ข่าว

จับตา!‘สกอตแลนด์’ลงประชามติ

จับตา!‘สกอตแลนด์’ลงประชามติ

18 ก.ย. 2557

จับตา! ‘สกอตแลนด์’ ลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ คาดประชาชนออกไปใช้สิทธิ์มากสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 97 เปอร์เซ็นต์

 
                 18 ก.ย.57 ประชาชนในสกอตแลนด์ จะไปลงประชามติกันในวันนี้ว่า ยังจะอยู่กับสหราชอาณาจักรต่อไป หรือกลายเป็นประเทศเอกราช
 
                 ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงประชามติ จะต้องเลือกระหว่าง "เยส" กับ "โน" ในการตอบคำถามในบัตรลงประชามติที่ว่า "สกอตแลนด์ควรจะเป็นประเทศเอกราชหรือไม่" ซึ่งปัจจุบัน สกอตแลนด์มีประชากร 4 ล้าน 2 แสน 8 หมื่น 5 พัน 323 คน และ 97 เปอร์เซ็นต์ ไปลงทะเบียนใช้สิทธิ์ในการลงประชามติ ซึ่งจะทำให้คนออกไปใช้สิทธิ์สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
 
                 คูหาที่เปิดให้ใช้สิทธิ์ มีจำนวน 2,608 คูหาทั่วประเทศ ระหว่างเวลา 07.00 - 22.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่น และคาดว่าผลจะออกมาในวันศุกร์นี้ ขณะที่การนับคะแนนจะดำเนินการที่หน่วยนับคะแนน 32 แห่งในสกอตแลนด์ ซึ่งในจำนวนนี้ ได้รวมถึงผู้ที่แสดงความจำนงขอโหวตทางไปรษณีย์อีกจำนวน 789,024 คน ที่ถือว่าเป็นจำนวนการลงทะเบียนการใช้สิทธิ์ทางไปรษณีย์ครั้้งใหญ่ที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
 
                 หลังการโหวตเสร็จสมบูรณ์แล้ว หน่วยนับคะแนนแต่ละแห่งในพื้นที่ จะแจ้งผลให้กับแมรี่ พิเคธลีย์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่นับคะแนน ในเอดินเบอระ และเมื่อเธอเห็นชอบแล้ว ก็จะประกาศผล และเมื่อทราบผลจากทั้ง 32 เขตแล้ว พิเคธลีย์ ก็จะไปติดประกาศที่ รอยัล ไฮจ์แลนด์ เซ็นเตอร์ สถานที่ที่มีชื่อเสียงในด้านการเป็นศูนย์ประชุมและจัดนิทรรศการทั้งในร่มและกลางแจ้ง นอกเอดินเบอระ
 
                 พิทเคธลีย์ ระบุว่า เธอจะประกาศผลในช่วง "อาหารเช้า" ของวันศุกร์ ขณะที่คณะกรรมการจัดการลงประชามติ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ผลจะออกมาระหว่างเวลา 06.30-07.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยคาดเดาเอาจากการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักร ในปี 2553 และการประกาศผลการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฏรของสกอตแลนด์ ในปี 2554 ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณนี้เช่นกัน แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันว่า การประกาศผลอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ ท่ามกลางความคาดหมายว่า จะเป็นเวลาระหว่าง 03.00 ถึง 06.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่น
 
                 ด้วยเพราะความคาดหวังว่า จะมีคนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่นับคะแนนต้องวางมาตรการรองรับ เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดการเข้าคิวยาวที่ด้านนอกคูหาที่ใช้ในการลงประชามติ นอกจากนี้ ภูมิภาคที่ห่างไกลบางแห่ง ยังขึ้นชื่อเรื่องสภาพอากาศเลวร้ายที่อาจล่าช้าในการขนส่งหีบบัตรลงคะแนนไปยังศูนย์นับคะแนน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการประกาศผลคะแนนได้เช่นกัน ทางการได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์และเรือ ในการขนส่งหีบบัตรลงคะแนนไปยังศูนย์นับคะแนนในหลายพื้นที่ รวมทั้ง อาร์กิลล์ และบุ้ท คณะกรรมการจัดการลงประชามติของสกอตแลนด์ ระบุว่า จะอนุญาตให้มีการนับคะแนนใหม่ก็ต่อเมื่อตั้งอยู่บนพื้นฐานของความกังวล ไม่ใช่เพราะผลคะแนนสูสี
 
 
สเปนเตือนสกอตแลนด์แยกตัวเหมือนระเบิดที่จะทำลายเอกภาพของอียู
 
 
                 นานาชาติจับตาผลการลงประชามติในสกอตแลนด์ และสเปนที่มีความเสี่ยงว่าแคว้นกาตาลุนญาจะขอแยกตัวเป็นเอกราช เตือนว่า การแยกตัวของสกอตแลนด์อาจเป็นเหมือนระเบิดทำลายความเป็นปึกแผ่นของสหภาพยุโรปหรีออียูได้
 
                 นายกรัฐมนตรีมาเรียนโน่ ราคอย ของสเปน กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธว่า ทุกคนในยุโรปไม่เห็นด้วยกับหากสกอตแลนด์จะแยกตัวจากสหราชอาณาจักร เพราะการแยกตัวของสกอตแลดน์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การจ้างงานและสวัสดิการของประชาชนทุกคนในสหภาพยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงิน หนี้สาธารณะ เศรษฐกิจถดถอย และความยากจน และการแยกตัวของสกอตแลนด์อาจเป็นเหมือนระเบิดตอร์ปิโดที่จะสร้างความแตกแยกในยุโรป เพราะที่ผ่านมายุโรปสร้างขึ้นจากการรวมชาติของชาติต่างๆ ไม่ใช่การแบ่งแยก
 
                 ขณะที่มีรายงานว่านักดับเพลิงกลุ่มหนึ่งจากแคว้นกาตาลุนญาขับรถเป็นระยะทาง 2,000 กม.ไปถึงเมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์เมื่อวันพุธเพื่อร่วมรณรงค์สนับสนุนการโหวต เยส เพื่อสนับสนุนการแยกตัว และบอกให้โลกรู้ว่า พวกเขาต้องการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชเช่นกัน
 
                 หลายฝ่ายวิตกว่าหากสกอตแลนด์แยกตัวออกไป จะทำให้อิทธิพลของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโรปลดลงไปด้วย โดยจะทำให้มีประชากรลดลงเป็นอันดับ 4 ของยุโรป ซึ่งจะส่งผลให้มีสัดส่วนที่นั่งในรัฐสภายุโรปลดลง และอำนาจการตัดสินใจในอียูลดลงด้วย ขณะเดียวกันหากสกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราช ก็จะทำให้ต้องพ้นจากอียูไป ซึ่งจะทำให้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่เคยได้รับหมดไปด้วย และหากสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ จะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาอีกยาวนานและอาจเผชิญการคัดค้านจากชาติสมาชิกอื่นๆ
 
                 ส่วนประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐ โพสในทวิตเตอร์เมือ่วานระบุว่า สหราชอาณาจักรเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสหรัฐ และเป็นกำลังสำคัญต่อโลกที่ผันผวน และหวังว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงเข้มแข็ง แข็งแกร่งและเป็นปึกแผ่น
 
                 แม้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีพยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้แสดงความเห็นต่อการตัดสินใจของสกอตแลนด์ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล แสดงความกังวลว่าการแยกตัวเอกราชอาจทำให้เกิดกระแสแบ่งแยกดินแดนในประเทศอื่นๆของ อียู เช่น สเปน และรัฐบาลเยอรมนียังไม่ได้เตรียมแผนการใดๆรองรับผลประชามติของสกอตแลนด์
 
 
 
 
----------------------------------
 
 
(ภาพ : AFP)