี่ยสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ ออกไป
 
                         2.จัดท่าแมวให้นอนตะแคงเอาด้านขวาลง พร้อมกับดันหัวให้หงายไปด้านหลัง และจับปากให้หุบ
 
                         3.หาผ้า เช่น ผ้าเช็ดหน้าคลุมบริเวณจมูกของเจ้าเหมียว (ขอให้เป็นผ้าที่บาง เพื่อให้ลมผ่านเข้าได้)
 
                         4.เริ่มปฏิบัติการช่วยหายใจด้วยวิธี "ปากต่อจมูก" (ผิดกับคนนะครับ ที่ปากต่อปาก) โดยบรรจงประกบปากลงบนผ้าที่คลุมรูจมูกเจ้าเหมียวพร้อมกับเป่าลมหายใจสั้นๆ เข้าไป 5-6 ครั้ง หากเป็นลูกแมวปอดยังเล็กก็ให้เป่าเบาลง ในขั้นตอนนี้ปากแมวต้องหุบสนิทเสมอ
 
                         5.ถ้าเจ้าเหมียวเริ่มหายใจได้เองก็หยุดการช่วยเหลือ แต่ยังคงต้องคอยสังเกตอาการก่อนส่งหมอเหมียว
 
                         6.หากแมวยังไม่สามารถหายใจได้ให้ช่วยหายใจด้วย "ปากต่อจมูก" ในอัตรา 1 ครั้งต่อทุก 2-3 วินาที หรือ 20-30 ครั้งต่อนาที (ระวังผู้ปฏิบัติจะหมดลมตามแมวไปด้วยนะครับ)
 
                         7.ช่วยหายใจจนกว่าแมวจะหายใจได้เอง แล้วจึงเฝ้าต่อไป
 
                         8.ถ้าช่วยเป่าจมูกอยู่เกินกว่า 10 นาที แมวยังไม่สามารถหายใจได้เอง สังเกตดูเหงือกและลิ้นเป็นสีน้ำเงินหรือเขียว ม่านตาขยายเบิกโพลง ไม่มีการกะพริบตาเมื่อถูกกระตุ้นเปลือกตา นั่นหมายถึงว่าแมวตัวนั้นจบชีวิตแล้ว ให้หยุดการช่วยหายใจ
 
 
คำเตือน
 
                         วิธีการช่วยหายใจโดยการใช้ปากเป่าจมูกแมวนั้น ควรใช้กับแมวที่รู้จักประวัติ มีการฉีดวัคซีนครบถ้วน ไม่ควรนำไปปฏิบัติกับแมวที่ไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน เพราะท่านอาจได้รับเชื้อโรคต่างๆ เข้าไปได้ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ฯลฯ
 
                         หวังว่าคงช่วยชีวิตเจ้าเหมียวไว้ได้บ้างนะครับ!
 
 
 
 
 
---------------------------
 
(พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง : ทำอย่างไร เมื่อเหมียวหยุดหายใจ : โดย ... รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร)