ข่าว

สิ้น'ถวัลย์ ดัชนี'ศิลปินแห่งชาติ

สิ้น'ถวัลย์ ดัชนี'ศิลปินแห่งชาติ

03 ก.ย. 2557

สิ้น! ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ศิลปินแห่งชาติ ด้วยวัย 74 ปี จากโรคตับวาย ตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดเทพศิรินทราวาส ด้านลูกชายโพสต์ข้อความสุดซึ้งผ่านเฟซบุ๊กอาลัยรักครั้งสุดท้าย


                  3 ก.ย.57 นับเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ต่อวงการศิลปะของไทย เมื่อ นายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2544 ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคตับวาย  เมื่อวันที่ 3 ก.ย. เวลา 02.15 น. นายถวัลย์ได้สิ้นลมอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ต่อมาเวลา 03.00 น. นายดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายคนเดียวของ นายถวัลย์ ดัชนี  ได้โพสต์ภาพ มือข้างขวาใส่สายน้ำเกลือ โดยมีมืออีกข้างหนึ่งกุมประสานกันไว้ พร้อมเขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
 
                  "พ่อไม่ต้องกังวล เพราะพ่อจะไม่ไปไหนพ่อจากไปแต่เพียงร่างกาย แต่ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้จะเป็นอมตะตลอดกาล พ่อคือผู้สร้างและลูกคือผู้รักษาหลับให้สบายนะพ่อ เลือดของพ่อยังไหลเวียนในกายลูกเสมอและเราจะพบกัน...รักพ่อสุดหัวใจ กราบเท้าพ่อเป็นครั้งสุดท้าย"
 
                  จากนั้นในช่วงเช้าของวันที่ 3 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อย่างเป็นทางการ ว่า ตนได้ทราบข่าวจาก นายดอยธิเบศร์ ว่า นายถวัลย์ ได้ถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 เวลาประมาณ  02.15 น. ด้วยโรคตับวาย ที่ โรงพยาบาลรามคำแหง สิริรวมอายุ 74 ปี 11 เดือน โดยก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต อาจารย์ถวัลย์ มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และความดัน ตั้งแต่ปี 2555 และยังได้เข้ารับการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ต่อมาเมื่อต้นปี 2557 ก็ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างจริงจัง  ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน2557 จนกระทั่งพบว่าเชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ตับและปอด และมีอาการตับวายในที่สุด จากนั้นอาการทรุดหนักจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
 
                  อธิบดี สวธ. กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ตนได้สัมผัสตัวตนของ อาจารย์ถวัลย์  เห็นได้ถึงความเป็นผู้มีจิตใจที่ดีงาม ท่านอุทิศทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ และความรักในงานศิลปะ ขณะเดียวกัน ท่านยังเป็นผู้ผลักดันงานศิลปะของประเทศไทยให้ก้าวหน้าและก้าวไกล ในเวทีนานาชาติ  เพื่อให้ศิลปินไทยได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานออกไปสู่สายตาชาวต่างชาติ ทั้งนี้ หนึ่งในความฝันของท่าน คือการได้มีโอกาสไปแสดงผลงานศิลปะ ในเทศกาลศิลปะนานาชาติ เวนิสเบียนเนเล่ ซึ่งตน และ อ.ถวัลย์ ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาและสำรวจสถานที่จัดงานมาแล้ว เมื่อปี 2556  แต่เมื่อท่านจากไปก่อน ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
 
                  “ในการนี้ สวธ. มีเงินสวัสดิการสำหรับศิลปินแห่งชาติที่เสียชีวิต เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินในการสนับสนุนการจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาทด้วย สำหรับกำหนดการนั้น จะมีการเคลื่อนศพออกจากโรงพยาบาลรามคำแหง ไปตั้งบำเพ็ญกุศล ยังศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร วันที่ 4 กันยายน เวลา 09.30 น. จากนั้น มีกำหนดจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลา 13.00 น. และมีกำหนดจัดพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ในระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน เวลา 19.00 น. จากนั้นจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 11 กันยายน เวลา 17.00 น. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร” นายชาย กล่าว
 
                  นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของศิลปินแห่งชาติ ผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะไทย อาจารย์ถวัลย์ ได้สร้างสรรค์มรดกอันคุณค่าทางงานศิลปะที่มีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมไทย ไว้ที่ บ้านดำ นางแล จ.เชียงราย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะ ที่สำคัญผลงานของท่านมีความเป็นเอกลักษณ์ ที่มีความเป็นสุดยอดทางด้านศิลปะ ซึ่งหาผู้เปรียบเทียบได้ยากมาก ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรมจะร่วมอนุรักษ์ และสืบสานผลงานของท่านไว้ เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เรียนรู้ต่อไป
 
                  ขณะที่ นายกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ได้ทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่ถวัลย์มาอย่างยาวนาน ได้สัมผัสชีวิต และเผชิญกับสิ่งที่ดีๆ มาด้วยกันทำให้เห็นว่า เราจะหาศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่มีจิตสาธารณะเช่นเดียวกับพี่ถวัลย์ได้ยาก ท่านเป็นซุปเปอร์สตาร์ เป็นแบบอย่างของศิลปินที่ประสบความสำเร็จ แล้ว ยังรู้จักที่จะแบ่งบันความรู้ ความคิด และความใส่ใจสู่ผู้อื่น ที่สำคัญ พี่ถวัลย์ เป็นคนรักบ้านเกิด รักแผ่นดิน สร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดีงาม ยอมเสียเวลาอันมีค่า เพื่อเดินสายให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ โดยไม่เคยพร่ำบ่น ทั้งยังกลับกลายเป็นความภูมิใจที่ได้มีโอกาสสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ให้แก่แผ่นดินไทย
 
                  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีข่าวการเสียชีวิตของ นายถวัลย์ ได้มีการโพส ภาพ และข้อความผ่านเฟซบุ๊ค แสดงความเสียใจ ต่อการจากไปของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ทั้งจากศิลปินแห่งชาติ ทุกสาขา ศิลปิน นักร้อง รวมถึงลูกศิษย์ และผู้ที่เคยร่วมงานกับนายถวัลย์ตลอดทั้งวัน
 
                  ประวัติ นายถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2482 ที่จ.เชียงราย สมรสกับนางมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุ๊ค มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี ด้านการศึกษา สำเร็จปริญญาตรีบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสอนของ ศ.ศิลป์ พีระศรี สำเร็จปริญญาโท ด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง ปริญญาเอก ด้านอภิปรัชญา และสุนทรีย์ศาสตร์ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
 
                  สำหรับผลงานของ นายถวัลย์ ดัชนี ผู้ที่มีพุทธิปัญญาสามารถนำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างงานศิลปะไทยร่วมสมัย ที่ทรงพลัง ลุ่มลึกและแกร่งกร้าว มีเนื้อหาสาระ และท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทย ผสมผสานระหว่างแนวปรัชญาตะวันออกและตะวันตก เป็นผู้มีบทบาทยิ่งในการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยโดยมีผลงานแสดงเดี่ยว และกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศ และต่างประเทศแถบเอเชีย ยุโรปและอเมริกา จนสื่อมวลชนต่างประเทศสนใจชีวิต และงานของนายถวัลย์ ดัชนี จัดทำเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์เผยแพร่ไปทั่วโลกมากมาย ท่านเป็นจิตรกรคนแรกที่ได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟุคุโอกะ ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2544
 
                  นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี เพื่อสนับสนุนการศึกษาโดยศิลปะเฉพาะด้านทัศนศิลป์ รวมทั้ง ได้ใช้เวลานานกว่า 25 ปี สร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านในเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่บ้านดำ ต.นางแล จ.เชียงราย ด้วยคุณูปการต่อวงการศิลปะของชาติ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2544 ถวัลย์ ดัชนี โดยได้อุทิศตนถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์การสร้างสรรค์งานศิลปะแก่นักเรียน นักศึกษา ศิลปินรุ่นใหม่ นับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์ผลงาน ศิลปะให้ทรงคุณค่าเป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป